ต่อยอดแผนรัฐส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า SETA 2016 ถกเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง

ต่อยอดแผนรัฐส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
SETA 2016 ถกเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง




      ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ปี 2559-2579 นำร่องด้วยกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 200 คัน พร้อมสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไว้รองรับเบื้องต้นจำนวน 4 สถานี ควบคู่ไปกับเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การสนับสนุนด้านภาษี และการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ว่า ในปี 2579 จะมียานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลจำนวน 1.2 ล้านคัน และสถานีอัดประจุครอบคลุมตามเมืองใหญ่ จำนวนประมาณ 690 สถานี

ทั้งนี้ เป็นจังหวะเดียวกับที่ในงานประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (Sustainable Energy & Technology Asia 2016 - SETA 2016) หรือ เซต้า 2016 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคมนี้ โดยการสนับสนุนของกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง จะมีการนำประเด็นการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง รศ.ดร. สิริวัชร์ ฉิมพลี จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเซาท์ แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา นักวิจัยชั้นนำของไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และมีผลงานการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจำนวนมาก จะมาร่วมบรรยายถึงหลักการออกแบบแผ่นท่อทางเดินเชื้อเพลิงแบบ 2 ขั้ว (Flow-field Bipolar Plates) สำหรับยานพาหนะที่ใช้เชลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicles) ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่จะเป็นตัวชี้ถึงต้นทุนทั้งหมดในการผลิตระบบเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นหัวใจของการทำการตลาดที่จะกระตุ้นการยอมรับและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้  

ดร.สิริวัชร์ กล่าวว่า ในงานเซต้า 2016 จะนำเสนอถึงแนวความคิดการออกแบบแผ่นท่อทางเดินเชื้อเพลิงสำหรับระบบ เชื้อเพลิงแบบ Proton exchange membrane fuel cells (PEMFCs) เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้ถึงขีดสุด และจะหยิบยกประเด็นการผลิตและการตลาดของเทคโนโลยีแผ่นท่อทางเดินเชื้อเพลิงแบบ 2 ขั้วที่ใช้กับระบบ  PEMFC ในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ขึ้นมาพูดคุยกันด้วย
ในงานเดียวกันนี้ ค่ายโตโยต้า จะนำเข้า ‘MIRAI’ รถยนต์แห่งอนาคตขับเคลื่อนโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้สัมผัสเทคโนโยลีแห่งความยั่งยืนอย่างใกล้ชิดอีกด้วย.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่