เปิดธุรกรรมการเงิน ‘แจส’ เหลือแต่กระดูก จริงหรือ?


เปิดธุรกรรมการเงิน ‘แจส’ เหลือแต่กระดูก จริงหรือ?
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559


เปิดธุรกรรมการเงิน ‘แจส’ เหลือแต่กระดูก จริงหรือ?


          บริษัทในกลุ่มตระกูล”โพธารามิก” ยุค “พิชญ โพธารามิก”กุมบังเหียน เรียกได้ว่าใช้ตลาดทุนเป็นเครื่องมือระดมทุนเป็นหลักเพื่อสปริงบอร์ดธุรกิจ โดยมีบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)(บมจ.)( JAS) เป็นหัวหอก และแตกบริษัทในกลุ่มระดมทุนภายใต้ร่ม”กลุ่มJAS” และได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มที่”มั่งคั่ง”เข้าข่ายเศรษฐี


ธุรกรรมการเงินกลุ่ม บมจ.จัสมินปี 2558 – 2559


          การทิ้งไลเซ่นใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ของแจสโมบาย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยJAS โดยไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท มามอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นกรณีแรกในโลกที่มีการเบี้ยวจ่ายประมูล จนเป็นที่ครหาว่าทำให้ประเทศเสียหน้าครั้งใหญ่ และความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง

          ขณะที่ JAS ยอมให้ถูกริบเงินประกันประมูลจำนวน 644 ล้านบาท พร้อมแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทฯอย่างมีนัยสำคัญ

          กองทุนJASIF เงินสะพัด 5.9 หมื่นล้าน
          เมื่อไร่เรียงประวัติการทำธุรกรรมทางการเงินของกลุ่ม JAS จนถึงวันทิ้งไลเซ่นใบอนุญาต 4 จี ทั้งๆที่เป็นความฝันของพิชญ โดยพบว่าในช่วง 1 ปีมานี้ เงินสะพัดในกลุ่ม JAS ก้อนโต ไม่รวมราคาหุ้นที่บางช่วงเวลาก็วิ่งเป็นกระทิง

          ทั้งนี้ปี 2558 ตระกูลโพธารามิกได้ระดมทุนก้อนโต ด้วยการจัดตั้งและนำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าระดมทุน 5.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ JAS ถือหุ้นในกองทุนดังกล่าว 33 % ได้กำไรจาการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน 1.2 หมื่นล้านบาท

          ส่วนบริษัทลูก คือ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์(TTTBB) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์ 3 BBB ได้กำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ที่เป็นโครงข่ายไฟเบอร์ออพติคให้กับกองทุนJASIF กว่า 2 หมื่นล้านบาท

          ไม่แค่นั้น เมื่อกองทุนJASIF เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จ่ายปันผลต่อเนื่องรวม 4 ครั้ง เป็นเงินทั้งหมด 4.03 พันล้านบาท ขณะที่พบว่าจัดตั้งกองทุนได้เพียง 2 เดือน ก็ประกาศจ่ายปันผลทันที เบ็ดเสร็จในช่วงปีเศษเงินสะพัดทั้งในรูปการระดมทุนและการจ่ายเงินปันผลมากถึง 5.9 หมื่นล้านบาท


ธุรกรรมการเงินกลุ่ม บมจ.จัสมินปี 2558 – 2559


          ผู้ถือหน่วยยังต้องลุ้นอนาคต
          อย่างไรก็ตามหลัง JAS ทิ้งไลเซ่น 4 จี กองทุนJASIF ยังต้องลุ้นอนาคตตัวเอง ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะผู้บริหารกองทุนดังกล่าว ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า TTTBB เป็นคนละนิติบุคคลกันกับ แจสโมบาย และTTTBB มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคม อนึ่งหากสำนักงาน กสทช. พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติใบอนุญาตโทรคมนาคมของ TTTBB แล้วว่ามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน อาจจะมีผลกระทบต่อรายได้ของกองทุน ทั้งนี้เพราะ TTTBB เป็นผู้เช่ารายเดียวของกองทุน ซึ่งกองทุนก็จะพิจารณาหาผู้เช่ารายอื่นต่อไป

          มาฟังความเห็นของนักวิเคราะห์ โดยบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ระบุว่า สถานการณ์ของกองทุนฯมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เพราะต้องรอคณะกรรมการที่ กทค.หรือ กสทช.จัดตั้งขึ้นที่จะมาศึกษาเกี่ยวกับบทลงโทษ JAS ว่าจะเข้าไปเกี่ยวกับใบอนุญาตของ TTTB ซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของ JASIF และต้องใช้เวลาประมาณ 30 วันทีเดียว จึงคาดว่าในช่วงเวลานี้จะเป็นเรื่องค้างคา ต่อการลงทุนใน JASIF

          ในกรณีเลวร้าย (worst case scenario) ที่ TTTB ไม่สามารถเช่าโครงข่ายต่อไปได้ บล.ดีบีเอสฯเห็นว่าเป็นการยากที่จะหาผู้เช่ารายใหม่ที่จะใช้โครงข่ายใหญ่ขนาดนี้ และผู้ประกอบการรายอื่นๆส่วนใหญ่ก็มีโครงข่ายของตนเอง เช่น TRUE และ ADVANC จึงปรับลดคำแนะนำ”ซื้อ” เป็น “ถือ” และจะรอดูผลการตัดสินต่อไป แม้การจ่ายเงินปันผลที่สูงคือมากกว่า 10% อาจจะจูงใจผู้ที่รักความเสี่ยงให้เข้าซื้อก็ตาม

          ดูดปันผล-ซื้อหุ้นคืน : JAS เหลือแต่กระดูก
          อีกประเด็นที่เป็นข้อกังขาและสร้างเซอร์ไพรส์ให้สังคมชาวหุ้น คือ ขณะที่กำลังลุ้นระทึกกันอยู่ว่า JAS จะสามารถวิ่งชนเส้นตายจ่ายค่าประมูลงวดแรก 8 พันกว่าล้านบาท และหาแบงก์การันตีวงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท ได้หรือไม่ พร้อมทั้งเงี่ยหูฟังการเปิดตัวพันธมิตรใหม่นั้น ปรากฏว่า JAS แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าคณะกรรมการหรือบอร์ดมีมติซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินวงเงินสูงสุด 6 พันล้านบาท

          ความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่อกรณีดังกล่าว โดยบทวิเคราะห์บล. กสิกรไทย
ระบุว่า ค่อนข้างประหลาดในต่อแผนการซื้อหุ้นคืน เนื่องจาก JAS ยังไม่ได้จ่ายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยการซื้อหุ้นคืนน่าจะทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นต่อความสามารถในการจ่ายค่าคลื่น ซึ่งหาก JAS ไม่สามารถจ่ายค่าคลื่นได้ น่าจะสร้างความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจ รวมทั้งถูกฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย

          ขณะที่บทวิเคราะห์บล.ทิสโก้ ให้คำนิยม JAS ว่า ” เหลือแต่กระดูก” โดยระบุว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ JAS ได้ทำแบบนี้ (การซื้อหุ้นคืนครั้งสุดท้ายสิ้นสุดในวันที่ 18 ธ.ค. 2557) แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา JAS มีการซื้อหุ้นคืนในราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาด

          นอกจากนี้บทวิเคราะห์บล.ทิสโก้ ตั้งข้อสังเกตุว่า การที่ JAS ประกาศจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนภายใน 2 เดือนก่อนที่จะจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 4 จี และก่อนที่จะลงทุนในธุรกิจมือถือ ทำให้บริษัทจะเสียเงินสดแทบทั้งหมด (เงินสดและเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง 9.1 พันล้านบาท)

ลุ้น “ซื้อหุ้นคืน” ได้หรือไม่
          อีกมุมมองที่น่าสนใจต่อประเด็นการซื้อหุ้นคืนของ JAS โดยบล.ดีบีเอส วิเคอร์ส ฯตีประเด็นเรื่องการซื้อหุ้นคืนของJAS ว่า ไม่ค่อยเห็นนักที่บริษัทจะใช้ราคารับซื้อหุ้นคืนที่ย้อนหลังไปถึง 1 ปี ในกรณีปกติมักจะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน ขณะที่การซื้อหุ้นคืนแบบทั่วไปอาจไม่ได้กำหนดเกณฑ์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับราคาที่รับซื้อคืน แต่หากตลาดฯกำหนดว่าให้บริษัทกำหนดราคาเฉลี่ยย้อนหลังได้เพียง 30 วัน ราคารับซื้อคืนจะเป็น 2.96 บาทต่อหุ้นเท่านั้น

          อีกประเด็นที่น่าสนใจและต้องเกาะติด คือ ตามเกณฑ์”คู่มือการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (มิ.ย.2554 ) ได้ระบุว่าบริษัทต้องมีคุณสมบัติประการหนึ่งว่า มีกำไรสะสม โดยการซื้อหุ้นคืนจะทำได้ไม่เกินวงเงินสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการ ซึ่งในงวดสิ้นปี 2558 JAS มีเพียง 2.3 พันล้านบาท ขณะที่จะใช้เงินประมาณ 6 พันล้านบาท ในการซื้อหุ้นคืนก็จะไม่เพียงพอ อีกทั้งบริษัทได้ประกาศปันผลล่าสุดที่ 0.30 บาทต่อหุ้น หรือ 2.14 พันล้านบาท ไปแล้ว แต่ยังกำหนดวันจ่ายปันผล หากหักส่วนนี้ไป กำไรสะสมก็ยิ่งลดลง

          ต่อประเด็นข้างต้น บล.ดีบีเอสฯยังตั้งข้อสงสัยว่า JAS ยังจะสามารถทำการซื้อหุ้นคืนได้อีกหรือไม่
นอกจากนี้มีเกณฑ์อีกหนึ่งข้อ คือ การซื้อหุ้นคืนต้องไม่มีลักษณะเป็นการผลักดันราคา หรือทำให้ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเปลี่ยนแปลงผิดไปจากสภาพปกติของตลาดฯ แต่การที่JAS ประกาศราคาซื้อหุ้นคืนที่ประมาณ 5.00 บาทนั้น ทำให้ราคาหุ้น ณ วันประกาศ มีการเคลื่อนไหวแกว่งตัวอย่างผิดปกติมาก

          ในประเด็นนี้ บล.ดีบีเอสฯจึงมีความสงสัยว่าตลาดฯจะตีความว่าเป็นการผลักดันราคาได้หรือไม่ หากได้ก็จะทำให้การซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ล้มเลิกไป

อนึ่งการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 6 พันล้านบาท และจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.14 พันล้านบาท JAS กำหนดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติในวันที่ 29 เมษายน 2559 เวลา 10 : 30 น. พร้อมระบุว่าเงินที่จ่ายปันผลมาจากกำไรสะสม

          ทั้งหมด คือ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มJAS ในรอบ 1 ปีเศษ ทั้งก่อนโดดเข้าร่วมประมูลและหลังคว้าไลเซ่น 4 จี คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จนนำมาสู่การสร้างปรากฏการณ์ระดับโลก”เบี้ยวค่าประมูล”


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน พ.ศ. 2559 (หน้า 4)
ภาพประกอบจาก Website thansettakij.com
http://www.thansettakij.com/2016/03/30/41449

ข่าวอื่นๆ
ทีวีดิจิตอล ล้มเหลว?
http://ppantip.com/topic/34991019
'ทรู' เชื่อรายย่อยแห่ใช้สิทธิเต็มซื้อหุ้น 'เพิ่มทุน'
http://ppantip.com/topic/34991048
"อินทัช" แต่งตั้ง "ฟิลิป เชียง ชอง แทน" นั่งซีอีโอ ขับเคลื่อนองค์กรในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี
http://ppantip.com/topic/34991698
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  JAS (หุ้น) บริษัทหลักทรัพย์ การเงิน การลงทุน 4G
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่