เครื่องบินที่ไร้กัปตัน! เปิดโปงเบื้องหลังขาดแคลนนักบิน สงครามช่วงชิงซื้อกำลังพล

กระทู้ข่าว
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 22 ก.พ. 2559
“สภาวะอัตคัดนักบิน”...สภาวะวิกฤติที่แม้แต่อภิมหึมามหาเศรษฐี ก็ไม่สามารถขจัดปัญหานี้ให้ผ่านพ้นไปได้โดยง่าย และผู้คนในสังคมยังมีข้อสงสัยต่ออาชีพดังกล่าวว่า “นักบิน” อาชีพที่พรั่งพร้อมไปด้วยชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ แต่ไฉนวงการสายการบินจึงขาดแคลน และไร้ผู้ขับเคลื่อนยานพาหนะขนาดยักษ์?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ลงลึกทุกซอกทุกมุมกับปัญหาขาดแคลนนักบิน โดยมือชำแหละของรายงานพิเศษชิ้นนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เพราะพวกเขาเหล่านี้ คือ ผู้คร่ำหวอดในวงการสายการบินที่คนในแวดวงต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี...ใครเล่าจะรู้ว่า “สภาวะอัตคัดนักบิน” จะเป็นดั่งสงครามแย่งชิงกัปตัน...ทุ่มทุน ปลุกปั้น หลีกหนี เงินดี...วงการเกียรติยศแห่งนี้จะเป็นเช่นไร ต้องติดตาม!
นักบิน อาชีพที่ใครหลายๆ คนใฝ่ฝัน

ย้อนเส้นทาง...กว่าจะมาเป็นนักบิน ต้องผ่านด่านอะไร?

นายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ บีเอซี โรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย กล่าวถึงเส้นทางของผู้ที่ต้องการจะเป็นนักบินว่า 1.ผู้เรียนจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2.ผู้เรียนจะต้องมีสัญชาติไทย (กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า นักบินเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย) 3.สุขภาพแข็งแรง โดยมีใบรับรองแพทย์จากการบินแพทย์ศาสตร์เป็นผู้ออกให้ 4.จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี

โดยใช้เวลาในการเรียน 1 ปี มีค่าใช้จ่าย 2.5 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกจำแนกออกเป็นค่าเช่าเครื่องบิน, ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน, ค่าน้ำมันเชื้อเพลง, ค่าจ้างครูการบินที่จะต้องขึ้นบินกับนักเรียน เมื่อคิดรวมเบ็ดเสร็จแล้ว อัตราคา 1 ชั่วโมงจะตกอยู่ที่ 10,000 บาท คูณระยะเวลาเรียนตามหลักสูตร 200 ชั่วโมง (ครบ 200 ชั่วโมงบิน จึงจะสามารถขอใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรีได้) ซึ่งค่าเรียนจะอยู่ที่ 2,000,000 บาท อีกทั้งยังมีหลักสูตรภาคพื้น โดยมีค่าใช้จ่ายราว 200,000 บาท หากจบหลักสูตร ผู้เรียนจะก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้ช่วยนักบิน (Co-Pilot) เพื่อเก็บชั่วโมงบินก่อนจะขึ้นเป็นนักบินหลัก หรือกัปตันต่อไป
ผู้ช่วยนักบิน จะต้องสะสมชั่วโมงบินจนครบ 3,000 ชั่วโมง ถึงจะได้เลื่อนขั้นเป็นนักบิน ซึ่งใช้เวลาราว 5-6 ปีอย่างเร็วที่สุด

ขณะที่ ผู้ช่วยนักบิน จะต้องสะสมชั่วโมงบินจนครบ 3,000 ชั่วโมง ถึงจะได้เลื่อนขั้นเป็นนักบิน ซึ่งใช้เวลาราว 5-6 ปีอย่างเร็วที่สุด (สำหรับมาตรฐานนักบินของการบินไทย ต้องใช้เวลามากถึง 8 ปีจึงจะขึ้นเป็นกัปตันได้)

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะก้าวสู่อาชีพนักบินได้นั้น นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการสถาบันการบินพลเรือน ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นนักบินไม่จำเป็นต้องมีความรู้ หรือมีไอคิวสูงที่สุด แต่คนที่จะเป็นนักบินได้ คือ ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีทัศนคติเหมาะสมกับภารกิจนักบินที่สุด
ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักบินได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ

ดังนั้น ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักบินได้ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการสถาบันการบินพลเรือน ระบุว่า คนผู้นั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ดังนี้ 1.Knowledge ผู้เรียนต้องมีความรู้เพียงพอที่จะคำนวณตัวเลขทางคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำเพราะการขึ้นบินแต่ละครั้ง นักบินต้องคำนวณความเร็ว คำนวณน้ำหนักสินค้า-น้ำหนักผู้โดยสาร ปริมาณน้ำมันและตัวเลขค่าต่างๆ อีกหลายรายการ 2.Skill นักบินที่มีชั่วโมงบินสูง ย่อมต้องมีประสบการณ์ในการบินและแก้ไขสถานการณ์ตามจริงมากกว่านักบินที่มีชั่วโมงบินน้อยกว่าและนำประสบการณ์จริงไปใช้ในการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.Attitude ความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวของนักบิน เช่น ไม่สบายใจ เจ็บป่วย ล้วนส่งผลต่อการบินทั้งสิ้น และ 4.Language นักบินที่มีคุณภาพต้องมีความสามารถในการใช้ภาษา ICAO, Aviation English Language Proficiency level 4 ขึ้นไป เพราะนักบินต้องพูด และฟังการสื่อสารกับหอบังคับการบินและหน่วยควบคุมการบินต่างๆ อย่างถูกต้องตลอดเวลาของการปฏิบัติการบิน
นักเรียนการบิน ใช้เวลาในการเรียน 1 ปี มีค่าใช้จ่าย 2.5 ล้านบาท

กัปตันเครื่องบิน...รายได้ฟู่ฟ่า น่าอิจฉา

โดยเส้นทางของชีวิตนักบินนั้น จะเริ่มไต่เต้าจาก "นักบินผู้ช่วย (Co-Pilot)" เมื่อนักบินผู้ช่วยสะสมชั่วโมงบินครบตามกำหนดจะได้รับการโปรโมตเป็น "กัปตัน" โดยกัปตันสะสมประสบการณ์ด้านการบิน จนขยับขยายขึ้นมาเป็น "ครูการบิน" และที่สุดในสายอาชีพนักบิน คือ "นักบินตรวจสอบมาตรฐาน"

“ในเมืองไทย รายได้เริ่มต้นของนักบินที่จบไปเป็น Co-Pilot จะได้รับค่าตอบแทนราว 80,000 บาท หากเป็นกัปตันค่าตอบแทนอยู่ที่ประมาน 300,000 บาทต่อเดือน หากเป็นครูการบิน ค่าตอบแทนจะอยู่ที่ 400,000-500,000 บาท และในชั้นของผู้ตรวจสอบมาตรฐาน จะเป็นการคิดค่าตอบแทนต่อไฟลท์ อีกทั้ง ยังมีค่าตำแหน่งบวกเพิ่มไปด้วย” กัปตันปิยะ ผู้คร่ำหวอดในวงการการบิน และมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักบินมากมายประเมินจากประสบการณ์
รายได้นักบินในเมืองไทยราว 300,000 บาทเดือน อยู่สายการบินตะวันออกกลาง รับค่าตอบแทนสูงถึง 1,000,000 บาทต่อเดือน

ขณะที่ ค่าตอบแทนของนักบินสายเลือดไทยที่ไปรับใช้ในสายการตะวันออกกลาง กัปตันปิยะ ระบุว่า ค่าตอบแทนของนักบินเหล่านี้ ได้มากกว่านักบินที่ทำงานอยู่เมืองไทยสองเท่าตัว! หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เมื่ออยู่ในเมืองไทย นักบินมีรายได้ราว 300,000 บาทเดือน แต่เมื่อตัดสินใจไปทำงานให้แก่สายการบินตะวันออกกลาง จะได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 1,000,000 บาทต่อเดือน

ความต้องการทางนักบิน...สร้างเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ?

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ระบุว่า วินาทีนี้ ธุรกิจสายการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% และข้อมูลจากท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง พบว่า ในปี 2554 เดิมทีมียอดผู้โดยสาร 66 ล้านคน แต่เพิ่มเป็น 106 ล้านคนในปีล่าสุดอย่างรวดเร็ว

นายปิยะ เจ้าของโรงเรียนการบินเอกชน บีเอซี ให้ข้อมูลว่า ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ อย่างโบอิ้ง และแอร์บัส ได้ประเมินไว้ว่า ภายใน 20 ปีนับจากนี้ สองผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ต้องผลิตเครื่องบินตามคำสั่งซื้อจากสายการบินต่างๆ มากถึง 20,000-30,000 ลำ ซึ่งเครื่องบิน 1 ลำจะต้องใช้นักบิน 14-15 คน ดังนั้น สายการบินทั่วโลกจะมีความต้องการนักบินใหม่เพิ่มขึ้นราว 533,000 คน
นายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ บีเอซี

ขณะที่ นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวถึงความสามารถในการผลิตนักบินว่า ประเทศไทยมีสถาบันที่สอนและอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรนักบินพาณิชย์ นักบินส่วนบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 13 แห่ง แต่สามารถผลิตและพัฒนาบุคลากรได้เพียง 300-400 คนต่อปีเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศที่มีความต้องการนักบินใหม่สูงถึง 400-500 คนต่อปี

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงคมนาคม พบว่า ปัจจุบันมีนักบินพาณิชย์จำนวน 2,376 คน นักบินเฮลิคอปเตอร์ 96 คน รวม 2,472 คน ส่วนนักบินพาณิชย์ตรีหรือนักบินผู้ช่วย มีจำนวน 3,600 คน รวมนักบินมีทั้งสิ้น 6,072 คน ส่วนเครื่องบินจดทะเบียนมีจำนวน 625 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์ 400 ลำ เครื่องบินส่วนตัว 225 ลำ ขณะที่ ข้อกำหนดการปฏิบัติงานมาตรฐานนักบิน ไม่เกิน 34 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือไม่เกิน 110 ชั่วโมง/28 วัน หรือไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง/ปี

ส่องสนามศึกสายการบิน แย่งชิง ทุ่มทุน ขโมยกัปตัน!

เจ้าของโรงเรียนการบินเอกชน บีเอซี หรือ กัปตันปิยะ ปูพื้นก่อนเข้าไปส่องสงครามเดือดในครั้งนี้ว่า เดิมทีแล้ว จะมีสายการบิน 3 แห่งในไทยที่วางแผนสร้างขุมกำลังนักบินที่มีคุณภาพก่อนลงสนาม และเพื่อตัดปัญหาขาดแคลนนักบินในภายภาคหน้า ซึ่งสายการบินที่มีการวางแผนระยะยาวประกอบไปด้วย 1.สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทย 2.สายการบินไทยสมายล์ 3.สายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยสายการบินข้างต้น ดำเนินการตามแผนปั้นนักบิน โดยใช้วิธีมอบทุนการศึกษาสำหรับนักบินฝึกหัด หรือเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนการบินที่กู้ทุนการศึกษา จากนั้น หลังเรียนจบจะมีสัญญาผูกพันในการทำงานระหว่างนักบินผู้ช่วยและสายการบิน
สายการบิน 3 แห่งในไทยที่วางแผนสร้างขุมกำลังนักบินที่มีคุณภาพก่อนลงสนาม ประกอบไปด้วย 1.การบินไทย 2.ไทยสมายล์ 3.ไทยแอร์เอเชีย

“สายการบินส่วนใหญ่ไม่ปั้นนักบิน แต่กลับใช้วิธีการขโมยตัวนักบิน หรือควักกระเป๋าทุ่มซื้อนักบินของสายการบินอื่นมาเป็นของสายการบินตัวเอง ซึ่งการทำเช่นนี้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่คำนึงถึงภาระปัญหาที่จะตามมาในระยะยาว” กัปตันปิยะ เจ้าของโรงเรียนการบินเอกชน บีเอซี แสดงทรรศนะอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวถึงการช่วงชิงนักบินไว้ว่า “บางสายการบินไม่มีแผนที่จะฝึกนักบิน หรือปั้นนักบิน แต่กลับมาใช้วิธีการดึงตัวนักบินจากสายการบินอื่นไปทำงานให้ เพราะฉะนั้น จึงเกิดการดึงตัวกันไปมาเป็นวัฏจักรไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆ ที่นักบินก็มีจำนวนไม่มาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ได้ส่งผลระทบให้ธุรกิจสายการบินประสบปัญหาปัญหาขาดแคลนนักบินอย่างหนัก”
บางสายการบินไม่มีแผนที่จะฝึกนักบิน หรือปั้นนักบิน แต่จะใช้วิธีการทุ่มเงินซื้อนักบิน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ผวานักบินขาด! เปิดมูลเหตุสำคัญ ก่อปัญหาขาดแคลนนักบิน

กัปตันสนอง นายกสมาคมนักบินไทย ชี้ช่องโหว่สำคัญฉุดรั้งการผลิตนักบินว่า 1.ปัจจุบันภาครัฐไม่สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนักบิน เนื่องจากสายอาชีพดังกล่าว ต้องใช้ทุนการศึกษาค่อนข้างสูง จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงอาชีพนี้ได้ยาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศักยภาพ แต่ไร้เงิน ก็ไม่สามารถเข้าเรียนได้ 2.การช่วงชิงนักบินของแต่ละสายการบิน ซึ่งสายการบินบางแห่งไม่ลงทุนในการผลิตบุคลากร

กัปตันปิยะ หรือ เจ้าของโรงเรียนการบินเอกชน บีเอซี วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาขาดแคลนนักบินให้ทีมข่าวฟังว่า 1.สายการบินยังขาดนักบินชำนาญ หรือชั่วโมงบินสูง และ 2.สายการบินส่วนใหญ่ไม่ยอมปั้นนักบินผู้ช่วย
สถาบันที่สอนและอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรนักบินพาณิชย์ นักบินส่วนบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 13 แห่ง

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวถึง 5 ปัจจัยสำคัญเปิดแผลนักบินขาดแคลนว่า 1.การเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำที่อัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ส่งผลสืบเนื่องถึงความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนนักบิน โดยเฉพาะนักบินที่มีประสบการณ์และมีชั่วโมงบินสูง 2.สภาวะสมองไหลของนักบินที่ขยับขยายจากการทำงานในเมืองไทยออกไปทำงานในสายการบินสายเลือดตะวันออกลาง ซึ่งมีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่า

---------- ต่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่