อาชญากรรมไม่ใช่แค่อาชญากรรม ??


เกริ่นนำ
อาชญากรรมสิ่งที่สังคมไม่ต้องการ สิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาในสังคมทุกสังคม และทุกระบบ ปัญหาที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มานานตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการพัฒนามาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน คำถามคือ แล้ว “ทำไมต้องเกิดอาชญากรรม” เหตุที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมคืออะไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร ผลกระทบที่ตามมาต่อสังคมเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่ไม่เพียงแต่บุคลากรในงานกระบวนการยุติธรรมควรรู้ แต่ควรเผยแพร่ในสมาชิกในสังคมเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะแค่บุคลากรในระบบงานยุติธรรมคงแก้ปัญหาไม่ได้ จะแก้ได้คงต้องใช้ความร่วมมือกันทั้งสังคมนั่นเอง

    ก่อนอื่นนั้นเราต้องมาปูพื้นความเข้าใจของเหตุอันก่อให้เกิดอาชญากรรมเสียก่อน ซึ่งตามตำราของต่างประเทศนั้นชี้ให้เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า อาชญากรรมในสังคมปัจจุบันนั้นมีสาเหตุมาจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ เพราะว่าหากเศรษฐกิจย่ำแย่ลงผลที่ตามมาขั้นแรกก็คือกิจการต่างๆ จำเป็นต้องลดต้นทุนในการผลิตในหลายประเด็น หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการลดปริมาณพนักงาน ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นเพราะการถูกเลิกจ้าง และเมื่อถูกเลิกจ้างรายได้ก็หายไป การดำเนินชีวิตประจำวันก็ยากลำบากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็โดยธรรมชาติมนุษย์ก็จำเป็นต้องหาทางออก ซึ่งโดยมากก็จะหาอาชีพหารายได้เพิ่มเติมเพื่อจุนเจือชีวิตประจำวัน แต่ก็จะมีส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาขัดสนด้วยการก่ออาชญากรรม แต่หากจะพูดเพียงเท่านี้ก็อาจจะเป็นการกล่าวที่เลื่อนลอยได้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงขออ้างอิงสถิติอาชญากรรมทีเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่น่าสนใจโดย Civitas Group ประเทศอังกฤษ โดยทำการเก็บข้อมูลสถิติอาชญากรรมในประเทศต่างๆ (ยกเว้นสาธารณรัฐประชาชนจีน) ได้สถิติที่ชี้ให้เห็นว่า หลังช่วงปี 2008-09 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นต้นมานั้น อัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ภูมิภาคในโลก ซึ่งก่อปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย อาทิ ความไม่เป็นธรรมทางรายได้ การขาดแคลนทรัพยากร เพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้น และปัญหาผู้ต้องขังล้นระบบนั่นเอง

ความเชื่อมโยงที่ผลักดัน/หยุดยั้งอาชญากรรม
“การศึกษา ความยากจน กับอาชญากรรม”
    นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านงานกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นตรงกันอยู่เรื่องหนึ่งว่า การศึกษา ความยากจน และอาชญากรรม เป็นปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นหนา ส่งผลซึ่งกันและกันอยู่เสมอ กล่าวอย่างง่ายคือ หากปัจจัยอย่างการศึกษา และความยากจน ถูกดูแลอย่างเหมาะสมโดยรัฐ เอกชน และชุมชนแล้วนั้น ปัญหาอาชญากรรมจะสามารถบรรเทาลงได้อย่างน่าประหลาดใจเลยทีเดียว อย่างจะสามารถเห็นได้จากกรณีศึกษาในกลุ่มประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการด้านการศึกษา และการประกันรายได้อย่างดีนั้น อาทิ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมันนี เหล่านี้ล้วนมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่อประชากรต่ำมากถ้าเทียบกับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น ไทย กัมพูชา หรืออินเดีย ประเทศเรา และประเทศเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีรัฐสวัสดิการ/สวัสดิการโดยรัฐประสิทธิภาพต่ำอยู่มาก ซึ่งแน่นอนว่าอัตราการเกิดอาชญากรรมในประเทศกลุ่มนี้ก็ยังมีปริมาณที่สูงอยู่ในปัจจุบัน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดอัตราลงแต่อย่างใด

“การเลือกปฏิบัติ กับอาชญากรรม”
    หากผู้อ่านได้ติดตามบทความของสำนักงานกิจการยุติธรรมอยู่เสมอ ท่านอาจจำได้ว่าเราเคยเสนอบทความเกี่ยวกับ “การเหยียด” นั่นหละครับมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดนี้อย่างชัดเจน เพราะแนวคิดนี้เน้นหนักไปที่การมุ่งให้เราเห็นว่า การเหยียดหยาม การกีดกัน หรือแม้แต่การเลือกปฏิบัตินั้น มีผลที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดอาชญากรรมขึ้น กล่าวคือ การกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติกับคน หรือกลุ่มคนชนชาติ สีผิวใดๆ นั้น ย่อมก่อให้เกิดความกดดัน มากน้อยแล้วแต่กรณี แต่ประเด็นคือ เมื่อความกดดันนั้นทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันหนึ่งเกิดการระเบิดออกมามักจะส่งผลที่น่ากลัวมากซึ่งอาจมาในรูปของอาชญากรรม และยิ่งถ้าเป็นอาชญากรรมที่มาจากการกดดันในลักษณะนี้นั้น มักไม่ได้เป็นอาชญากรรมที่หวังเพื่อทรัพย์สินเป็นหลักแล้ว แต่จะเป็นในลักษณะของ “Hate Crime หรือ อาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง” อันเป็นผลมาจากการถูกข่มเหงนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการประกาศใช้นโยบายการแบ่งแยกสีผิว ในประเทศแอฟริกาใต้ นั่นส่งผลให้ปริมาณการเกิดอาชญากรรมระหว่างสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้นั้นสูงขึ้นอย่างน่าตกใจเลยทีเดียว เช่นเดียวกับความขัดแย้งระหว่างเผ่า อูลู กับ ตุ๊ดซี่ ในประเทศรวันดา ซึ่งในกรณีนี้ลุกลามรุนแรงไปถึงระดับของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยทีเดียว

ผลเสียทางอ้อมของอาชญากรรมในระยะยาว
สถาบันครอบครัว
    ผู้อ่านคงสงสัยไม่น้อยว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทุกวันนั้นมันเกี่ยวกับปัญหาสถาบันครอบครัว    ตรงไหน ?? คำตอบนั้นเป็นคำตอบที่แสนง่านจนผู้อ่านอาจคาดไม่ถึง คือ การไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันของครอบครัว ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายรวมถึงการอยู่ไกลกันของสมาชิกในครอบครัว แต่หมายถึงการที่อาจไม่ได้อยู่ไกลกันแต่ยากต่อการติดต่อหรือใช้ชีวิตร่วมกันแบบปรกติ ซึ่งแน่นอนผู้เขียนกำลังหมายถึงการถูกจำคุกของบิดา มารดา หรือบุตรนั่นเอง ดั่งที่สำนวนไทยกล่าวว่า “ขาดแม่เหมือนแพแตก ขาดพ่อเหมือนถ่อหัก” หรือ “ลูกเปรียบดั่งแก้วตาดวงใจของพ่อแม่” เหล่านี้ล้วนชี้ไปให้เห็นว่าสมาชิกของครอบครัวไม่ว่าจะคนใด หากขาดหายไปย่อมเกิดผลกระทบต่อจิตใจสมาชิกในครอบครัวทั้งสิ้น อย่างเช่น หากพ่อแม่ก่ออาชญากรรมจนถูกศาลพิพากษาให้จำคุก ปัญหานั้นจะไม่ตกกับแค่พ่อแม่ แต่ปัญหาหลักนั้นจะตกกับลูกเป็นหลัก เพราะบุคคลที่จะทำหน้าที่เลี้ยงดู อบรมสั่งสอนนั้นหากไป หลายท่านอาจมองว่าเป็นเพียงปัญหาเล็กๆ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าเด็กและเยาวชนกระทำผิดส่วนใหญ่ในสถานพินิจ หรือศูนย์ฝึกต่างๆ นั้น มักมีพื้นฐานจากการที่ครอบครัวมีปัญหาการไม่ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ซึ่งปัญหาเล็กๆ อย่างนี้ที่เราอาจมองข้าม เป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายอนาคตของชาติไปทีละน้อยๆ ทุกวันๆ นั่นเอง

การพัฒนาของประเทศ
    สืบเนื่องจากประเด็นก่อนหน้านี้ การพัฒนาในประเทศทุกประเทศในโลกคงไม่สามารถพัฒนาได้โดยบุคลากรในเจนเนอร์เรชั่นเดียว จำเป็นต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่ อนาคตของชาติออกมาเสมอๆ เพื่อที่จะได้เป็นผู้สืบต่อในการพัฒนาให้สม่ำเสมอไม่สะดุดติดขัด แต่หากสมมติเด็กและเยาวชนที่จะมาเป็นอนาคตพลังของชาติในรุ่นต่อไปนั้นไม่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมดูแลเอาใจใส่ที่ดีแล้วนั้น เขาก็คงไม่สามารถที่จะใช้ศักยภาพของเขาในการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นหากเขาตกเป็นเหยื่อทางตรงของอาชญากรรมหละ เราไม่เพียงแต่เสียศักยภาพไป เราอาจเสียอนาคตของชาติไปกับอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ นั่นจึงชี้ให้เห็นแล้วว่าอาชญากรรมส่งผลต่ออนาคตของสังคม และประเทศชาติตั้งแต่ระดับจุลภาค มัชฌิมภาค  และมหภาคด้วยนั่นเอง

บทสรุป
    จากที่ได้เล่ามาเกี่ยวกับอาชญากรรมในมุมของปัจจัยการเกิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมแล้วนั้นคงพอจะชี้ให้เห็นได้ว่าอาชญากรรมไม่ได้มีผลต่อแค่เหยื่อทางตรงเท่านั้น หากแต่ยังมีเหยื่อในทางอ้อมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงทั้งในระยะสั้น และระยะยาวจนอาจนำไปสู่การสะดุดลงของการพัฒนาประเทศในภาพรวมก็เป็นได้นั่นเอง

อ้างอิง
จากบทความของ Mehmet Odekon

เผยแพร่โดย
จากหนังสือชื่อ : The SAGE Encyclopedia of World Poverty
หัวข้อ : "Crime"
เว็บไซต์ : http://sk.sagepub.com/

-----------------------------------------------------------------------
ติดตามความรู้และกฎหมายใหม่ได้ที่ www.facebook.com/weareoja
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่