3 ปี กับสร้างฝายชะลอน้ำ "การเดินทางแห่งมิตรภาพ"

‪#‎คนสร้างฝาย‬
‪#‎สร้างฝายเพื่อพ่อ
#สัตว์ป่า #สัตว์น้ำ #ต้นไม้ #จะขอบคุณเรา


จำได้ว่าจุดเริ่มต้นเกิดจาก "หัวใจที่อยากทำ"
ไม่มีความรู้ ลองผิดลองถูกเรื่อยมา ร่วมกับชุมชนปกาเกอญอบ้านกิ่วโป่ง
28 ธันวา 2013 คือจุดเริ่มต้นของการสร้างฝาย หลังจากนั้นก็ทำมาทุกปี บางปีก็ 2 ครั้ง รวมเบ็ดเสร็จจนถึงมีนาคม 2015 ก็ 5 ครั้ง ทำฝายทั้งหมดเกือบ 500 ฝาย ในการสร้างฝายแต่ละครั้งเน้นความร่วมมือชุมชนให้มีส่วนร่วม เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ พยายามปลูกฝังทุกอย่างให้รู้ เข้าใจ นำไปปฏิบัติ
"ที่ใดมีน้ำ ที่นั่นมีชีวิต"


ประมาณต้นเดือนมกราคม 2013 เกิดอาการเบื่อในงานที่ทำ ก็เลยลาพักร้อน 5 วัน นั่งเครื่องไปลงเชียงใหม่ ต่อรถสองแถวขึ้น อำเภอกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ตอนนั้นได้ข่าวว่าเป็นอำเภอใหม่ของประเทศ แทบไม่น่าเชื่อว่า สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ยังใสๆ อากาศดี คงวิถีชีวิตเดิมๆของชนเผ่าปกาเกอญอ มีโอกาสได้เที่ยว 3 วันเต็มๆ คลุกคลีกับชาวบ้าน จนวันก่อนกลับได้มีโอกาสได้เข้าไปในป่าอนุรักษ์และป่าต้นน้ำ เราถามผู้ใหญ่บ้านว่า ตอนนี้ชุมชนต้องการอะไร คำตอบที่ได้คือ อยากสร้างฝายชะลอน้ำ


หลังจากนั้นเรากลับมาทำงาน แต่เชื่อมั้ยว่า เราตัดสินใจลาออกจากบริษัท วันที่ 25 มกราคม 2013 เพราะเรามีอาการเบื่อกับงานที่ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว เราก็มาเปิดบริษัทเล็กๆ ทำธุรกิจส่วนตัว จนกระทั่ง เดือนตุลาคม 2013 เราและเพื่อนอีก 2 คน ก็คุยกันเล่นๆ จนลงเอยว่า จะขึ้นไปสำรวจพื้นที่ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2013 แล้วก็เริ่มมาทำฝายครั้งแรก 28 ธันวาคม 2013 ระดมทุน สิ่งของ จากเพื่อนๆ ทยอยส่งขึ้นไป (ค่าขนส่งบานตะไท) เพื่อใช้และแจกให้กับชาวบ้าน นั่นคือจุดเริ่มต้น เราทำฝายทุกปี บางปีก็ 2 ครั้ัง ตอนนี้ก็รวมๆประมาณ 500 ฝายน่าจะได้ ปีนี้เราก็จะทำอีก 2 พื้นที่

“ โครงการร้อยใจภักดิ์ รักษ์ป่า รักษ์ต้นน้ำ”
“กิจกรรมชุมชนรวมใจ สร้างฝายเพื่อพ่อ”
เฉลิมพระเกียรติครองราชย์ ๗๐ พรรษา มหาจักรีองค์ภูมิพล
วาระ๑ : ณ เคล่อกะโกล๊ะ บ้านกิ่วโป่ง หมู่๒ ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา
จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
วาระ๒: ณ บ้านนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙



อันนี้คือคลิปรวมในการทำฝายทั้งหมดที่ผ่านมา (จะมาทยอยเล่าเรื่องการทำฝายแต่ละครั้งให้ฟังกันนะ)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ใครว่างมาร่วมกันทำความดีถวายพ่อหลวงของแผ่นดิน มาร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ มีให้เลือกเดินทางมาร่วมงานกัน 2 ช่วงเวลา ปีนี้จะสร้างฝายชะลอน้ำ 70 ฝาย เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ ในชุมชนจะมาร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อความยั่งยืนของผืนป่าและต้นน้ำ สงกรานต์ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา สร้างฝาย เล่นสงกรานต์ในป่าต้นน้ำ รดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ตามวิถีชีวิตและ
ประเพณีปกาเกอญอ ส่วนปลายเดือนเมษาก็บ้านนอแล เรียนเชิญผู้สนใจมาร่วมกันทำความดีด้วยกันครับ
กิน อยู่แบบดอยๆ แล้วจะรู้ว่าหน้าร้อนอากาศหนาวเป็นยังไง


‪#‎วิถีคนกับป่า‬
"ชีวิตหนึ่งเกิดมา หัวใจแขวนไว้กับผืนดิน ผืนหญ้า ถ้าไม่มีผืนดินไม่มีต้นหญ้า ชีวิตก็อยู่ไม่ได้ ป่าดินต้องมีการดูแล มีการปกป้อง"
"คนที่อยู่ต้นน้ำก็เป็นคนของประเทศ เราต้องจัดการดูแลไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าคนข้างบนทำอะไรคนข้างล่างก็จะมีผลกระทบ"
ป่าที่มีอยู่ได้ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ขณะที่ป่าก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตก็ไม่เปลี่ยนแปลง ชุมชนเปี่ยมด้วยความดีงามจากข้างใน อยู่กับป่าพึ่งพาอาศัยกัน

ต้นไม้เพียงต้นเดียว ลำธารเพียงสายหนึ่งหรือใบไม้เพียงใบเดียว คงไม่สามารถดำรงชีวิตของมันให้เจริญงอกงามขึ้นมาได้ หากขาดซึ่งสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพราะป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดนั้นย่อมเป็นป่าที่เพียบพร้อมไปด้วยความเป็นหนึ่งเดียวและการพึ่งพาอาศัยต่อกันของระบบนิเวศน์ เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ต้องการน้ำไว้คงความชุ่มชื่น และแสงแดดในการปรุงอาหาร อีกทั้งเหล่าสัตว์ป่าและพืชพันธุ์อื่นๆ ที่ดำรงชีวิตโดยการพึ่งพาอาศัยต่อกัน และไม่อาจมีสิ่งใดเลยที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ภาวะโลกร้อน(Global Warming) เป็นปัญหาที่คนทั้งโลกพากันตระหนักและตื่นกลัวกัน ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ถือเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศอีกด้านหนึ่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ในปี ๒๕๕๙ นั้น อาจถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา ประกอบกับจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ฝนไม่ตกตรงตามฤดูกาล หรือตกมา แต่มีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าระดับปกติ ทำให้การกักเก็บน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ๆ สามารถกักเก็บได้ในปริมาณน้อย จึงได้นำพาความเสียหายมาสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคม ทั้งด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และด้านการเพาะปลูกของภาคเกษตร จากปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยกว่าค่าปกติในเกือบทุกภาคของประเทศ ได้ส่งผลต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่ สิ่งที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้โลกของเราลดการเกิดภาวะโลกร้อนและภัยแล้ง ได้อย่างไร กิจกรรมอันหนึ่งที่จะทำให้ผืนป่ามีความชุ่มชื้น ลดปัญหาไฟป่า ส่งผลที่ตามมาคือการดูดกลืนก๊าซคาร์บอนได อ๊อกไซด์ ลดอุณหภูมิอีกต่อหนึ่ง นั่นคือการสร้างฝายชะลอน้ำ

ดังนั้น เพื่อให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชน ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม การแสดงออกและได้ประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรม รู้เท่าทันและตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้และต้นน้ำ มีการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสมยั่งยืนนำไปสู่สภาวะดินดำน้ำชุ่ม ป่าไม้ พืชพรรณ สัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ และสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ปลอดมลภาวะ อยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสันติเกื้อกูลเกิดความสงบสุขร่มเย็น และสร้างความตระหนักรู้ของชุมชนในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อวิถีชีวิต ดังเช่น การร่วมมือร่วมใจฝายชะลอน้ำ เพื่อสร้างขวางทางไหลของน้ำบนลำธารขนาดเล็กไว้ เพื่อชะลอการไหล ลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ลดการชะล้างพังทลายของตลิ่ง เมื่อน้ำไหลช้าลง ก็มีน้ำอยู่ในลำห้วยนานขึ้น โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ลดการตื้นเขินที่ปลายน้ำ ทำให้น้ำใสมีคุณภาพดีขึ้น ช่วยให้ดินชุ่มชื้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต คืนพืชแก่เนินเขา/ภูเขาหัวโล้น ดินชื้น ป่าก็ชื้น กลายเป็นแนวกันไฟป่า ลดความรุนแรงของไฟได้ ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำอุปโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูกเพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ”

****จะมาทยอยเล่าเรื่องการทำฝายแต่ละครั้งให้ฟังกันนะ****
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่