“คณิน” ชี้ ร่าง รธน. เปิดช่องให้รัฐและฆราวาส แทรกแซงคณะสงฆ์

นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ปี 40 ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณีที่จะมีพุทธศาสนิกชน จำนวน 1 ล้านคน เข้าชื่อเสนอขอให้ กรธ.บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยว่า การผลักดันให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นมีมาตลอด นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แต่ไม่เคยเป็นผลสำเร็จ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่ประเทศไทยมีพุทธศาสนิกชนกว่า 90% ของพลเมืองทั้งหมด และทั้งๆที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญก้าวหน้าและแผ่ขยายไปทั่วโลก จนประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกไปแล้ว

นายคณิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงแม้จะไม่ได้บัญญัติพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการบัญญัติคำว่า “พระพุทธศาสนา” เป็นครั้งแรก และรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ดำเนินรอยตาม ทั้งนี้ มาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 บัญญัติว่า “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดี และสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพี่อเสริมสร้างคุณธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิต”

ในขณะที่มาตรา 79 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติว่า “รัฐต้องให้ความอุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนาอื่น...”

สรุปว่าทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติตรงกันว่า “รัฐต้องให้ความอุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น...”

แต่ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย จึงระบุไว้ในมาตรา 63 วรรคแรก แต่เพียงห้วนๆว่า “รัฐพึงอุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น...”

ฟังดูเหมือนกับว่า เรื่องการอุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รัฐจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้

นายคณินกล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ กรธ.ได้เปลี่ยนจากคำว่า “รัฐต้อง” เป็นคำว่า “รัฐพึง” และยังเพิ่มข้อความในวรรคสองของมาตราดังกล่าวอีกด้วยว่า “ในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้ มีการบ่อนทำลายพรุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด”

ข้อความคำว่า “มาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใด” นั้น น่ากลัวและหมิ่นเหม่ยิ่งนัก

น่ากลัวและหมิ่นเหม่ที่จะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการ “ควบคุมพระพุทธศาสนา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทรัพย์สินส่วนพระพุทธศาสนา” ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าทางด้านจิตใจ

น่ากลัวและหมิ่นเหม่ ที่ทั้งรัฐและกลไกของรัฐดังกล่าว จะตกเป็นเครื่องมือของบุคคล บางคน บางกลุ่ม ในการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเสียเอง

น่ากลัวและหมิ่นเหม่ ต่อการที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐ จะใช้เป็นเครื่องมือในการก้าวก่ายแทรกแซงและควบคุมกิจการของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานภายใต้กฎมหาเถรสมาคม

น่ากลัวและหมิ่นเหม่ ต่อการที่รัฐจะฉวยโอกาสออกกฎหมาย “ฆราวาสปกครองสงฆ์” มาใช้บังคับเหมือนอย่างที่ได้พยายามทำมาตลอดแต่ล้มเหลว

กรธ. ควรจะทบทวนข้อความในร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้เสียโดยเร็ว โดยกลับไปใช้ข้อความที่เรียบง่าย สร้างสรรค์ และไม่กระทบกระเทือนผู้ใด ศาสนาใด อย่างในมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้ง สนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต”

เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่รัฐและพุทธศาสนาจะช่วยกันป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาได้แล้ว โดยไม่ต้องมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการหรือกลไกที่น่ากลัว และหมิ่นเหม่ดังกล่าวข้างต้นแต่ประการใด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่