ยกเครื่อง รสก....บทเรียน บทด.?

กระทู้ข่าว
เห็นคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ตีปี๊บแผนแม่บทยกเครื่องรัฐวิสาหกิจที่นัยว่ายังขาดประสิทธิภาพ โดยช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2546 – 2556 รัฐวิสาหกิจทั้งระบบ 56 แห่งที่เคยมีรายได้รวมกัน 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5 เท่า สินทรัพย์จาก 4.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 11.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว แซงหน้าผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ

แต่เมื่อวัดในแง่ของประสิทธิภาพ รัฐวิสาหกิจทั้งหมดใช้สินทรัพย์ที่มีรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท สร้างกำไรได้เพียงแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ถึง 1% ของสินทรัพย์ที่มีชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ รสก.ได้เป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องยกเครื่องรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ วางระบบเพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพวัดผลได้เป็นเป้าหมาย

มีการวิเคราะห์ถึงความอ่อนด้อย ไร้ประสิทธิภาพของ รสก.แต่ละแห่ง แสวงหาโมเดลองค์กรที่จะเข้ามากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาล้วงลูก หรือแทรกแซงแสวงประโยชน์ได้ในอนาคต ทำหน้าที่รวมศูนย์การกำหนดทิศทางการบริหารรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ ซึ่งก็คงต้องจับตาดูกันไป จะเหมือนแม่น้ำ 5 สายที่ประชาชนคนไทยกำลังลุ้นระทึกกันหรือไม่

เรื่องของการยกเครื่องรัฐวิสาหกิจ จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการอะไรนั้น สำหรับประชาชนคนไทยแล้วคงจะไม่อินังขังขอบอะไรด้วยแน่ เพราะต่างก็อยากเห็นรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สร้างภาระทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ยิ่งกับรัฐวิสาหกิจบางแห่ง อย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่วันนี้แบกหนี้ท่วมอยู่กว่า 1.2 แสนล้าน แทบจะกล่าวได้ว่าแค่จะหารายได้มาจ่ายหนี้ดอกเบี้ยไปตลอดชาตินี้ก็ไม่รู้จะใช้คืนได้หมดหรือไม่!

ก็สมควรอยู่หรอกที่ กนร.และซูเปอร์บอร์ดจะได้เข้ามาสะสางปัญหาหมักหมมรัฐวิสาหกิจเหล่านี้!

แต่กับกิจการรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีกำไร มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจนสามารถผงาดขึ้นไปแถวหน้า มีผลการดำเนินงานดีเลิศประเสริฐศรี อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ทำกำไรทะลักล้นปีละนับหมื่นล้านหรือแสนล้าน นั้น

กนร. หรือ “ซูเปอร์บอร์ด- ซูเปอร์คอนเนคชั่น” ไปยุ่งอะไรกับเขา?

เออ!ถ้ากิจการที่เขาไปลงทุน หรือเข้าไปฟื้นฟูทำท่าจะกู่ไม่กลับ หรือเกิดไปลงทุนแล้วมันเข้าเนื้อ ชักหน้าไม่ถึงหลังพลอยจะทำเอาบริษัทแม่เซถลาไปด้วย อย่างนี้จะให้จัดทำแผนฟื้นฟู ตัดแขนขาตัดกิจการขายออกไป อย่างที่บริษัทการบินไทยกำลังดำเนินการอยู่เวลานี้ มันค่อยน่าจะรับฟังได้หน่อย

แต่นี่อะไร? ธุรกิจที่เขาไปลงทุนไว้มีกำไรเห็นๆ ถือต่อไปก็มีแต่ทำกำไรเนื้อๆ แต่กลับมีเครือข่ายอะไรต่อมิอะไรออกมาร้องแรกแหกกระเชอ ชี้หน้าด่ากราดว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดทำกำไร จะต้องหาทาง “บอนไซ” ต้องทำลายขุมทรัพย์การเมืองผลประโยชน์ ต้องหาทางชำแหละกิจการที่ผูกขาดออกไปซะงั้น!

แล้วเป็นไงครับเจอเครือข่าย “นายใหญ่”ดอดเข้ามาล้วงตับก็ถึงกับหงายเงิบ ต้องลนลานทบทวนแผนขายหุ้นดึงพันธมิตรร่วมทุนกันให้วุ่นอย่างที่กำลังเกิดกับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นั่นปะไร

เห็น “ซูเปอร์บอร์ด” ตีปี๊บเรื่องยกเครื่องรัฐวิสาหกิจกันใหญ่โตนัก เลยอยากให้ท่านประธานซูปเปอร์บอร์ด รวมทั้งท่านประธาน ป.ป.ช.ได้ช่วยลงไปดูตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจหนึ่งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กนร.เองนั่นแหล่ะเห็นดีเห็นงามให้ดำเนินการแปรรูปกันไปก่อนหน้าเมื่อ 4-5 ปีก่อน

นั่นคือ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่มีการจัดทำแผนแปรรูปกิจการ ลดบทบาทของภาครัฐ เพื่อให้การขยับขยายกิจการเติบใหญ่กันนั่นปะไร พอจะจำได้ไหมท่าน สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ที่เคารพ!

ในช่วงของการจัดทำแผนแปรรูป สยายปีกขยายกิจการเห็นมีการจัดทำแผนซะสวยหรู หากแปรรูปกิจการดึงบริษัทเอกชน คือกลุ่มบริษัทเอกชนในสมาคมเจ้าของเรือไทยเข้ามาร่วมลงทุนร่วมเป็นพันธมิตร ภายใต้บริษัทใหม่คือ “บริษัท บทด. จำกัด” แล้ว จะสามารถสยายปีกขยายกองเรือไทยเดินเรือทะเลจากที่มีแค่ 3 ลำ เป็น 8 ลำ 12 ลำ และ 20 ลำได้ภายในระยะเวลา 5 ปี

วันนี้เป็นอย่างไรครับ? บริษัท บทด. จำกัด ที่ว่าเติบใหญ่สยายปีกขยายกิจการกันไปถึงไหนแล้วหล่ะ คุณสร้อยทิพย์ ไตรสุทธ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม และ ดร.จุฬา สุขมานพ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ บทด.คนสุดท้ายก่อนแผนแปรรูป ช่วยทำรายงานเสนอ ซูเปอร์บอร์ด และ ครม.ทีเถอะ วันนี้ บริษัท บทด.มีกองเรือครบ 20 ลำหรือยัง? สามารถเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนการส่งออก เป็นกลไกหลักของการสร้างสมดุลให้กับกิจการพาณิชย์นาวีไทยไว้ต่อกรกับสายการเดินเรือต่างชาติได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหรือไม่?

ขอโทษ! อย่าว่าแต่จะไม่มีการจัดซื้อ หรือขยายกองเรือเพิ่มสักลำเลย เรือที่เคยมีให้บริการอยู่วันนี้เหลืออยู่สักลำหรือไม่สังคมยังสงสัยอยู่ และโดยเฉพาะยังอยากจะถามไปถึงเงินทุนจัดตั้งที่รัฐและกระทรวงการคลังทุนไปกับ บทด.นับ 100 ล้านบาทนั้น ยังหายเข้า “กลีบเมฆ” อีก

กลายเป็นความสูญเสียและ “เสียค่าโง่” ไป 100% แล้ววันนี้

ที่สำคัญหลังการแปรรูปกิจการ บทด.ไปแล้ว ในส่วนของการจัดทำแผนยุบเลิก บริษัทไทยเดินเรือทะเลเดิม ที่ได้โอนอำนาจและภารกิจหน้าที่ทั้งหลายทั้งปวงไปยังบริษัท บทด.แล้วนั้น วันนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน?

เหตุผลนั้นก็นัยว่าเพราะไม่สามารถจะดำเนินการชำระบัญชีเพื่อยุบเลิกกิจการได้ เนื่องจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังไม่ยอมให้การรับรองผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดช่วง 3 ปี ก่อนการแปรรูปจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการชำระบัญชีเพื่อยุบเลิกกิจการได้ แปลให้ง่าย สตง.ไม่ให้การรับรองงบดุล จึงทำให้แผนการสลายบริษัทแม่ บทด.เดิมคาราคาซังอยู่นั่นเอง

การที่แผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่อ้างเพื่อสยายปีก ขยายกิจการ ลดบทบาทของภาครัฐลงไป ซึ่งมีการจัดทำแผนกันเอาไว้อย่างสวยหรูก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ แต่วันนี้กลับ “ล้มเหลวไม่เป็นท่า” บริษัท บทด. จำกัด แทบจะไร้บทบาทหายเข้ากลีบเมฆ ก็ไม่รู้ว่ายังคงเป็นกิจการในกำกับของกระทรวงคมนาคมอยู่หรือไม่นั้น

ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ใครควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ? ท่าน รมว.คมนาคม และท่านประธานซูเปอร์บอร์ดไม่คิดจะตรวจสอบบ้างหรือ? ไม่ลองเรียกข้อมูลจากปลัดกระทรวงคมนาคมที่รู้ตื้นลึกหนาบางเรื่องนี้เป็นอย่างดีมาดูบ้างหรือ? และโดยเฉพาะท่านประธาน ป.ป.ช.เองไม่คิดจะ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ดูบ้างหรือ?

เรื่องอย่างนี้ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเห็นตัวผู้บริหารบริษัทไทยเดินเรือทะเลเดิม วันนี้ก็ยังนั่งหน้าเปื้อนยิ้ม ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่ในบริษัท บทด. จำกัด อยู่เลย!!!

เรื่องอย่างนี้ไม่น่าเชื่อว่าจะเล็ดรอดคณะกรรมการ ปปช. ปก-ปิด-แช่ไปได้!!!
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รัฐบาล การเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่