กสทช.ยันแจสทิ้ง 4G ไม่กระทบธุรกิจ 3BB ซื้อหุ้นคืน 5 บาทไม่ขัดกฎหมาย


กสทช.ยันแจสทิ้ง 4G ไม่กระทบธุรกิจ 3BB ซื้อหุ้นคืน 5 บาทไม่ขัดกฎหมาย
ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

          “หมอลี่” น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการ กสทช. ยันหาก JAS ทิ้งใบอนุญาต 4G จะไม่กระทบกับธุรกิจเดิม เช่น “ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต” หรือ 3BB เหตุเป็นคนละนิติบุคคล แต่ยังไม่มีใครรู้ว่า JAS จะดำเนินการอย่างไรต่อ ด้านวงในเผยราคารับซื้อหุ้นคืนประมาณ 5 บาท ทำได้ ไม่ขัดทั้งกฎหมาย และเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ส่วน JASIF รับรางวัลดีลแห่งปี

          นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผ่านรายการ  "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" คลื่น FM 98.5 MHz ช่วงเช้าวันนี้ว่า หากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ไม่นำเงินมาชำระค่าใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ภายในวันที่ 21 มี.ค.นี้ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับใบอนุญาตอื่นๆ ที่กลุ่ม JAS เคยได้รับไปแล้ว เนื่องจากถือว่าเป็นคนละนิติบุคคลกัน หากผู้รับใบอนุญาตไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกอบกิจการก็ไม่สามารถไปริดรอนสิทธิได้

          สำหรับธุรกิจที่ทำรายได้หลักๆ ของ JAS คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด หรือ 3BB
          อย่างไรก็ตาม นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ากลุ่ม JAS จะไม่นำเงินมาชำระค่าใบอนุญาต เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขั้นตอนลับทางสถาบันการเงินก็คงยังไม่เปิดเผยข้อมูลออกมา

          สำหรับการที่ JAS เตรียมนำเงินที่มีอยู่มาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและซื้อหุ้นคืนนั้น อาจจะมองได้ 2 กรณี โดยกรณีแรกที่ถ้ากลุ่ม JAS ไม่นำเงินชำระค่าประมูลใบอนุญาต ก็อาจจะนำเงินมาประคองราคาหุ้นเป็นการทดแทน และกรณีที่สองที่มีการซื้อหุ้นคืน อาจจะเป็นการกระชับสัดส่วนผู้ถือหุ้นเพื่อไม่ให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลง หากมีผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาร่วมลงทุน

          "วินาทีนี้อ่านได้ 2 หน้าเหมือนเดิมไม่มีใครรู้ แต่เข้าใจว่าคนที่รู้จริงคือสถาบันการเงินทั้งหลายว่าขั้นตอนทันหรือไม่ทัน ถ้าไม่ทันแปลว่าอ่านได้เลยว่าที่จะซื้อหุ้นคืนแปลว่าอะไร คนอื่นไม่รู้คนอื่นเลยคิดแบบนั้นไม่ได้" นพ.ประวิทย์ กล่าว

          ส่วนกรณีดังกล่าวภายหลังจากที่กลุ่ม JAS จะชำระเงินหรือไม่ชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตดังกล่าวหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะถอดบทเรียนจากกรณีนี้ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งมาเข้าร่วมประมูลเพื่อดันราคาให้สูง แต่สุดท้ายไปเล่นเกมตลาดเงิน ตลาดทุน แล้วทำกำไรให้กับบริษัท และทิ้งใบอนุญาต ซึ่งในอนาคตกสทช.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร เพราะผู้เสียหายคือ ผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น และนักลงทุนรายย่อย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซื้อหุ้นคืนของ JAS ที่กำหนดราคาประมาณไว้ 5 บาทนั้น แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวยืนยันว่า หากพิจาณาจากกฎกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืน และหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ที่เกี่ยวกับการขอซื้อหุ้นคืน ก็สามารถใช้ราคาดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน เนื่องจากเป็นการขอซื้อแบบเป็นการทั่วไป หรือ General Offer หรือ GO

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต.ต้องจับตาเกี่ยวกับวิธีการขอซื้อหุ้นคืนของ JAS จะเป็นเรื่องที่ว่า การประกาศราคาดังกล่าวออกมา เป็นการ “ชี้นำราคา” หรือไม่ หากใช่ ก็อาจจะมีความผิดได้

          นอกจากนี้ ต้องมาดูด้วยว่า การซื้อหุ้นคืนของ JAS กระทบกับผู้ถือหุ้นอย่างไร รวมถึงมีผู้บริหารเข้าไปมีส่วนได้เสียกับราคาหุ้นด้วยหรือไม่

          วานนี้ราคาหุ้น JAS ปิดบวก 0.10 บาท มาที่ 3.66 บาท เปลี่ยนแปลง 2.81% มูลค่าการซื้อขาย 4,974 ล้านบาท

          JASIF รับรางวัลดีลแห่งปี
          ด้านนิตยสาร IFR ASIA ฉบับ IFR Asia Review of the Year 2015 รายงานว่ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ซึ่งจัดการโดยกองทุนบัวหลวง ได้รับรางวัล Thailand Capital Markets Deal of the Year หลังการเสนอขายหน่วยลงทุนของ JASIF ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาท หรือ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่นับส่วนผู้สนับสนุนจองซื้อ) ช่วยดึงนักลงทุนต่างประเทศให้กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่จ่ายเงินปันผล ทั้งที่ช่วงนั้นตลาดต้องเผชิญปัญหาการเมืองในประเทศ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังขาดความชัดเจน

          การเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกของ JASIF เป็น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โดยตรง

          เบื้องต้น JASIF ประกาศว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2556 แต่กลับต้องใช้เวลาในงานด้านกฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างกองทุนให้เหมาะสม การดำเนินงานทางการตลาดในเดือนตุลาคม 2557 ก่อนเปิดขายนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายศักยภาพของบริษัทอย่างมาก

          JASIF ซึ่งลงทุนในทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนเมื่อกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 3.7 พันล้านหน่วย (ไม่นับส่วนผู้สนับสนุนจองซื้อ) ที่ช่วงราคา 10.00-10.50 บาทต่อหน่วย ณ ราคาต่ำสุด 10 บาท โดยเสนออัตราผลตอบแทนประมาณการที่ 9%

          ด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงและคงที่ รวมทั้งศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาว ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนใน JASIF เป็นจำนวนมาก ต่างจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ผู้ถือหน่วยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนในประเทศ

          แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกจะยังไม่ชัดเจน แต่ JASIF ก็ฝ่าฟันจนบรรลุเป้าหมาย หน่วยลงทุนเกินกว่าครึ่งได้ขายให้กับนักลงทุนต่างชาติ ประมาณ 23% ถือโดยนักลงทุนเอเชีย 26% ถือโดยนักลงทุนอเมริกัน และ 2% ถือโดยนักลงทุนยุโรปและนักลงทุนตะวันออกกลาง ส่วนนักลงทุนไทยถือ 49% โดยผู้ถือหน่วยที่เป็นกองทุนต่างประเทศ 10 อันดับแรก ได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนประมาณ 70% ของหน่วยลงทุนที่เสนอขายในต่างประเทศ เมื่อพิจารณาแยกประเภทของนักลงทุนพบว่า กองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนระยะยาวถือครอง 51% เฮดจ์ฟันด์ถือครอง 48% และอีก 1% เป็นของบัญชีบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล

          JASIF พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าราคาของหน่วยลงทุนค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยซื้อขายในช่วงราคา 9-11 บาท ตั้งแต่เริ่มต้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

          ทั้งนี้ บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหน่วยลงทุน 33.33% บริษัท มอร์แกน สแตนลีย์ เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหน่วยลงทุนในต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศแต่เพียงผู้เดียว

          ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา JASIF เพิ่งได้รับรางวัล Achievement Awards ประจำปี 2015 จากนิตยสาร FinanceAsia อีกด้วย

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 27, 28)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่