ทำไมสมัย ร.1 ถึงปราบดาฯง่าย และไม่ค่อยมีเขียนถึงกบฎที่มาต่อต้าน

กระทู้คำถาม
ด้วยเหตุที่ว่าสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาฯขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทำไมจึงไม่มีการกล่าวถึงเรื่องการต่อต้านการปราบดาฯเลย ทั้งๆที่ควรมีผู้มีอำนาจในสมัยนั้น ไม่ควรนิ่งเฉยอยู่แล้ว ผมเห็นว่าน่าสนใจมาก จึงอยากชวนเพื่อนพี่น้องในห้องประวัติศาสตร์ทุกท่าน ร่วมแบ่งปันข้อมูลและแสดงความคิดเห็นทีครับ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 4

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร


เราอาจจะต้องพิจารณาถึงสถานะของรัชกาลที่ ๑ ในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีครับ

รัชกาลที่ ๑ เป็นแม่ทัพมีความชอบในการสงครามหลายครั้ง  ทำให้สั่งสมฐานอำนาจขึ้นมาตามลำดับ จนได้เป็นสมุหนายก แล้วได้เป็น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" (พงศาวดารฉบับเก่าเขียนว่าเป็นเพียง 'เจ้าพระยา'  มีหลักฐานว่าก่อนรัชกาลที่ ๔ ว่า 'สมเด็จเจ้าพระยา' อาจเป็นคำลำลองสำหรับเจ้าพระยาที่ได้รับเกียรตินศเป็นพิเศษ) มีอิสริยยศเสมอเจ้าต่างกรมสูงกว่าขุนนางทั้งปวง  นอกจากนี้ยังมีสถานะเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ด้วย

การเป็นทั้งแม่ทัพและเป็นสมุหนายกที่ดูแลกรมมหาดไทยที่เป็นกรมใหญ่ที่ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทำให้มีอำนาจและไพร่พลในสังกัดมา   อาจเพราะเหตุนี้จึงดึงดูดให้ขุนนางอื่นๆ เข้ามาสร้างเครือข่ายเกี่ยวดองทางอำนาจ ซึ่งพบหลักฐานว่ารัชกาลที่ ๑ มีการเกี่ยวดองผ่านการแต่งงานกับกลุ่มขุนนางครั้งกรุงเก่ารวมไปถึงจากเจ้าประเทศราช และยังมีข้าราชการในสังกัดมหาดไทยหลายคนที่มีส่วนในการยึดอำนาจพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย   บวกกับบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่าขุนนางอื่น  ทำให้รัชกาลที่ ๑ กลายเป็นเสนาบดีที่มีอำนาจบารมีสูงสุดในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีครับ     อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิจารณ์ว่ารัชกาลที่ ๑ เปรียบเสมือนกับศูนย์กลางอำนาจของขุนนางกรุงเก่าในเวลานั้น


มีการศึกษาด้วยว่า อำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรีน่าจะน้อยลงในปลายรัชกาล  เพราะเดิมนโยบายการปกครองของพระเจ้ากรุงธนบุรีคือทรงแต่งตั้งข้าหลวงเดิมที่ทรงไว้ใจใช้สอยมาตั้งแต่แรกไปปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าพระยาสวรรคโลก เจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธร พระยาสุโขทัย (พระเชียงเงินท้ายน้ำ) พระยาพิชัยดาบหัก  ขุนนางกลุ่มนี้หลายคนมีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” ในขณะที่อัครมหาเสนาบดีหรือจตุสดมภ์ในกรุงมักเป็นแค่ “พระยา”  และมีไพร่พลในสังกัดมากกว่า  เป็นไปได้ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีอาจต้องการลดจำกัดอำนาจเสนาบดีในกรุงที่เป็นขุนนางเก่ามาก่อน และไม่ได้เป็นข้าหลวงเดิมที่ทรงไว้วางพระทัย

แต่เมื่อเวลาผ่านไปขุนนางที่เป็นข้าหลวงเดิมเริ่มล้มตายกันไป จนกระทั่งศึกอะแซหวุ่นกี้ทำให้ต้องทิ้งร้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทำให้ไพร่พลในหัวเมืองฝ่ายเหนือจึงถูกกวาดต้อนมายังภาคกลางมากขึ้น  ทำให้อำนาจในการบัญชาการไพร่จึงตกมาอยู่ที่ขุนนางส่วนกลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัชกาลที่ ๑ มีอำนาจมากขึ้น อีกทั้งเจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองเอกของหัวเมืองเหนือก็เป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ ๑ เอง


มีกรณีน่าสนใจที่น่าจะบ่งบอกถึงอำนาจบารมีของรัชกาลที่ ๑ ในช่วงปลายรัชกาลคือ เมื่อเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่พระธิดาของรัชกาลที่ ๑ ประสูติพระโอรสคือเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีว่ามีการ “ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องไชย” ซึ่งจะใช้เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเท่านั้น ทั้งที่รัชกาลที่ ๑ ทรงเป็นสามัญชน แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกให้เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์เป็นเจ้าฟ้าแต่กำเนิด  นอกจากนี้ในงานศพเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ก็ให้ทำเมรุชั้นเจ้าฟ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เหมือนกับจะเป็นการบอกว่าเป็นการให้เกียรติรัชกาลที่ ๑ ผู้เป็นบิดาเสมอ “เจ้า”  (ดังที่เห็นว่าก่อนหน้านั้นให้เลื่อนเป็น ‘สมเด็จเจ้าพระยา’) และในสงครามไปตีกัมพูชาครั้งสุดท้ายในรัชกาล พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงต้องการให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระโอรสครองราชย์ในกรุงกัมพูชาต่อไป แทนที่จะให้เสวยราชย์ในกรุงธนบุรี ทั้งนี้มีสันนิษฐานว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องการให้เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ได้ครองราชสมบัติในกรุงธนบุรีแทน  

มีการวิเคราะห์ว่าทั้งการเลื่อนบรรดาศักด์ และการวางตัวเจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ให้รับราชสมบัติ เป็นรูปแบบหนึ่งของประนีประนอมทางอำนาจ โดยอาจเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตระหนักว่ารัชกาลที่ ๑ มีฐานอำนาจบารมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเป็นภัยคุกคามกับพระองค์ได้


จลาจลสมัยปลายธนบุรี
พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม


ในช่วงการเกิดจลาจลที่ธนบุรี (พระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์อ้างว่า จลาจลดังกล่าวเกิดจากการเมืองของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างกรณีพันศรีพันลา การลงโทษพระราชาคณะ กรณีพระยาวิชิตณรงค์ข้าหลวงไปขูดรีดที่กรุงเก่า) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นจอมพลทัพหลวงยกไปตีกัมพูชา จึงน่าจะมีกำลังทหารมากที่สุดในตอนนั้น นอกจากนี้ยังมีกองกำลังของพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมาผู้เป็นหลานคอยคุมเชิงอีกด้วย เมื่อเกิดเหตุจลาจล พระเจ้ากษัตริย์ศึกให้พระยาสุริยอภัยคุมกำลังลงไปธนบุรีก่อน แล้วจะยกทัพตามไป ส่วนตัวสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเองก็ทรงดำเนินการโดยการร่วมมือกับเขมรและญวนให้กรมขุนอินทรพิทักษ์กับกรมขุนรามภูเบศซึ่งร่วมทัพมาด้วยกันไม่ให้กีดขวางพระองค์ได้

        "ฝ่ายเจ้าพญามหากระษัตรศึก เมื่อให้พญาสุริยอะไภยมาแล้ว จึ่งแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินอันเปนจุลาจล ให้คนสนิจถือลงไปแจ้งแก่เจ้าพญาสุรศรี ซึ่งลงไปตั้งทับอยู่ ณะ เมืองพนมเปน ให้กองทับเขมรพญายมราช เข้าล้อมกรมขุนอินทรพักษ์ไว้อย่าให้รู้ความ แล้วให้เลีกทับกลับเข้าไป ณะ กรุงโดยเรว แล้วให้บอกไปถึงพญาธารมา ซึ่งตั้งทับอยู่ ณะ เมืองกำพงสวาย ให้จับกรมขุนรามผู้เบศจำครบไว้ แล้วให้เลีกทับตามเข้ามา ณะ กรุงธนบูรี" - พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน

        "ณวัน ๒ฯ๖ ค่ำ เพลา ๕ โมงเช้า เจ้าพญาศรศรีซึ่งเปนสมเดจ์พระอะนุชาธิราช ล่าทับมาจากกรุงกำภูชาธิบดี กราบทูลว่า กรมขุนอินทรพิทักษ ขุนฉะนะตั้งอยู่เกาะพนมเพง ๒๐๐๐ ให้เขมร ๓๐๐๐๐ ญวน ๘๐๐๐ ล้อมไว้ ครั้น ณวัน ๑ฯ๖ ค่ำสมเดจ์พระอะนุชาธิราชจึ่งชุมพล ๖๐๐๐ เศศแยกกันออกเปนหลายกอง ไปล้อมจับขุนอินทรพิทักษ์ ได้ที่ตำบลเฃาน้อยไกล้ปัถะหวีทั้งขุนชะนะและพักพวกเปน ๗ คนกุมลงมาณกรุงธณบูรีย์" - พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายของรัชกาลที่ ๑ รวมตัวกันหาสมัครพรรคพวกจะมาตีกรุงธนบุรี เช่น กลุ่มของเสมียนปิ่น (ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพลเทพสมัยรัชกาลที่ ๑) กลุ่มของนายบุญนากบ้านแม่ลา (ไม่ได้เกี่ยวกับตระกูลบุนนาค) ขุนชนะ ขุนสุระที่กรุงเก่า ซึ่งเตรียมการจะยกรัชกาลที่ ๑ เป็นกษัตริย์แทน ได้สังหารพระยาวิชิตณรงค์ข้าหลวงที่มารีดทรัพย์ในกรุงเก่า แล้วรวบรวมกำลังจะไปตีเมืองธนบุรีเป็นกลุ่มแรก  นอกจากนี้พระยาสรรค์ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีส่งมาปราบกบฏแปรพักตร์ ทำให้กำลังของกบฏเพิ่มขึ้น

การที่กบฏสามารถตีธนบุรีได้ไม่ยากเย็นส่วนหนึ่งก็คงเพราะพระยาสรรค์หักหลังพระเจ้ากรุงธนบุรี นอกจากนี้คงเพราะกองกำลังส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปตีเขมรหมดแล้วทำให้ไม่มีกำลังป้องกันเมืองได้มากพอ ดังระบุในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีว่า "ผู้คนบางเบาร่วงโรยนัก" พระเจ้ากรุงธนบุรีเองคงจะยอมรับว่าทรงสู้ไม่ได้จึงรับสั่งกับพระยารามัญวงศ์ พระยามหาอำมาตย์ พระยาธิเบศร์ที่ตอนแรกจะสู้ตายกับพวกกบฏว่า "สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย"



แต่รัชกาลที่ ๑ ไม่ได้ขึ้นครองราชย์โดยสะดวก  เดิมเมื่อพระยาสุริยอภัยมาถึงกรุงธนบุรีได้ทำข้อตกลงกับพระยาสรรค์ว่าจะรอรัชกาลที่ ๑ กลับมาครองราชย์ แต่ระหว่างนั้นพระยาสรรค์เกิดกลับใจมารบกลางเมืองกับพระยาสุริยอภัย (พระราชพงศาวดารระบุว่าพระยาสรรค์จะเอาราชสมบัติเอง) จึงปล่อยพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม มาช่วยรบ นอกจากนี้ขุนนางธนบุรีที่เคยต้านพระยาสรรค์มาก่อนอย่างพระยามหาอำมาตย์ พระยารามัญวงศ์ก็กลับใจมาช่วยพระยาสรรค์เช่นเดียวกัน จึงมีการวิเคราะห์ว่าท้จริงพระยาสรรค์อาจยังภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี  หรือไม่ก็อาจหวังใช้ผู้ที่ภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นเครื่องมือชิงอำนาจกับรัชกาลที่ ๑


สงครามกลางเมืองระหว่างฝั่งพระยาสุริยอภัยกับฝั่งพระยาสรรค์
พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม


แต่สุดท้ายพระยาสุริยอภัยเป็นฝ่ายชนะ กรมขุนอนุรักษ์สงครามกับข้าหลวงพรรคพวก ๔๐ กว่าคนถูกจับ หลายคนเป็นขุนนางผู้ใหญ่เป็นคนที่อยู่ข้างพระเจ้ากรุงธนบุรีมาก่อนอย่างพระยารามัญวงศ์ พระยามหาอำมาตย์ พระมหาเทพเหนือ หลวงคชศักดิ์ ราชรินทร์เหนือ ถูกจับไปประหารทั้งหมด เว้นแต่กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งให้การซัดทอดพระยาสรรค์ พระยามหาเสนา พระยารามัญวงศ์ พระยาวิชิตณรงค์ หลวงพัศดีกลาง ต่างถูกประหารทั้งหมด

นอกจากนี้เมื่อเจ้าพระยาสุรศรีกลับมาแล้วและได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ "ดำรัสปรึกษาราชการแผ่นดินด้วยกันแล้ว เสด็จออกจากที่เฝ้า ให้ตำรวจไปจับตัวข้าราชการทั้งปวง บรรดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน ให้ประหารชีวิตเสียสิ้นทั้งแปดสิบคนเศษ"

ภายหลังเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ถูกจับกลับมาจากเขมร รัชกาลที่ ๑ จะทรงเลี้ยงไว้เพราะเห็นว่าไม่มีความผิด แต่กรมขุนอินทรพิทักษ์ขอตายตามบิดา เลยถูกประหารพร้อมพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมาคนเก่า บรรดาพระเจ้าลูกเธอผู้ชายที่โตๆของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ถูกจับสำเร็จโทษหมด แล้วก็รวมพระยาพิชัยดาบหักที่ขอตายตามพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย รวมๆแล้ว ขุนนางธนบุรีที่ถูกประหารชีวิตก็น่าจะเกือบ ๑๕๐

นอกจากนี้ตำแหน่งข้าราชการทั้งวังหลวง วังหน้า หัวเมืองถูกเปลี่ยนแทบทั้งหมดซึ่งรวมๆแล้วก็หลายร้อยตำแหน่ง เสนาบดีที่ขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นข้าหลวงเดิมของรัชกาลที่ ๑ กับกรมพระราชวังบวรฯ หรือไม่ก็เป็นคนที่มีความชอบในการตีกรุงธนบุรีอย่างหลวงสรวิชิต (ภายหลังคือเจ้าพระยาพระคลัง (หน)) ที่คอยส่งข่าวให้รัชกาลที่ ๑ หรือนายบุญนากบ้านแม่ลา หลวงชนะ หลวงสุระที่เป็นต้นคิดยกกำลังมาตีกรุงธนบุรีล้วนได้เลื่อนเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งสิ้น ข้าหลวงเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีถ้าไม่ถูกประหารก็คงจะถูกปลดออกหมดตามสภาพปกติเวลาเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ซึ่งคงไม่เอาคนที่ยากแก่การไว้ใจมาใช้สอยครับ

ดังนั้นแล้วเมื่อกลุ่มการเมืองของพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกำจัดเกือบหมดแล้ว  จึงทำให้รัชกาลที่ ๑ ทรงอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ และคงไม่มี “ผู้มีอำนาจในสมัยนั้น” ที่จะมีอำนาจบารมีเสมอรัชกาลที่ ๑ ได้แล้วครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่