ทำไมพลาสติกฟู๊ดเกรดจึงปลอดภัยในการบรรจุอาหารทั้งร้อนและเย็น?


ผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้นมีหลายชนิด แต่เราสามารถจำแนกชนิดของพลาสติกได้โดยการสังเกตง่าย ๆ จากสัญลักษณ์ที่มักแสดงอยู่ด้านล่างของภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีตัวเลข และตัวอักษรกำกับไว้ควบคู่กับเครื่องหมายลูกศรรูปสามเหลี่ยม บ่งบอกถึงชนิดของพลาสติกต่าง ๆ

สัญลักษณ์ที่แสดงถึงวัสดุที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้ : [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เมื่อเราสามารถจำแนกชนิดของผลิตภัณฑ์พลาสติกได้แล้ว เราก็ควรเลือกใช้พลาสติกให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารหรือสัมผัสกับอาหาร จำเป็นต้องใช้พลาสติกชนิดที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เช่น  #1-PET #2-HDPE #4-LDPE และ #5-PP  และ #ควรหลีกเลี่ยง บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่มีสัญลักษณ์ #3-PVC #6-PS หรือ #7-Polycarbonate

ชนิดของพลาสติกที่ปลอดภัยสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD GRADE PLASTICS)


PP : POLYPROPYLENE พอลิโพรไพลีน (polypropylene) เป็นพลาสติกที่มักใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร มีความหนาแน่นค่อนข้างต่ำ แต่มีจุดหลอมเหลวสูงถึง160-170 องศาเซลเซียส มีความแข็งและเหนียว คงรูปดี ทนต่อการหักงอได้ปานกลาง ทนต่อความร้อนและสารเคมี มีความใส ป้องกันการผ่านของความชื้นได้ดี แต่ป้องกันการผ่านของอากาศได้ต่ำ และไม่ทนต่อความเย็น มักใช้ในการผลิตถุงทนร้อน ที่มักเรียกว่า #ถุงร้อนชนิดใส ใช้สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อการแปรรูปอาหารด้วยความร้อนเพราะทนความร้อนได้สูง และสามารถบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารขณะที่ร้อนได้ (hot filled : 100- 121 องศาเซลเซียส) ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารในครัวเรือน เช่น จาม ชาม ถ้วย ใช้ผลิต retort pouch และ flexible packaging ฆ่าเชื้อด้วยรีทอร์ท (retort) ได้ สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ (microwavable) ใช้ผลิตถ้วยหรือชาม สำหรับผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งต้องเติมน้ำร้อนจัด หรือเติมน้ำแล้วนำเข้าไมโครเวฟก่อนรับประทาน

ข้อจำกัดของ PP : ไม่ทนต่อความเย็น ไม่เหมาะกับการบรรจุอาหารแช่เยือกแข็ง (frozen food)


Low density polyethylene : (LDPE) เป็นพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน (polyethylene) ที่มีความหนาแน่นต่ำ ชื่อสามัญเรียกว่าถุงเย็น เพราะไม่ทนความร้อน นิ่ม ยืดหยุ่นได้ดีทนต่อการทิ่มทะลุ และการฉีกขาด เหนียว ไม่กรอบแตกง่าย แต่ความแข็งและทนทานน้อยกว่า HDPE  โปร่งแสง มีความใสน้อยกว่า PP แต่ใสกว่า HDPE  ไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยาเคมี ทนต่อกรดและด่างได้ดี ป้องกันการผ่านของความชื้นได้ดี ออกซิเจนและอากาศซึมผ่านได้ ไขมันซึมผ่านได้ นิยมนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารเช่น ถุงเย็น ฟิล์มหดและฟิล์มยืด ขวดน้ำ ฝาขวด ใช้ผลิตแผ่นฟิล์มที่ใช้รวมกับวัสดุอื่น เป็นวัสดุประสาน (laminate) เพื่อปิดผนึกด้วยความร้อน และใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อ (aseptic packaging)

ข้อจำกัดของ LDPE : ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้บรรจุอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด ขนมอบกรอบ  เพราะป้องกันการซึมผ่านเข้าออกของไขมัน และออกซิเจนไม่ดี ทำให้เกิดกลิ่นหืนได้ง่าย ไม่ทนต่อความร้อน ไม่สามารถใช้กับกระบวนการบรรจุร้อน (Hot fill)  ใช้ได้เฉพาะการบรรจุอาหารขณะเย็นเท่านั้น (Cool filled : อุณหภูมิขณะบรรจุไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส)


High Density Polyethylene : เรียกย่อว่า HDPE เป็นพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีน (polyethylene, PE) ที่มีค่าความหนาแน่นสูง นิยมใช้กันมากในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องการความแข็งแรง แต่ไม่ต้องการความใสมากนัก มีลักษณะขุ่น แสงผ่านได้น้อย สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด และด่าง เพราะไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยาเคมี มีความเหนียว ยืดหยุ่น ทนทานต่อการแตกหรือหักงอได้ดี ป้องกันการผ่านของอากาศได้ต่ำ จึงไม่เหมาะสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ใช้การอัดอากาศ ป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้สูงมาก ทนความร้อนได้เล็กน้อย ควรบรรจุด้วยวิธีบรรจุแบบอุ่น (Warm filled : 80-100 องศาเซลเซียส) สามารถทนความเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ เหมาะกับการบรรจุอาหารแช่เยือกแข็ง (frozen food)


PET : Polyethylene Terephthalate เป็นสารพอลิเมอร์ซึ่งสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิต PET นั้นได้จากอุตสาหกรรมน้ำมัน ทั้งนี้ความบริสุทธิ์ของสารตั้งต้นเป็นสิ่งสำคัญมาก และมีผลต่อคุณภาพของ PET โดยเฉพาะเมื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร มีความเหนียว ทนทาน มีความยืดหยุ่นต่อแรงกระทบกระแทก จึงไม่แตกเมื่อถูกแรงกดดัน ในเบื้องต้น PET ได้รับการคิดค้นขึ้นมาเพื่อการบรรจุน้ำอัดลม โดยเฉพาะสมบัติเด่นทางด้านความใสแวววับเป็นประกาย ได้รับความนิยมในการบรรจุน้ำมันพืชและน้ำดื่ม PET ในรูปแบบฟิล์มมีคุณสมบัติในการป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้เป็นอย่างดี จึงมีการนำไปเคลือบเพื่อทำเป็นซองสำหรับบรรจุอาหารที่มีความไวต่อก๊าซ เช่น ขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแช่เยือกแข็ง บรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ (vacuum packagine) ข้าวโพดคั่วในไมโครเวฟ (microwave popcorn) อาหารปรุงสุกสำหรับอุ่นแบบต้มทั้งถุง (boil in bag) เป็นต้น



สรุปได้ว่า : พลาสติกฟู๊ดเกรด (Food Grade) จึงมีความปลอดภัยในการบรรจุอาหารทั้งร้อน และเย็นได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่