ไพลิน รุ้งรัตน์ (ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ) แนะนำการเขียนเรื่องสั้น

สนทนาประสาเรื่องสั้น
‘ไพลิน รุ้งรัตน์"
...........................
เรื่องสั้นเป็นเวทีสำหรับการเกิดของนักเขียนมาเป็นจำนวนมาก
อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เคยกล่าวไว้ทำนองว่า
นักเขียนมือใหม่อย่าชกนาน เพราะแรงอึดไม่พอ
นั่นหมายความว่า การเริ่มต้นการเขียน นักเขียนก็ควรเริ่มต้นด้วยงานที่สั้น ๆก่อน
งานเขียนประเภทเรื่องสั้นจึงเป็น”ทางเกิด”ของนักเขียนส่วนใหญ่
แต่หลังจากเขียนเรื่องสั้นจนเกิดเป็นนักเขียนเต็มตัวแล้ว
นักเขียนทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนนวนิยายก็มักจะโอดครวญกลับอีกครั้งว่า
เรื่องสั้นเขียนยาก หรือพูดให้ชัดลงไปก็ดี เรื่องสั้นเขียนให้ดียาก ประเด็นนี้จึงน่าถกเถียงยิ่ง

ง า น เ ขี ย น ยื ด ห ยุ่ น ไ ด้

การเขียนเรื่องสั้นไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว
แม้จะมีการเรียนการสอนในสถาบันถึงเรื่องหลักเกณฑ์ในการเขียนเรื่องสั้นที่ว่า
มีแก่นเรื่องเดียว มีโครงเรื่องเดียว มีตัวละครน้อย มีเหตุการณ์เดียว และมีความยาวจำกัด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ตายตัว จนถึงกับละเมิดไม่ได้

นักเขียนเรื่องสั้นสมัยใหม่เป็นจำนวนมากไม่อยากเขียนเรื่องสั้นตามหลักเกณฑ์นั้นอีกต่อไป
และพยายามสร้างรูปแบบใหม่ ๆมาท้าทาย จนบางครั้งนักอ่านเรื่องสั้นถึงกับต้องออกอุทานว่า
“นี่มันอะไรกันหว่า” เพราะอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง แต่นั่นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
แต่รูปแบบที่ว่านี้ไม่ใช่สักแต่ว่า“ไม่รู้เรื่อง”เท่านั้น
หากผู้เขียนต้องมี ”ฝีมือ” ที่ทำให้คนอ่านตระหนักได้ชัดถึ ง”ความไม่รู้เรื่อง” ที่เกิดขึ้นโดยจงใจ
ซึ่งต่างจากความไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นจากคนที่เขียนไม่เป็นเป็นอันมาก

อ ย่ า ง ไ ร ไ ม่ ใ ช่ เ รื่ อ ง สั้ น

มีนักเขียนมือใหม่เป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าเรื่องสั้นเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่เขียนสั้น ๆ
ดังนั้นจึงเล่าเรื่องและบอกกล่าวเอาดื้อ ๆ กึ่งจะเป็นเรียงความหรือบทความสั้น ๆ
แต่มิใช่”เรื่องสั้น”ที่เรียกกันว่า SHORT STORY

บางครั้งนักเขียนมือใหม่ก็ทำได้แค่เพียงการเล่าบอกประสบการณ์การเดินทางหรือการใช้ชีวิต
โดยผู้เขียนเองยังมิได้กลั่นกรองความเข้าใจชีวิตให้แยบยลพอที่จะเป็น ”เรื่องสั้น” เพื่อให้ประทับใจคนอื่น
ดังนั้น การเล่าจึงเป็นแบบของการเล่าไปเรื่อย ๆ ตามวันเวลาที่เกิดขึ้น หรือการบันทึก
หรือการใส่ข้อมูลจริงละเอียดยิบแบบเดียวกับสารคดี หรือกล่าวอีกทีก็คือสารคดีนั่นเอง
แต่เป็นสารคดีที่ผู้เขียนพยายามใช้รูปแบบของเรื่องสั้น

ส อ ง ส่ ว น ที่ ล ง ตั ว

สมัยหนึ่ง เมื่อกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตได้รับการขานรับอย่างเกรียวกราว
มีการตั้งคำถามกันในหมู่คนวรรณกรรมว่า เนื้อหาของเรื่องสำคัญหรือรูปแบบของเรื่องสำคัญ
ถ้ามีคนเขียนเรื่องสั้นมาเรื่องหนึ่ง เนื้อหาดีมากแต่รูปแบบใช้ไม่ได้
คุณจะพิจารณาตัดสินว่าเขาเขียนเรื่องดีหรือไม่ดี

คำตอบในสมัยวรรณกรรมเพื่อชีวิตในระยะแรกอาจสวนกลับมาทันทีว่า
ดีสิ เพราะเนื้อหาดี รูปแบบไม่ดีก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่เมื่อแวดวงวรรณกรรมบ้านเราคลี่คลายไป สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป
คำว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตก็ปรับตัวไปเป็นวรรณกรรมชีวิต หรือวรรณกรรมแห่งชีวิต
และปัญหาที่ถกเถียงกันว่า เนื้อหา หรือรูปแบบเป็นตัวตัดสินคุณค่าของเรื่องก็ปรับใหม่

นักวิชาการทางวรรณกรรมหลายคนยืนยันว่า
เนื้อหาและรูปแบบไม่สามารถแยกออกจากกันได้

คำว่ารูปแบบในที่นี้ก็คือ คำว่ากลวิธีในการนำเสนอ มากกว่าจะเป็นประเภทของการประพันธ์
ซ้ำยังมีการอภิปรายเข้มข้นขึ้นไปอีกว่า หากรูปแบบหรือกลวิธีในการนำเสนอไม่ดี หรือไม่ถึง
นักอ่านย่อมไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาของเรื่องได้

นั่นแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของเนื้อหาและกลวิธี
ที่ไม่สามารถแยกออกมาได้เหมือนเปลือกกับเนื้อ
หากแต่มันคืออาหารที่ปรุงแล้วที่รวมกันจนไม่มีเปลือกไม่มีเนื้อ
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คนปรุงมีความสามารถแค่ไหนในการปรุงให้อาหารออกมาอร่อย
หากคุณไม่มีกลเม็ดเด็ดพรายก็จะออกมาเป็นอาหารพอกินได้
แต่วัสดุที่ปรุงสดใหม่ ก็อาจทำให้อร่อยได้
แต่ถ้าหากวัสดุที่ปรุงไม่สดไม่ใหม่ ซ้ำยังปรุงไม่เป็นอีก ก็ย่อมหมดความอร่อย

เรื่องสั้นเป็นงานเขียนที่ต้องใช้ความสามารถในการประกอบเรื่องอย่างน่าอัศจรรย์
เพราะทั้งต้อง ”มีเนื้อสาร” และต้องมี ”รูปแบบทางวรรณศิลป์” ไปพร้อมกัน
ในขณะเดียวกันการประกอบเข้ากันทั้งสองส่วนนั้นก็ไม่อาจบอกได้ตายตัวแน่นอน
ขึ้นอยู่กับเรื่องที่เขียน และผู้ที่ประกอบเรื่องจะเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่า ”ความลงตัว” อยู่ตรงไหน
โดยมีคนอ่านเป็นผู้ตัดสินในที่สุด

บางครั้งคนเขียนเรื่องสั้นจึงต้องมีจินตนาการ
และหาสัญลักษณ์หรือความเปรียบมาสร้างเรื่องลวงคนอ่าน
เพื่อนำคนอ่านไปสู่ความเข้าใจสาระของเรื่องอย่างลึกซึ้งในที่สุด

ข น า ด ข อ ง เ รื่ อ ง สั้ น

ขนาดของเรื่องสั้นเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันเสมอ
บางตำราบอกว่าเรื่องสั้นมีความยาวประมาณ 10,000 คำ
หรือบางคนก็ใช้จำนวนหน้าและขนาดของหน้ากระดาษเป็นหลัก
รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ซึ่งประกาศประกวดเรื่องสั้นประกวดประจำปี 2546
ได้กำหนดขนาดของเรื่องสั้นไว้ประมาณ 5-8 หน้า เอ.4
ซึ่งเป็นขนาดความยาวที่ที่นิยมในแวดวงวรรณกรรมไทย
แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยาวหรือสั้นกว่านี้ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดของเรื่องสั้นฝรั่ง (ตามที่สังเกต) มักจะยาวกว่า 5-8 หน้า
อาจยาวไปจนถึงขนาดที่กลายเป็นเรื่องยาวขนาดสั้นไปเลย
ดังเช่น เรื่องสั้นชื่อ ความตายของอีวาน อิลิช ของ ลีโอ ตอลสตอย
นักเขียนชาวรัสเซียซึ่งถือเป็นนักเขียนระดับโลก
มีความยาวเท่ากับนวนิยายขนาดสั้น
สามารถแปลเป็นภาษาไทยและพิมพ์เป็นเล่มออกมาความยาวขนาด
แปลเป็นภาษาไทยแล้วยาวเป็น 100 หน้า

วั ต ถุ ดิ บ ชี วิ ต

การเลือกเรื่องมาเขียนเป็นปัญหาสำคัญของนักเขียนใหม่ ๆ
เพราะมักจะมีเสียงโอดโอยเสมอว่าไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียน
ไม่มีแรงบันดาลใจ หรือมีแรงบันดาลใจแล้วแต่อ้างว่าเขียนไม่ได้
แต่แท้จริงแล้วเป็นเพราะไม่รู้วิธีในการ ”หยิบ” เรื่องที่อยู่ใกล้ ๆตัวมาเขียนนั่นเอง
กล่าวคือ มองเท่าไรก็มองไม่ออกว่ามันจะเป็น ”เรื่อง” ให้เขียนไปได้อย่างไร
ตรงกันข้ามกับนักเขียนบางคนที่ถูกนักอ่านล้อเลียนเสมอว่า
เขียนได้หมดทุกเรื่องที่เห็น แม้แต่เรื่องเล็ก ๆน้อย ๆ

นักเขียนเรื่องสั้นหนุ่ม (ไม่) น้อยคนหนึ่งนาม นิรันศักดิ์ บุญจันทร์
ที่ถนัดในเรื่องนิยายวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ได้เคยเอ่ยแนะนำไว้บนเวทีอภิปรายว่า
“ถ้าไม่มีเรื่องอะไรจะเขียน ก็เอามือของคุณวางทาบไปบนกระดาษ แล้วก็ลงมือเขียนเรื่องมือ”

เห็นภาพได้ชัดเจนทีเดียว ไม่ได้หมายความว่านักเขียนทุกคนจะต้องเขียนเรื่องมือของตนเอง
หากแต่หมายความว่า เรื่องที่จะเขียนอยู่แค่มือ แต่คุณ ”คิด” ที่จะเขียนมันหรือเปล่า
ข้าพเจ้าจึงอยากจะเสริมต่อให้ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า
แค่คุณมีมือกับมีหัวเท่านั้น คุณก็เขียนหนังสือได้แล้ว
เพราะหัวของคุณจะทำให้คุณมีตาที่จะมองเห็นและรับรู้
มีหูได้ยินได้ฟัง และมีจมูกไว้สูดกลิ่น มีลิ้นคอยรับรส
ทุกอย่างก็จะประมวลเข้าไปในสมองและมือคุณก็จะทำหน้าที่เขียน
นั่นหมายความว่า เรื่องที่คุณจะเขียนอยู่ไม่ห่างจากตัวคุณเท่าไรเลย
ง่าย ๆ และอยู่ใกล้ ลองหันไปมองรอบ ๆ ดูเถิด

ป ร ะ ส บ ก า ร ณ์ ต้ อ ง “ ป รุ ง”

การนำเอาประสบการณ์ในชีวิตมา”กลั่น” หรือ “กรอง”เป็นเรื่องสั้น
คงไม่ได้ทำเพียงแค่เล่าเรื่องตามที่เกิดขึ้นอย่างเป็นจริง
หากแต่ต้อง ”ปรุง” หรือ ”แต่ง” ให้เป็นเรื่องเสียก่อน
จึงจะเป็นงานศิลปะที่เรียกว่าเรื่องสั้นได้ และการปรุงแต่งนั้นก็ต้องอาศัย ”จินตนาการ” ของผู้สร้างสรรค์

คำว่า”จินตนาการ”แปลพื้น ๆ โดยพจนานุกรมว่า “การสร้างภาพขึ้นในจิตใจ”
ก็คงพอทำให้เห็นภาพว่า ภาพที่สร้างขึ้นในจิตใจนั้นก็น่าจะต่อเติมเสริมไปจากที่มีอยู่ในประสบการณ์เดิม
เช่นว่า เดิม นักเขียนคนหนึ่งไปเที่ยวป่า ได้คุยกับชาวบ้านที่นำทาง
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเคยมีคนเข้าป่าบริเวณนี้แล้วเจอเสือ
ประสบการณ์ที่นักเขียนคนนั้นเข้าป่า เป็นประสบการณ์จริง
การพูดคุยกับคนนำทางก็เป็นประสบการณ์จริง
ส่วนการเจอเสือเป็นประสบการณ์ที่ได้ยินมามีจริง เกิดขึ้นจริง
ครั้นนักเขียนนำมาเขียน ก็อาจจะให้คนที่เที่ยวป่าคนนั้น
ซึ่งจำลองความรู้สึกและตัวตนมาจากนักเขียนเจอเสือเสียเอง
ในส่วนของการต่อสู้เอาตัวรอดจากการเผชิญวิกฤติชีวิต
นักเขียนก็ต้องจินตนาการเอง
โดยอาจจะ ”ปรุง” มาจากการเจอเหตุการณ์คับขันที่สุดในชีวิตของตัวเองก็ได้

ข้อควรระวังคือนักเขียนจะต้องปรุงจนกระทั่งเรื่องกลมกล่อม
กลายเป็นเรื่องของตัวละครในเรื่องจริง ๆ มิใช่เรื่องของตัวผู้เขียนเอง
ซึ่งบางครั้งคนอ่านก็อาจจะรู้สึกได้ว่า มาจากตัวนักเขียนเอง
แต่ก็ไม่ทำให้เสียรสไปแต่อย่างใด (ถ้าปรุงดี)

ชี วิ ต ต้ อ ง รู้ ทั น

ความเข้าใจชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แม้ผู้เขียนจะเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในแง่มุมของตนเอง
แต่เนื้อหาสาระที่นำเสนอที่สามารถแสดงความเข้าใจชีวิตได้ลึกซึ้งย่อมกินใจผู้อ่านได้มากกว่า
นักเขียนที่อ่อนเยาว์ต่อโลกจึงอาจให้มุมมองได้ไม่เท่านักเขียนที่มีประสบการณ์ชีวิตมาก
แต่ขอได้โปรดสังเกตว่า ความเข้าใจชีวิตของผู้เขียนกับความเข้าใจชีวิตของตัวละครเป็นคนละเรื่องกัน

ตัวละครเป็นผู้เล่าเรื่อง หรือเป็นเจ้าของเรื่องที่ดำเนินไป เขาอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงพอ
เขาอาจไม่เท่าทันชีวิต แต่ผู้เขียนต้องเท่าทันตัวละครตัวนั้น
ดังนั้น ความเข้าใจโลกและชีวิตของผู้เขียนจึงอยู่เหนือความเข้าใจโลกและชีวิตของตัวละคร

ตัวอย่างเช่น การเขียนถึงความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกชายเป็นเรื่องของความใน
เป็นความเข้าใจชีวิตจากภายใน และหลายครั้งที่ความขัดแย้งนี้มักมีที่มาจากการที่พ่อ ”ทำร้าย” หรือ ”กดขี่” แม่
ปฏิกิริยาจากลูกชายจึงเป็นผลสะท้อนจากการกระทำของพ่อ
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนเรื่องสั้นมือหนึ่งของแวดวงวรรณกรรม
ได้เคยเขียนเรื่องสั้นสะท้อนปมปัญหานี้ไว้ในชื่อ “ความฝันวันประหาร”
เป็นเรื่องของลูกชายที่ต้องโทษประหารเพราะฆ่าพ่อ
วัฒน์สร้างความสะเทือนใจด้วยการเล่าถึงความในใจของลูกชาย
“แม่เคยนั่งร้องไห้ปรับทุกข์กับผมเสมอ ผมมักนั่งร้องไห้ไปด้วย
ผมอยู่ในฐานะผู้เห็นใจ และบางครั้งก็เป็นเจ้าทุกข์
เราพยายามคิดหาวิธีดับทุกข์ที่นุ่มนวลที่สุด แต่เราไม่มีโอกาสได้ใช้วิธีการเหล่านั้น
เวลาที่เราจะได้คิดอย่างสงบ ๆ เหลือน้อยเต็มที
เมื่ออับจนได้แต่นั่งร้องไห้ ผมกับแม่ เราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกันและกัน”

เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับรางวัลดีเด่น
จากการยกย่องของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ เมื่อ ปี ๒๕๒๕
อ่านแล้วสงสาร สงสารที่ตัวละครไม่เท่าทันชีวิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่