ศีลรักษาเราหรือเรารักษาศีล

ศีล คือความปรกติของมนุษยชาติ ที่ทำให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ มีความสุข เพราะทุกคนตั้งอยู่ในกฏเกณฑ์ข้อห้าม ข้อควรงดเว้น เมื่อไม่มีบุคคลใดล่วงละเมิดกฏข้อห้าม ข้อควรงดเว้นแล้ว สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่สงบสันติเป็นสุข น่าอยู่ พึ่งพาอาศัยได้

สาระของศีล คือ การดำรงตนอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่เกื้อกูล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ตนมีส่วนช่วยสร้างสรรค์รักษา เอื้ออำนวยแก่การมีชีวิตที่ดีงามร่วมกัน เป็นพื้นฐานการพัฒนาคุณภาพจิตและการเจริญปัญญา

เมื่อพิจารณาดูสาระของศีลแล้ว ทุกๆ ลัทธิ ทุกๆ ศาสนา ล้วนมีกฏเกณฑ์ข้อห้าม ข้อควรงดเว้น ของตน แต่บางลัทธิ บางศาสนา กลับเปิดโอกาสให้บุคคลในอาณัติของตนล่วงละเมิดบุคคลอื่นได้ เมื่อบุคคลอื่นมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ไม่ลงรอยต่อกันกับลัทธิและศาสนาของตน

ศีลมีด้วยกัน ๓ ระดับ
๑.ระดับที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ ที่ให้ผลต่อขันธ์เช่นกัน แต่ยังไม่เป็น "สัมมาทิฏฐิ"
๒.ระดับ "สัมมาทิฏฐิ" ที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์
๓.ระดับ "สัมมาทิฏฐิ" ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค

ระดับที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้
๓ ประการเป็นไฉน คือ
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ๑
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล ๑
บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ
ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง
ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย
เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพในชั้นดาวดึงส์นั้น
กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก
ย่อมก้าวล่วงพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ
อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์
รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ฯลฯ"

มาพิจารณา "ศีล" ที่เป็นบุญกิริยาวัตถุ จากพระพุทธพจน์จะเห็นได้ว่าเป็น "ศีล" ที่ยังไม่ได้ "สมาทาน" หรือตั้ง "เจตนา" เพื่อจะ "วิรัติ" เป็นไปตามกำลังปรกติของบุคคลคนนั้น ที่จะหยุด หรืองดเว้นที่จะกระทำการล่วงละเมิด จากการที่ได้ตั้งใจไว้เท่าที่ทำได้เต็มตามกำลังความสามารถ ความเชื่อ และความศรัทธาของตน เรียกว่า "สัมปัตตวิรัติ" เป็น "ศีล" ที่ยังขาดความเพียรเพื่อ "ละ" ขาดความระลึกตั้งมั่นเพื่อ "งดเว้น" ในการที่จะไม่ล่วงละเมิด "ศีล" นั้น

การเจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนานั้น เป็นหนึ่งในสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็เป็นหนึ่งในสิกขา ๓ เช่นกัน เป็นศีลที่ได้เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา เป็นศีลที่ได้สมาทาน ตั้งเจตนาไว้ โดยการรับศีล คือ สมาทานตั้งเจตนาสิกขาบทนั้นๆ ไว้ แล้วก็สามารถละ งดเว้นตามที่ได้สมาทานตั้งเจตนาไว้ เรียกว่า "สมาทานวิรัติ" เป็นการเพียรพยายามเพื่อ "ละ" และบรรลุการละ ความเพียรพยายามนั้น เป็น "สัมมาวามายะ" การมีสติเพื่องดเว้น และได้บรรลุการงดเว้นนั้น เป็น "สัมมาสติ" ในระหว่างนั้นเรายังต้องเพียรพยายาม และคอยระวัง "รักษาศีล" เพื่อไม่ให้ "ศีล" ขาดตกบกพร่องไป

ต่อเมื่อได้บรรลุการ "ละ" ด้วยความเพียรพยายาม และ บรรลุการ "งดเว้น" ด้วยการระลึกตั้งมั่นจนเป็น "วสี" แล้ว การละเว้นนั้นเป็นการละเว้นได้ด้วยการตัดขาด หรือเสมือนได้ชักสะพานตัดตอนเสียทีเดียว เป็นการเว้นได้โดยเด็ดขาด ไม่เกิดแม้แต่ความคิดที่จะประกอบกรรมชั่วนั้นๆ อีกเลย เรียกว่า "สมุจเฉทวิรัติ" กลายเป็น "ศีลรักษาเรา" ซึ่งมีเฉพาะในอริยมรรคเท่านั้น เมื่อได้เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา

การภาวนากรรมฐานนั้น เป็นหนึ่งในองค์อริยมรรค คือ "สัมมาสมาธิ" เป็นปัจจัยเกื้อหนุน เป็นกำลังของ "ศีล" เป็นธรรมที่งามในเบื้องต้นสำหรับผู้พบเห็น เป็นศีลของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เป็นศีล สมาธิ ปัญญาอันประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเครื่องขจัดขัดเกลากิเลสที่เป็นเหตุแห่งความชั่วต่างๆ

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรคมีองค์ ๘) ไว้ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
พวกเธอจงเที่ยวจาริก
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
ความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์

พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล)
งามในท่ามกลาง (สมาธิ)
งามในที่สุด (ปัญญา)
จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ
ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์
สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่
เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
เพื่อแสดงธรรม"

สาธุ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่