เบื้องลึกดีลเงินกู้ 'แจส' ริบหรี่ BBL บีบ 'อดิศัย' เซ็นค้ำ-สุดเอื้อมมือถือ 4G


เบื้องลึกดีลเงินกู้ 'แจส' ริบหรี่ BBL บีบ 'อดิศัย' เซ็นค้ำ-สุดเอื้อมมือถือ 4G
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

          เปิดเบื้องลึกเกม "แจส" ที่ปรึกษาการเงินตระกูลโพธารามิก "ชาญ บูลกุล" เผยแบงก์กรุงเทพยื้อออกแบงก์การันตี 7 หมื่นล้าน บีบ "อดิศัย โพธารามิก" เซ็นค้ำประกัน ยอมรับเวลาเหลือน้อย "โอกาสริบหรี่" แจงโครงการซื้อหุ้นคืนไม่เกี่ยวดึงพันธมิตรแค่ "มันนี่เกม" สร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ยันแม้แจสโดนยึดเงิน 600 ล้านไม่สะเทือน แถมดันราคาหุ้นเด้งขึ้น

          ธ.กรุงเทพยื้อ "อดิศัย" เซ็นค้ำ
          นายชาญ บูลกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ในฐานะที่ปรึกษาการเงินของกลุ่มจัสมิน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจาเงินกู้ และออกหนังสือค้ำประกันมูลค่ารวม 75,654 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายค่าใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาครั้งนี้ว่า กรณีนี้ตนเพิ่งเข้ามาช่วยช่วง 2 เดือนหลังจากชนะประมูลแล้ว เพราะช่วงก่อนประมูลทางเจ้าของก็ได้มีการเจรจาตกลงกับธนาคารกรุงเทพกันเป็นที่เรียบร้อย แต่พอผลประมูลออกมาชนะด้วยราคาใบอนุญาตสูงกว่าที่คาดมาก แบงก์กรุงเทพก็ยืนเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่แจสรับไม่ได้ก็คือ ต้องให้เจ้าของหรือนายอดิศัย โพธารามิก เซ็นค้ำประกันหนี้ทั้งหมด 100%

          "ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำไมเจ้าของที่ถือหุ้น 25% แต่ต้องมาค้ำหลักประกันทั้ง 100% อันนี้ถือว่าไม่แฟร์ ซึ่งเวลาเสียหายเจ้าของต้องรับผิดชอบ 100% แต่เวลาได้ ได้เพียง 25% ซึ่งในหลักการแบงก์ก็ต้องเอาหลักประกัน จะเป็นอะไรก็ได้ตามที่แบงก์ต้องการจนเป็นที่พอใจ ซึ่งทุกอย่างครบหมดแล้ว ก็เหลือเพียงแต่ลายเซ็นค้ำจากเจ้าของอย่างเดียว ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าแบงก์กรุงเทพอยากปล่อยกู้ แต่กลัว" นายชาญกล่าวและว่า

          โดยข้อเท็จจริงตอนนี้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ไม่ค่อยจำเป็นต้องมีบุคคล ค้ำประกัน แต่ดีลของแบงก์กรุงเทพส่วนใหญ่ ไม่ว่าอยู่หรือไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องการบุคคลมาค้ำประกัน

          โอกาสเหลือน้อย-หมดเวลา
          นายชาญกล่าวว่า หน้าที่ของเราคือมาช่วยเจรจาให้แบงก์ออกการันตีให้สำเร็จ เพราะเงินที่จ่ายใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาท ไม่มีปัญหา บริษัทแจสมีเงินเพียงพออยู่แล้ว แต่ที่ขาดตอนนี้คือแบงก์การันตี 6.7 หมื่นล้านบาท

          "ตอนนี้ก็ยอมรับว่าโอกาสเหลือน้อย เพราะว่าเจรจากันมานานขนาดนี้ แบงก์ก็ไม่ยอมถอย ฝั่งเจ้าของก็คงไม่ยอมเพิ่มหลักทรัพย์อะไร ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่ามูลค่า 6.7 หมื่นล้าน แบงก์กรุงเทพเจ้าเดียวก็ต้องเอาหลักประกันเยอะหน่อย ซึ่งเท่าที่เจรจาขณะนี้ยังไม่มีใครยอมถอย" นายชาญกล่าวและว่า

          ส่วนการที่จะหาแบงก์อื่นมาร่วมออกแบงก์การันตีเหมือนกรณีของกลุ่มทรู ตอนนี้ก็เปลี่ยนไม่ทันแล้ว เพราะหากเริ่มต้นใหม่ก็ต้องเสียเวลาอีกนาน เพราะโครงการใหญ่ขนาดนี้การเจรจาต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ และกรณีของกลุ่มทรู เป็นบริษัทใหญ่กว่าแจส และที่สำคัญมีกลุ่มไชน่าโมบายเป็นพันธมิตร ทำให้สามารถดึงธนาคารไอซีบีซีของจีนมาเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันรายใหญ่กว่า 3 หมื่นล้านบาท

          ต่อประเด็นที่ว่าหากแจสมีพันธมิตรเข้ามาจะช่วยให้แบงก์ปล่อยกู้ง่ายขึ้นหรือไม่ นายชาญกล่าวว่า ในส่วนของพันธมิตรตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่การเจรจาพันธมิตรไม่ง่าย เพราะมีรายละเอียดเยอะมาก เวลาที่เหลือคงไม่พอ ซึ่งตอนนี้เหลือแค่ 7 วัน ทำให้เป็นไปได้ยาก และพันธมิตรที่เข้ามาก็ต้องเป็นที่ยอมรับด้วย ซึ่งตนคิดว่าถ้ามีพันธมิตรชัดเจนแล้วทางกลุ่มโพธารามิกคงประกาศออกมาแล้ว

          "โอกาสตอนนี้เหลือน้อยลงทุกที นอกจาก ว่าทางเจ้าของจะเปลี่ยนใจยอมเซ็นค้ำประกัน"

          ซื้อหุ้นคืนแค่ "มันนี่เกม"
          นอกจากนี้นายชาญอธิบายถึงโครงการที่บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นคืนในสัดส่วน 20% ว่ากรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับที่หลาย ๆ ฝ่ายวิเคราะห์ว่าเป็นการเก็บหุ้นเพื่อเตรียมขายหุ้นเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับพันธมิตร แต่โครงการซื้อหุ้นคืนของแจส ถือว่าเป็นการจ่ายปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น เพราะที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นก็เสียหาย เพราะราคาหุ้นตกไปเยอะหลังชนะประมูล 4G โดยตอนนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 3 บาทกว่า แต่บริษัทรับซื้อประมาณ 5 บาท ผู้ถือหุ้นที่ขายก็ได้กำไร เหมือนเป็นการจ่ายปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาแจสก็มีโครงการซื้อหุ้นคืนมา 2-3 ครั้งแล้ว

          "หลังจากนี้ตามแผนแจสก็จะลดทุน เมื่อทุนลดลง กำไรต่อหุ้นของบริษัทก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าซื้อคืนและลดทุนลง 20% ก็จะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นทันที 20% ส่วนพี/อีหุ้นก็จะลดลงไป ซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นดีขึ้นด้วย ถือว่าได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีสิทธิ์ขายหุ้นในโครงการนี้เหมือนกัน แต่คิดว่าคงไม่ขาย วิธีการซื้อหุ้นคืนเป็นเรื่องปกติที่ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯทำกันอยู่ ตอนนี้ทุกอย่างเป็นมันนี่เกมหมดล่ะ ถ้าบริษัทมีกำไรสะสมเยอะ ก็มีโอกาสที่จะทำได้"

          โดนยึดเงิน 600 ล้านไม่สะเทือน
          นายชาญกล่าวต่อว่า กรณีที่แจสจะขอเลื่อนจ่ายเงินค่าคลื่นเป็นเรื่องลำบาก เพราะผู้ประกอบการรายอื่น ๆ คงไม่ยอม ตอนนี้มีเพียงจ่ายหรือไม่จ่ายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วแจสไม่สามารถหาแบงก์ การันตีได้ทันตามกำหนดก่อน 21 มีนาคมนี้ ก็ต้องไปดูสัญญาประมูล ซึ่งก็จะโดนยึดเงินมัดจำ 600 กว่าล้านบาท และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการจัดประมูลใหม่ ซึ่งถือว่าเล็กน้อย ส่วนที่จะไปส่งผลกระทบกับใบอนุญาตอื่นของบริษัทคงไม่มี เพราะเป็นการใช้บริษัทลูกเข้าประมูล

          ต่อคำถามที่ว่านายอดิศัย (โพธารามิก) จะรับได้หรือไม่ หากต้องยอมทิ้งใบอนุญาตและถูกยึดเงินมัดจำ นายชาญกล่าวว่า "อันนี้เป็นเรื่องธุรกิจ เมื่ออยากสู้ก็ต้องสู้เต็มที่ แต่เมื่อสู้ไม่ได้ก็ต้องยอม สำหรับเงินมัดจำ 600 กว่าล้านถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับกำไรที่จะได้จากการซื้อหุ้นคืน และหากที่สุดดีลล้มไปผู้ถือหุ้น JAS ก็คงเฮกันใหญ่ เพราะไม่มีภาระและมีโอกาสที่จะทำให้ราคาหุ้นเด้งกลับขึ้นไปได้ เพราะที่ผ่านมาราคาก็ร่วงแรงจากประเด็น 4G"

          สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าแจสมีการเจรจาขายไลเซนส์ให้ผู้ประกอบการรายอื่น นายชาญกล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีแนวคิด แต่จากการศึกษาข้อมูลแล้วคงไม่ได้ เพราะจะทำให้ผิดกฎ เพราะอาจเข้าข่ายนอมินี คือไม่ได้ตั้งใจประมูลมาทำเอง ซึ่งวิธีนี้ก็มีความเสี่ยงสูงและมีสิทธิ์โดนฟ้องร้องสูง

          "อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถ้าถามว่าจะหาแบงก์การันตีได้ทันไหม เราก็ไม่กล้าตอบ เพราะทุกอย่างอยู่ระหว่างการเจรจาและเป็นไปได้หมด ซึ่งหากมีฝ่ายใดยอมถอยก็จบ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นใครยอมถอย สมมุติเจ้าของบอกยอมเซ็นค้ำประกันก็จบ"

          ทั้งนี้นายชาญ บูลกุล ถือเป็นเซียนหุ้นแห่งยุค "ราชาเงินทุน" ซึ่งได้เข้าไปช่วยงานเป็นที่ปรึกษาการเงินให้กับนายอดิศัย โพธารามิก กลุ่มจัสมินมากว่า 19 ปี ตั้งแต่ที่เข้าไปช่วยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ จนถึงความสำเร็จในการออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท

          ลุ้นแจสได้เงินต่างประเทศ
          ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางแจส แต่มีผู้ใหญ่ในวงการระบุว่า แจสได้เงินทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุนแล้ว ซึ่งตนยังไม่ได้คอนเฟิร์มว่าจริงหรือไม่ คงต้องรอดูวันที่ 18 มี.ค.นี้ แจสจะติดต่อมาตามที่นัดหมายหรือไม่ รวมถึงจะสามารถจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นงวดแรก และวางแบงก์การันตีได้ทันตามกำหนดวันที่ 21 มี.ค.นี้หรือไม่

          ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีการส่งข้อมูล ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ JAS ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯเคยแจ้งนักลงทุนให้ติดตามข้อมูล ในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 4G เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านราคาประมูลที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็น JAS หลังจากนี้อาจจะให้ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องของตลาดหลักทรัพย์ฯ วิเคราะห์ต่อไปว่า ประเด็นดังกล่าวมีผลต่อธุรกิจมากน้อยแค่ไหน และสมควรที่ต้องประกาศแจ้งเตือนนักลงทุนหรือไม่


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 20)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่