JJNY : ดัชนีราคาผู้บริโภคก.พ. ติดลบต่อเนื่อง เดือนที่ 14 พาณิชย์ยันไม่ใช่เงินฝืด

กระทู้คำถาม
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และรองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศอยู่ที่ 105.62 ลดลง 0.50% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 นับตั้งแต่มกราคม 2558 เนื่องจากจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศยังลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)และรถร่วมเอกชนที่วิ่งระหว่างจังหวัดลดลงค่าก๊าซหุงต้มและค่ากระแสไฟฟ้าลดลง อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เพิ่มขึ้น 0.15 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2559 ซึ่งกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2558 สาเหตุหลักมาจากราคาบุหรี่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาผักผลไม้สดที่ปรับตัวขึ้น จากช่วงเทศกาลตรุษจีนและตามผลผลิตที่ลดลงจากอากาศแปรปรวน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ซึ่งตัดราคาน้ำมันและอาหารสดออกแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 106.37 เพิ่มขึ้น 0.68 % เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.18% เทียบมกราคม 2559

“ดัชนีราคาผู้บริโภคเริ่มจะเป็นบวก ยืนยันได้ว่ายังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตามต้องจับตาดูภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นว่ากระทบต่อราคาสินค้าเกษตรอย่างไรบ้าง คาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลังนี้ จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 เป็น 0-1% เนื่องจากทั้งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของโลกและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลง การปรับลดนี้อยู่บนสมมติฐานหลักอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เดิมปลายปีที่แล้วได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ 1-2% เมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 48-54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่