"ผู้ไม่หวัง ย่อมหลับเป็นสุข" ถ้าการรอคอยมันทำให้ทรมาน การปล่อย ก็ทำให้เราพ้น

คนหลายคน เฝ้านับวันรอบางสิ่งบางอย่าง หรือนับวันรอเพื่อให้ถึงวันที่ใฝ่ฝันไว้ แต่การรอคอยบางสิ่งบางอย่างนั้น มันช่างยาวนาน และทรมาน ยิ่งเป็นสิ่งที่รักมากๆ ก็ยิ่งเพิ่มความกังวลและความทรมานใจมากขึ้นเท่านั้น

แต่ในที่สุดแล้ว บางครั้ง สิ่งที่เฝ้ารอ สิ่งที่เราหวังมาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตนั้น กลับไม่เป็นอย่างที่หวังก็เป็นได้เช่นกัน  หากเราหวังว่าจะสุข  เราจะทุกข์เมื่อไม่ได้มา แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เราทำลายเหตุแห่งการรอคอยนั้นได้ เมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระ หมดทุกข์ในเรื่องนั้นเสียที


ในชาดกตอนหนึ่ง พระโพธิสัตว์ท่านได้เห็นสัจธรรมนี้ จากผู้หญิงคนหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่ง


ความบางส่วนจากอรรถกถาพระไตรปิฎก
~ สีลวีมังสชาดก ~



             ครั้งนั้น เหยี่ยวเฉี่ยวเอาชิ้นเนื้อในร้านขายเนื้อสัตว์แห่งหนึ่งแล้วบินไปทางอากาศ นกทั้งหลายอื่นจึงล้อมจิกตีมันด้วยเล็บเท้าและจะงอยปากเป็นต้น เหยี่ยวนั้นไม่สามารถอดทนความทุกข์นั้นได้ จึงทิ้งชิ้นเนื้อ นกตัวอื่นก็คาบเอาไป แม้นกตัวนั้น เมื่อถูกเบียดเบียนอย่างนั้นเข้า ก็ทิ้งชิ้นเนื้อนั้น. ทีนั้น นกตัวอื่นๆ ก็คาบเอาไป รวมความว่า นกใดๆ คาบเอาไป นกทั้งหลายก็ติดตามนกนั้นๆ ไป. นกใดๆ ทิ้ง นกนั้นๆ ก็มีความสบาย.

              พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงคิดว่า ขึ้นชื่อว่ากามทั้งหลายนี้เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เมื่อเป็นอย่างนั้น คนที่ยึดไว้เหล่านั้นเท่านั้นจึงเป็นทุกข์ เมื่อสละเสียได้ก็เป็นสุข แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

              ชิ้นเนื้อหน่อยหนึ่งยังมีอยู่แก่เหยี่ยวนั้นเพียงใด นกตะกรุมทั้งหลายในโลกก็พากันล้อมจิกอยู่เพียงนั้น หาได้เบียดเบียนนกที่ไม่มีความกังวลไม่.

              คำที่เป็นคาถานั้นมีอธิบายว่า ชิ้นเนื้อหน่อยหนึ่งที่เอาปากคาบอยู่ ได้มีอยู่แก่เหยี่ยวนั้นเพียงใด นกตะกรุมทั้งหลายในโลกนี้ ก็พากันรุมจิกเหยี่ยวนั้นอยู่เพียงนั้น แต่เมื่อมันปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย นกที่เหลือก็ย่อมไม่เบียดเบียน นกนั้นผู้ไม่มีความกังวล คือไม่มีปลิโพธเครื่องกังวล.


              พระโพธิสัตว์ออกจากพระนครแล้ว ในตอนเย็นได้นอนอยู่ในเรือนของคนผู้หนึ่ง ในบ้านนั้นในระหว่างทาง. ก็นางทาสในเรือนนั้นชื่อปิงคลา ได้นัดแนะกับชายผู้หนึ่งว่า ท่านจงมาในเวลานั้นๆ นางล้างเท้าของเจ้านายทั้งหลายแล้ว เมื่อนายทั้งหลายนอนแล้ว นางก็นั่งแลดูการมาของชายผู้นั้นอยู่ที่ธรณีประตู คิดว่าเดี๋ยวเขาจะมา เดี๋ยวเขาจะมา จนเวลาล่วงเลยไปถึงปฐมยาม(6โมง-4ทุ่ม)และมัชฌิมยาม(4ทุ่ม-ตี2).


              ก็ในเวลาใกล้รุ่ง นางหมดหวังว่า เขาคงไม่มาในบัดนี้แน่ จึงนอนหลับไป. พระโพธิสัตว์ได้เห็นเหตุการณ์นี้ จึงคิดว่า

              นางทาสนี้นั่งอยู่ได้ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ด้วยความหวังว่า ชายผู้นั้นจะมา รู้ว่าบัดนี้เขาไม่มา เป็นผู้หมดความหวัง ย่อมนอนหลับสบาย


              **ขึ้นชื่อว่าความหวังที่เกิดจากกิเลสทั้งหลาย เป็นทุกข์ ทำให้ทุกข์ ความไม่มีความหวัง(จากกิเลส)เท่านั้น ทำให้เป็นสุข

จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-


              ผู้ไม่มีความหวังย่อมหลับเป็นสุข
              ความหวังมีผลก็เป็นสุข
              นางปิงคลากระทำความหวังให้หมดสิ้นจึงหลับสบาย



              บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผลวตี ความว่า ความหวังที่ได้ผลนั้น ชื่อว่าเป็นสุข เพราะผลนั้นเป็นสุข. กระทำให้หมดหวัง คือกระทำให้ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัดเสีย คือละเสีย. บทว่า ปิงฺคลา ความว่า บัดนี้ นางปิงคลทาสีนี้หลับเป็นสุข.



              วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์นั้นจากบ้านนั้นเข้าไปยังป่า เห็นดาบสผู้หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในป่า จึงคิดว่า ความสุขอันยิ่งกว่าความสุขในฌาน ย่อมไม่มีในโลกนี้และในโลกหน้า

              จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

              ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ธรรมคือความสุขอื่นจากสมาธิ ย่อมไม่มี ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เบียดเบียนทั้งคนอื่นและตนเอง.


              บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมาธิปโร ความว่า ชื่อว่าธรรมคือความสุขนอกเหนือ คืออื่นจากสมาธิ ย่อมไม่มี.

              พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นเข้าป่าแล้วบวชเป็นฤาษี ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

              พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
              ดาบสในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


********************************


ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์ท่านแสดงถึงความสุข 2 ทาง

ข้อแรก ความสุขจากการได้สมหวัง แต่การได้สมหวังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการรอคอย และความสุขที่มีก็ได้เพียงเวลานั้นที่ได้สมหวังเท่านั้น แต่เวลานอกนั้นก็จะจมอยู่กับความทุกข์เสมอและความสมหวัง ก็ใช่ว่าจะยั่งยืน เพราะทุกสิ่งในโลก เป็นเพียงของชั่วคราว

แต่ ข้อที่สอง ความสุขจากการไม่ต้องหวัง เมื่อไม่หวังแล้ว ก็ไม่ต้องพะวักพะวง ว่าจะได้หรือไม่ได้ จะได้สิ่งนั้นจะได้สมหวังกับคนนั้นเมื่อไหร่ ความสุขข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องรอคอย เพราะเมื่อไม่คาดหวัง ไม่รอคอย เราก็พ้นจากบ่วงของความทรมานในการรอคอย มีความสุขอยู่เสมอ แม้ว่าจะได้ หรือไม่ได้ เป็นความสุขที่สุด เพราะเป็นอิสระ สุขได้เองโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข และหากเราต้องการความสุขที่แท้จริง ให้เราตั้งจิตอยู่ในกรรมฐาน เมื่อจิตตั้งมั่นนั้นเราจะพบยอดของความสุขทีไม่ต้องดิ้นรนหาเหมือนที่โลกดิ้นรนกันอีกต่อไป



....ความเอ๋ย ความสุข

ใครๆ ทุกคน ชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา

แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา

แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ

ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข

ถ้ามันเผา เราก็ "สุก" หรือเกรียมได้

เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่าเห่อไป

มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอยฯ

~ พระพุทธทาส




คัดลอกชาดกมาจาก
สีลวีมังสชาดก
ว่าด้วย ธรรมที่นำความสุขมาให้
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=618
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่