ว่าด้วย "มนุษย์"ในทัศนะศาสนาอิสลาม

กระทู้คำถาม
มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง ที่ประกอบด้วยร่างกาย และจิตวิญญาณ เมื่อสิ้นชีวิตลง ร่างกายจะเน่าเปื่อย และผุสลายไปตามกาลเวลา ส่วนวิญญาณจะดำรงชีวิตสืบต่อไป ความตายไม่ใช่การสูญสิ้น ฉะนั้น ตราบเท่าที่วันกิยามะฮฺ (วันแห่งการอวสานของโลก) ยังมาไม่ถึง วิญญาณจะพำนักอยู่ที่อาลัมบัรซัค (โลกภายหลังความตาย) เพื่อรอวันแห่งการตัดสิน อัล-กุรอานได้อธิบายขั้นตอน การสร้างมนุษย์ไว้อย่างละเอียด จนถึงขั้นตอนสุดท้าย พระผู้เป็นเจ้า จะเป่าดวงวิญญาณ ไปในร่างมนุษย์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า

ثُمَّ خَلَقْنَا النُّطْفَةَ عَلَقَةً فَخَلَقْنَا الْعَلَقَةَ مُضْغَةً فَخَلَقْنَا الْمُضْغَةَ عِظَامًا فَكَسَوْنَا الْعِظَامَ لَحْمًا ثُمَّ أَنشَأْنَاهُ خَلْقًا آخَرَ فَتَبَارَكَ اللَّهُ أَحْسَنُ الْخَالِقِينَ

“แล้วเราได้ทำให้เชื้ออสุจิ กลายเป็นก้อนเลือด ได้ทำให้ก้อนเลือด กลายเป็นก้อนเนื้อ ได้ทำให้ก้อนเนื้อ กลายเป็นกระดูก และได้หุ้มกระดูกนั้น ด้วยเนื้อ หลังจากนั้น ได้เป่าวิญญาณ ให้เขากลายเป็นอีกรูปร่างหนึ่ง ดังนั้น อัลลอฮฺทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงเลิศแห่งปวงผู้สร้าง”


อัล-กุรอาน กล่าวถึงชีวิตมนุษย์ ในโลกบัรซัคว่า

وَمِن وَرَائِهِم بَرْزَخٌ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُونَ

“และเบื้องหน้าของพวกเขา มีโลกบัรซัค จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขา จะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมา”


มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมา บนพื้นฐานที่สะอาดบริสุทธิ์ แห่งพระผู้เป็นเจ้า ในลักษณะที่ว่า ถ้าหากไม่มีสิ่งยั่วยุภายนอก ทำให้หลงทาง ชีวิตเขาจะดำเนินบนวิถีทาง แห่งสัจธรรม ตลอดไป เนื่องจากไม่มีทารกคนใด คลอดออกจากครรภ์มารดา ด้วยความผิดพลาด หรือมีบาปติดตัว แต่หลังจากนั้น วิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป เพราะผลกระทบภายนอก ที่เกิดจาก ความชั่วช้า และสิ่งไม่ดี ทั้งหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลือกสรร หรือแม้ว่า จะมีกรรมพันธุ์ที่ไม่ดี แต่สิ่งนั้นก็ไม่อาจ เปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ ของมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้ แนวความคิดที่ว่า บาปเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคน เป็นบุตรหลานของอาดัม จึงถือว่าไม่ถูกต้อง และไม่มีราก ที่มาแต่อย่างใด อัล-กุรอานกล่าวว่า

فَأَقِمْ وَجْهَكَ لِلدِّينِ حَنِيفًا فِطْرَةَ اللَّهِ الَّتِي فَطَرَ النَّاسَ عَلَيْهَا لَا تَبْدِيلَ لِخَلْقِ اللَّهِ ذَلِكَ الدِّينُ الْقَيِّمُ وَلَكِنَّ أَكْثَرَ النَّاسِ لَا يَعْلَمُونَ

“ดังนั้น เจ้าจงผินหน้าของเจ้า สู่ศาสนาที่เที่ยงธรรมเถิด ธรรมชาติของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ ขึ้นมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในการสร้างของอัลลอฮฺ นั่นคือ ศาสนาอันเที่ยงตรง แต่มนุษย์ส่วนมากไม่รู้”

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “ไม่มีทารกคนใด คลอดออกมา ยกเว้น บนธรรมชาติที่บริสุทธิ์” (ความเป็นเอกภาพ ของพระผู้เป็นเจ้า)


มนุษย์เป็นชีวิตที่มีการเลือกสรร หมายถึง การใช้สติปัญญาพิจารณาการกระทำ และผลข้างเคียง ที่จะเกิดตามมาภายหลัง หลังจากนั้นจึงตัดสินใจว่า จะทำหรือละเว้น อัล-กุรอาน กล่าวความว่า “แท้จริงเราได้ชี้แนะแนวทาง แก่เขาแล้ว บางคนเป็นผู้กตัญญู และบางคนเนรคุณ”

وَقُلِ الْحَقُّ مِن رَّبِّكُمْ فَمَن شَاءَ فَلْيُؤْمِن وَمَن شَاءَ فَلْيَكْفُرْ

“จงกล่าวเถิด “สัจธรรมนั้น มาจากพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ดังนั้น ผู้ใดประสงค์ ก็ศรัทธา และผู้ใดประสงค์ (ไม่ศรัทธา) ก็ให้ปฏิเสธ”


มนุษย์ทุกคน อยู่บนธรรมชาติที่สมบูรณ์แข็งแรง มีสติปัญญาเป็นตัวตัดสิน และใช้สติปัญญา แยกแยะสิ่งถูกผิด ดีและไม่ดี อีกทั้งมีการเลือกสรร ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ จึงพร้อมที่จะยอมรับการอบรมสั่งสอน การพัฒนาการ การย้อนกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า จึงได้เปิดกว้างตลอดเวลา ยกเว้นบุคคลที่การลุแก่โทษ ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป ฉะนั้น การเชิญชวนของบรรดาศาสดา จึงครอบคลุมทุกคน แม้แต่ฟิรเอานฺก็ตาม อัล-กุรอานกล่าวว่า

فَقُلْ هَل لَّكَ إِلَى أَن تَزَكَّى وَأَهْدِيَكَ إِلَى رَبِّكَ فَتَخْشَى   

“(มูซาจงกล่าวแก่ฟิรเอานฺ) ว่า ท่านประสงค์จะขัดเกลาไหม และจะให้ฉันนำท่าน ไปสู่ผู้อภิบาลของท่านไหม เพื่อท่านจะได้ยำเกรง”

บนพื้นฐานดังกล่าว มนุษย์ต้องไม่สิ้นหวังความเมตตา และการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าเด็ดขาด อัล-กุรอานกล่าวว่า

لَا تَقْنَطُوا مِن رَّحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِيعًا

“พวกท่านอย่าได้หมดหวัง ในพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัย ความผิดทั้งมวล”


มนุษย์ เป็นชีวิตที่ได้รับรัศมี แห่งปัญญา ความโปรดปราน และการเลือกสรร เป็นชีวิต ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มนุษย์ต้องรับผิดชอบตนเอง ต่อพระผู้เป็นเจ้า บรรดาศาสดา และผู้นำ แห่งพระองค์ อีกทั้งต้องรับผิดชอบ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อัล-กุรอาน กล่าวถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบของมนุษย์ ไว้ว่า

وَأَوْفُواْ بِالْعَهْدِ إِنَّ الْعَهْدَ كَانَ مَسْؤُولاً

“จงปฏิบัติให้ครบตามสัญญา (เพราะ) แท้จริงสัญญานั้น จะถูกสอบสวน”

وَلاَ تَقْفُ مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ إِنَّ السَّمْعَ وَالْبَصَرَ وَالْفُؤَادَ كُلُّ أُولئِكَ كَانَ عَنْهُ مَسْؤُولاً

“อย่าตามรอยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้น จะถูกสอบสวน” “มนุษย์คิดหรือว่า เขาจะถูกปล่อยไว้โดยไร้จุดหมาย”

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวความว่า  “พวกท่านทุกคนมีภาระ และทุกคนต้องรับผิดชอบ ในภาระของตน”

อิสลามสอนว่ามนุษย์ทุกคน เสมอภาคกันไม่มีใครดีกว่าใคร นอกจากผู้ที่มี ความสมบูรณ์ และมีคุณธรรม มาตรฐานที่ใช้วัดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์กว่า คือ ความยำเกรงในวิถีชีวิต ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอานกล่าวถึงเกียรติยศ ที่แท้จริงของมนุษย์ ว่า

يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ

“โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้า ทั้งเพศชาย และเพศหญิง และเราได้แยกพวกเจ้าเป็นเผ่า และตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺ คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ อย่างละเอียดถี่ถ้วน”


ด้วยเหตุนี้ อิสลามถือว่า เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ฐานะ ตำแหน่ง ภูมิประเทศ และระบบการปกครอง มิได้เป็นตัวบ่งบอกว่า บุคคลนั้นดีกว่าอีกคนหนึ่ง เครื่องหมายที่บ่งบอก ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง คือความยำเกรง

คุณค่าทางจริยธรรมตามความเป็นจริง เป็นรากฐานสำคัญ และเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ของความเป็นมนุษย์  เป็นแก่นที่มีความมั่นคงถาวร กาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่อาจเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการล่มสลาย ของจริยธรรม ได้ เช่น ความสวยงาม ความซื่อสัตย์ต่อสัญญา หรือการตอบแทนความดี ด้วยความดี สิ่งเหล่านี้ เป็นความประพฤติที่มีความถาวร และจะดำรงต่อไป อย่างไม่มีวันล่มสลาย ตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์อยู่ ขณะเดียวกันความเสื่อมทราม อกตัญญู และการบิดพลิ้วสัญญา ในมุมมองของสติปัญญา ถือว่าเป็นรากที่ฝังแน่นอยู่ ในสังคมมนุษย์ และได้ผสมปน อยู่ในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ แน่นอน สิ่งที่อยู่เคียงข้าง กับจริยธรรมมนุษย์มาโดยตลอด คือ ขนบธรรมเนียม- ประเพณี อันเป็นผลที่เกิด มาจากกฎเกณฑ์ของสังคม กาลเวลา และสถานที่ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่มีความเกี่ยวข้องอันใด กับรากฐานที่มั่นคงของจริยธรรม อัล-กุรอานกล่าวถึงรากฐานที่มั่นคง ของจริยธรรมไว้ดังนี้ ความว่า “จะมีการตอบแทนความดีอันใดเล่า นอกจากความดี”

لَّيْسَ عَلَى الضُّعَفَاء وَلاَ عَلَى الْمَرْضَى وَلاَ عَلَى الَّذِينَ لاَ يَجِدُونَ مَا يُنفِقُونَ حَرَجٌ إِذَا نَصَحُواْ لِلّهِ وَرَسُولِهِ مَا عَلَى الْمُحْسِنِينَ مِن سَبِيلٍ   

“ไม่มีข้อตำหนิใด ๆ แก่คนอ่อนแอ, และคนป่วยไข้ และบรรดาผู้ที่ไม่สามารถ หาสิ่งใดมาบริจาคได้ เมื่อพวกเขาได้ตักเตือน ให้จงรักภักดีต่ออัลลอฮฺ และเราะซูลของพระองค์ ไม่มีทางใดที่จะกล่าวโทษ แก่บรรดาผู้กระทำดีได้”

فَإِنَّ اللّهَ لاَ يُضِيعُ أَجْرَ الْمُحْسِنِينَ

“แน่นอน อัลลอฮฺ ไม่ทรงทำลายรางวัล ของผู้กระทำความดี”

إِنَّ اللّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإِحْسَانِ وَإِيتَاءِ ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْتَذَكَّرُونَ

“แท้จริง อัลลอฮฺทรงสั่งเรื่องความยุติธรรม และการทำดี และการบริจาค แก่ญาติสนิท และทรงห้ามการทำลามก และการชั่วช้า และการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือนสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้รำลึก”


การกระทำของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าจะมีรางวัลตอบแทน และการลงโทษ หรือไม่ก็ตาม จะมีผลข้างเคียงทั้งดี และไม่ดีตามมา ซึ่งในความเป็นจริงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นผล ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งอัล-กุรอาน และความรู้สมัยใหม่ ต่างยอมรับความจริงข้อนี้ อัล-กุรอานหลายโองการกล่าวไว้ เช่น

وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَى آمَنُواْ وَاتَّقَواْ لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاءِِ وَالأَرْضِ وَلَكِن كَذَّبُواْ فَأَخَذْنَاهُم بِمَا كَانُواْ يَكْسِبُونَ

“และมาตรว่าชาวเมืองได้ศรัทธา และสำรวมตนจากความชั่ว แน่นอนเราจะเปิดให้แก่พวกเขา ซึ่งความจำเริญ จากฟากฟ้า และแผ่นดิน แต่ว่าพวกเขามุสา ดังนั้น เราจึงลงโทษพวกเขา เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว้”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่