อันตรายจากขวดพลาสติก PET

คัดลอกมาจากวิชาการดอทคอม
PET(Poly Ethylene Terephthalate)

พลาสติกโพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene Terephthalate)หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “เพท” (PET) เป็นพลาสติกเทอร์โมพลาสติก (หลอมที่อุณหภูมิสูงและแข็งตัวเมื่อเย็น) ที่ผลิตขึ้นได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเอทิลีนไกลคอลและไดเมทิลเทอพาทาเลต หรือระหว่างสารเอทิลีนไกลคอลและกรดเทอพาทาลิก แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ไดเมทิลเทอพาทาเลต ในการทดลองกับสัตว์พบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ก่อการกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ สารเร่งปฏิกิริยาเคมีเช่น แอนติโมนี่ไตรออกไซด์ หรือแอนติโมนี่ไตรอะซิเตท

พลาสติกเพทนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่มีเนื้อใส (A-PET) และกลุ่มที่เป็นผลึกสีขาว (C-PET) เพทมีคุณสมบัติที่สามารถทำเป็นพลาสติกที่มีลักษณะกึ่งแข็งไปจนถึงเป็นของแข็งได้โดยการปรับความหนา และมีน้ำหนักเบา กันก๊าซและแอลกอฮอล์ได้ดี

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเพทมีอะไรบ้าง

ในช่วงทศวรรษ 1940 เพทถูกนำไปใช้ในการผลิตเส้นใยและแผ่นฟิล์ม ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 นี่เองจึงมีการนำเพทมาใช้เป็นขวดบรรจุเครื่องดื่มอัดลม จากนั้นความต้องการใช้เพททำภาชนะบรรจุก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในส่วนของแผ่นฟิล์มก็ได้มีการพัฒนาคุณภาพโดยการเติมโลหะ เช่น อะลูมิเนียม เพื่อเพิ่มคุณสมบัติความทึบแสง สะท้อนแสง ฉนวนไฟฟ้า ซึ่งนำมาใช้ใส่อาหาร เช่นถุงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เคลือบผิวกระดาษ ฉนวนกันไฟฟ้า นอกจากนี้เพทยังใช้ทำเป็นแผ่นผ้าฉนวนกันความร้อนที่ใช้คลุมภายนอกยานสำรวจวิจัยที่ประกอบในอวกาศ

เพทอันตรายอย่างไร

เพทแพร่สารอะซิทัลดีไฮด์เข้าไปปนเปื้อนผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่บรรจุอยู่ในภาชนะที่ทำจากเพท เช่น ขวดโซดา ขวดน้ำ ขวดน้ำมันสำหรับทำอาหาร เป็นต้น อะซีทัลดีไฮด์เป็นสารที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุว่าเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในคนรวมทั้งอาจเป็นส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง

ข้อควรระวัง

มีผลการศึกษาน้ำแร่ที่บรรจุในขวดเพทพบว่ามีสิ่งชี้บ่งของความเป็นพิษเกิดขึ้นภายหลังจากบรรจุน้ำลงขวดแล้ว 8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำที่บรรจุในขวดเพทนานเกินกว่า 8 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเก็บที่อุณหภูมิใดก็ตาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่