เบาะแสที่ดินราคาพุ่ง ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสีส้ม-ม่วง

เบาะแสที่ดินราคาพุ่ง ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสีส้ม-ม่วง


ประเมินราคาที่ดิน 10 แนวเส้นทางรถไฟฟ้า สีม่วง- น้ำเงิน- เขียวใต้-บีทีเอสยังนำโด่ง จับตาสีส้มโซนตะวันตกและสายสีม่วงใต้ผ่านใจกลางเมืองสำคัญหลายจุด รอบสถานีราคาพุ่งหลายเท่าตัว ส่วนตามแนวเส้นทางจากหลักหมื่นบาทต่อตารางวาปรับขึ้นเป็นหลัก 1-2 แสนบาทอัพ ย่านใจกลางปทุมวันยังคงระดับ 1 ล้านบาท ส่วนจุดสำคัญในพื้นที่กทม.ยังคงระดับ 4-5 แสนบาทอัพ ด้านเซียนประเมินที่ดินชี้ปี 59 ตามแนวสายสีม่วงราคาพุ่งกระฉูดอีกแน่

จุดที่เห็นได้ชัดคือในเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสให้บริการ ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก ตั้งแต่แนวถนนพหลโยธิน ถนนสุขุมวิทไปจนถึงฝั่งธนบุรี ราคาตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาทต่อตารางวา โดยเฉพาะย่านปทุมวัน สยาม ที่ยังคงราคาหลักล้านบาทติดต่อกันมานาน 2-3 ปีแล้ว ส่วนพื้นที่พระราม 9 อโศก พระราม 4 ก็ไล่จี้ติดกันมา บางทำเลราคาสูงกว่า 6 แสนบาทต่อตารางวาไปแล้ว โดยเฉพาะทำเลมักกะสัน –อโศก สำหรับราคาเกาะแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ยังพบว่าไม่มีการปรับราคามากนัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 1-3 แสนบาท

สำหรับจุดที่น่าจับตามองแนวโน้มจะมีการปรับราคาที่ดินเพิ่มยังให้ความสำคัญกับเแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายไปโซนฝั่งธนบุรีตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์-เพชรเกษม สายสีเขียวเหนือ สายสีเขียวใต้ ที่จะเริ่มก่อสร้าง โดยเฉพาะราคาในพื้นที่ย่านแยกเสนานิคมและแยกเกษตรศาสตร์

“ย่านบางซื่อยังน่าจับตามองว่าราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่ๆหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน จะมาใช้จุดศูนย์กลางร่วมในจุดบางซื่อแห่งนี้จำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่าตามแนวสายสีแดง น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักทั้งโซนตลิ่งชันและรังสิต โดยโซนรังสิตน่าจะอยู่ที่ราคา 4-5 หมื่นบาท ส่วนเส้นทางที่น่าสนใจในอนาคตคงจับตามองสายสีม่วงใต้ที่เชื่อมจากเตาปูนไปบรรจบกับสายสีน้ำเงินที่วังบูรพา และลากยาวผ่านไปยังวงเวียนใหญ่ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสไปสร้างความเจริญรองรับอยู่ก่อนแล้ว และสายสีส้มโซนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน เพชรบุรี ประตูน้ำ เนื่องจากผ่านใจกลางเมืองนั่นเอง”

โดยราคาประเมิน(ใช้ราคาตลาดเป็นการเปรียบเทียบ) ของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าบีทีเอส ราคาบางทำเลอย่างสยาม ปทุมวัน ชิดลม สุขุมวิท ราคาอยู่ระหว่างปรับจาก 1 ล้านบาทเป็น 1.9 ล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนตามแนวถนนรัชดาภิเษก ราคาประมาณ 4-5 แสนบาท เทียบกับเมื่อปี 2546 ราคาอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนบาทเท่านั้น ตามแนวถนนอุดมสุข บางนา แบริ่ง ราคาประมาณ 1 แสนบาท ไม่เกิน 1.5 แสนบาท บางหว้า ประมาณ 1 แสนบาท แต่ปี 2559 ราคาปรับเพิ่มกว่านี้ได้อีก

ส่วนสายสีม่วง ช่วงเตาปูน ติวานนท์ รัตนาธิเบศร์ บางใหญ่ ราคาระหว่าง 1.5 แสน แต่ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อตารางวา แต่ปี 2559 จะมีการปรับเพิ่มกระฉูดอีกแน่ สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ทั้งโซนถนนจรัญสนิทวงศ์และเพชรเกษม ราคาอยู่ระหว่าง 1.5 แสน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท ยกเว้นจุดแยกที่เป็นจังชันใหญ่ อย่างแยกท่าพระราคาประมาณ 2 แสนบาท แต่เส้นทางสายสีน้ำเงินนี้จะเป็นเส้นเมนที่สำคัญในอนาคตได้อย่างดีอีกด้วย

โซนตามแนวถนนแจ้งวัฒนะของสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ผ่านรามอินทรา นั้นยังไม่เกิน 1 แสนบาท สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ผ่านรามคำแหง มีนบุรี ราคาระหว่าง 1.5 – 2 แสนบาท ยกเว้นโซนประตูน้ำ ที่ราคาปัจจุบันประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีการประท้วงให้ย้ายสถานีไปอยู่ที่ปากซอยรางน้ำแทน สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ราคายังไม่เกิน 1 แสนบาท ถนนศรีนครินทร์ ราคาประมาณ 1 แสนบาท แม้ว่าจะมีห้างสรรพสินค้า 2-3 แห่งก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะยังมีการปรับราคาช้ากว่าสายอื่นๆ

ที่มา : http://www.trebs.ac.th/Thai/news/index.php?nid=29
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่