20 อาการที่ฟ้องว่าคุณติดฟังเพลงเข้าขั้นจิต เป็นโรค Music Addition ขาดเสียงเพลงไม่ได้

กระทู้สนทนา

    Music Addition อาการติดการฟังเพลงเข้าขั้นหนัก เกือบจะเหมือนติดยาเสพติดบางชนิดก็ว่าได้ เช็กซิ ที่ชอบฟังเพลงอยู่ทุกวันนี้ เราเป็นโรคทางจิตเบา ๆ จนกระทบกับชีวิตของเราหรือเปล่า

         ทุกวันนี้นอกจากจะเห็นคนติดสมาร์ทโฟนหนักมากแล้ว เรายังจะเห็นคนใส่หูฟังติดตัวอยู่ตลอดด้วยเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกสักเท่าไรเนอะ เพราะฟังเพลงระหว่างเดินทางหรือรอรถก็เพลิน ๆ ชิล ๆ ดี
    
         ทว่าบางคนไม่ใช่แค่ฟังเพลงแก้เซ็งเท่านั้นสิคะ แต่กลับมีภาวะที่เรียกว่าติดการฟังเพลงขั้นรุนแรง แสดงอาการของโรค Music Addition ที่ในวงการประสาทวิทยาพูดเลยว่า อาการนี้ไม่ธรรมดาซะแล้ว

Music Addition อาการนี้คืออะไร ?

         Robert Zatorre และ Valorie Salimpoor นักประสาทวิทยาจาก McGill University เผยการทดลองที่ทำให้เห็นว่า อาการติดการฟังเพลงอาจเกี่ยวข้องกับระบบประสาทในร่างกาย ที่หลั่งสารโดพามีนออกมามากเกินปกติ จนสั่งให้ร่างกายทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เดิม ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าอาการเสพติด คล้ายกับอาการของคนที่ติดสารเสพติดชนิดโคเคนเลยก็ว่าได้

สาเหตุของอาการ Music Addition เกิดจากอะไรได้บ้าง ?

         ภาวะเสพติดการฟังเพลงที่เป็นอยู่อาจเกิดได้จากการสร้างนิสัยชอบฟังเพลงให้ร่างกายเกิดความคุ้นชิน โดยเริ่มแรกอาจเกิดจากความชื่นชอบ อาการเป็นสุขที่ได้ฟังเพลงเพราะ ๆ จังหวะเพลงโดน ๆ ซึ่งจุดนี้ร่างกายจะหลั่งสารโดพามีนหรือสารแห่งความฟินออกมา
    
         นอกจากนี้เจ้าสารที่ว่าก็สามารถเกิดขึ้นได้หากร่างกายได้รับประทานอาหารที่ถูกใจ หรือจากการใช้สารเสพติดบางชนิดด้วยนะคะ ซึ่งพอนาน ๆ เข้า ร่างกายก็เริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งเร้าที่สั่งให้ร่างกายหลั่งโดพามีนออกมา (สิ่งเร้า ณ ที่นี้ก็คือการฟังเพลงนั่นเอง) ทำให้มีความรู้สึกว่าต้องฟังเพลงตลอดเวลา
    
         อย่างไรก็ดี Beverly Omalley คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ แห่ง University of Newcastle ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยธรรมชาติแล้วโดพามีนเป็นสารสื่ออะดรีนาลิน ทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดความคึกคัก ฉะนั้นในกลุ่มคนที่ใช้เสียงเพลงกระตุ้นโดพามีนจนเกิดเป็นความเคยชิน เมื่อไม่ได้ฟังเพลงขึ้นมาเมื่อไร ก็จะรู้สึกหงุดหงิด งุ่นง่าน ไร้แรงบันดาลใจ หรือบางรายอาจมีอาการซังกะตายเหมือนขาดเพลงจะขาดใจเลยก็มี

เช็กชัด ๆ Music Addition ใช่อาการของเราไหม ?

         ต้องบอกว่าเสียงเพลงเข้าถึงทุกคนได้ง่าย คนฟังเพลงเยอะมากอย่างที่เห็น ๆ กัน ฉะนั้นจะมาเหมาว่าคนฟังเพลงทุกคนเป็นโรค Music Addition ก็คงไม่ถูกนัก เราจึงมีอาการบ่งชี้มาให้สำรวจตัวเองเล่น ๆ ถ้าพฤติกรรมของคุณเป็นอย่างข้อมูลด้านล่าง นี่ล่ะเข้าข่าย Music Addition เสพติดเพลงอย่างจังเลย

         1. ฟังเพลงได้ทั้งวันทั้งคืน จนบางทีทำให้ละเลยภาระหน้าที่บางอย่างไปได้ง่าย ๆ

         2. งานอดิเรกคือการติดตามฟังเพลง โดยเฉพาะเพลงไหนออกใหม่ ก็แทบจะนับถอยหลังเวลาที่เพลงจะถูกปล่อยออกมาอย่างไม่กะพริบตาเลยทีเดียว
        
         3. โหลดเพลงวันละหลายสิบเพลง และมักจะคิดว่าเพลงที่มีอยู่ในครอบครองยังน้อยอยู่ แม้เมมโมรี่จะเต็มไปด้วยลิสต์เพลงก็ตาม

         4. ละทิ้งได้ทุกอย่าง เพียงเพื่อจะฟังเพลงหรือดูมิวสิควิดีโอ

         5. มักไม่ชอบใจ หากคนรอบข้างจะเป็นคนที่ไม่ชอบฟังเพลง หรือไม่เข้าใจในความเป็นตัวเรา

         6. มักจะจินตนาการว่าชีวิตตัวเองคล้ายเพลงนั้นเพลงนี้ไปเรื่อย

         7. โปรดปรานช่วงเวลาที่ได้ฟังเพลงอยู่เฉย ๆ ยิ่งได้จิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยก็ฟินสุด ๆ

         8. ชอบขับรถหรือเดินทางอย่างไร้จุดหมาย เพียงเพื่อจะฟังเพลงคลอไปด้วยยาว ๆ ไป

         9. รู้สึกแย่ทุกครั้งที่ไม่ได้ยินเสียงเพลง

         10. สร้างเสียงเพลงจากอุปกรณ์รอบตัวได้เป็นจังหวะ เช่น เสียงไมโครเวฟทำงาน เสียงเครื่องซักผ้า หรือแม้แต่เสียงลมพัดใบไม้

         11. พยายามหลีกเลี่ยงปาร์ตี้หรือการมีทติ้งที่ไม่มีนักดนตรี

         12. ฟังเพลงเยอะมาก จนจำชื่อเพลงไม่ได้

         13. เปิดเพลงไม่หยุด หรือเล่นดนตรีไม่เลิก แม้จะมีคนบอกให้หยุดเล่นแล้วก็ตาม

         14. ใช้จ่ายเงินไปกับเสียงเพลงมากกว่าเรื่องอื่น ๆ

         15. ตามติดทุกคอนเสิร์ต แม้จะไม่ใช่ศิลปินโปรดของตัวเอง

         16. ขาดสมาธิจะทำอะไรหากไม่ได้ฟังเพลง

         17. ไม่แคร์หากนิสัยติดเสียงเพลงของเราจะทำให้ทะเลาะกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ตัว

         18. สิ่งแรกที่ทำหลังจากตื่นนอนคือการเปิดเพลงฟัง

         19. ชอบเปรียบเทียบคนรอบข้างเป็นเพลงที่ชอบฟัง

         20. จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีเมื่อฟังเพลง

         หากมีพฤติกรรมชอบฟังเพลงดังข้อมูลข้างต้นเกินกว่าครึ่ง อาจเป็นไปได้ว่าคุณมีภาวะ Music Addition แล้วล่ะค่ะ

วิธีรักษาโรค Music Addition

         ถ้าเช็กอาการแล้วคิดว่าใช่ ต้องใช่แน่ ๆ เราก็มีวิธีรักษาอาการ Music Addition มาให้ลองทำดังนี้

จดพฤติกรรมฟังเพลงของเราในแต่ละวันให้เป็นไดอารี่
    
         วิธีนี้จะช่วยให้เราวิเคราะห์ได้ถูกว่าเราใช้เวลาในแต่ละวันฟังเพลงไปมากน้อยแค่ไหน เป็นการรีวิวนิสัยชอบฟังเพลงอย่างที่เราไม่เคยได้สังเกตตัวเองด้วย

ลิสต์เหตุผลของการฟังเพลง

         ลองจดเหตุผลที่เราชอบฟังเพลงลงไปเป็นข้อ ๆ จะช่วยให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่คิดว่าถ้าขาดเพลงแล้วขาดใจ บางทีหากได้เห็นเหตุผลที่ทำให้เราชอบฟังเพลงขึ้นมาแล้ว เราอาจจะคิดได้ว่าไม่มีเสียงเพลงก็ไม่ถึงกับตายนี่นา

ลดเวลาฟังเพลง เพิ่มกิจกรรมอื่น ๆ

         แรกเริ่มเราต้องตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าวันนี้เราจะฟังเพลงแค่กี่ชั่วโมง ช่วงไหนบ้าง แล้วจะแทนที่ด้วยกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมตรงส่วนไหน เพื่อให้ร่างกายได้มีช่วงเวลาห่างกันสักพักกับหูฟังบ้าง ฝึกตัวเองให้ออกห่างจากเสียงเพลงอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยก็จะคุ้นชินกับการไม่มีเสียงเพลงคลออยู่ในหูตลอดเวลาได้ค่ะ

ออกไปข้างนอกให้บ่อยขึ้น

         หากปกติชอบหมกตัวอยู่กับห้องและฟังเพลง คราวนี้ขอให้เปลี่ยนมาขยับขาก้าวออกจากประตูห้อง และอย่าลืมทิ้งเครื่องเล่น MP3 หรืออุปกรณ์ฟังเพลงทุกชนิดไว้ที่ห้องด้วยนะคะ วิธีนี้จะช่วยหันเหความสนใจของเราไปหาสิ่งอื่น ๆ บ้าง ไม่ติดเสียงเพลงแจอย่างที่ผ่านมา

นึกถึงสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก

         อาการขั้นหนัก ๆ ของ Music Addition บางรายถึงกับขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะมัวจดจ่ออยู่กับเสียงเพลง โดยเฉพาะตอนขับรถ ฉะนั้นหากทำใจไม่ได้ที่จะไม่มีเสียงเพลงในชีวิต ก็คิดซะว่าเราเอาความใส่ใจที่ให้ไปกับเพลงมาจดจ่ออยู่ที่สิ่งที่ทำตรงหน้าจะดีกว่า อย่างตั้งใจขับรถอย่างมีสติและระมัดระวัง เป็นต้น

         หากรู้ตัวว่าติดฟังเพลงหนักมากแล้วเพิกเฉย ขอเตือนไว้เลยว่าถ้าไม่ใส่ใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นานวันเข้าอาจเกิดภาวะหลุดจากโลกแห่งความเป็นจริง แล้วพาตัวเองให้โลดแล่นไปตามเนื้อหาเพลงที่ฟังได้ ฉะนั้นแม้ Music Addition จะไม่กระทบกับสุขภาพร่างกายเท่าไรในระยะเริ่มต้น แต่เราก็ควรป้องกันเอาไว้ก่อนอาการจะถลำลึกจนยากเกินเยียวยา
    
         อย่างไรก็แล้วแต่ การฟังเพลงไม่ใช่กิจกรรมต้องห้าม เพียงแต่เราควรจำกัดขอบเขตของมันให้อยู่ในจุดที่พอดี และอยากให้จำไว้ว่า เราเป็นคนเลือกฟังเพลง ไม่ใช่ให้เพลงมากำหนดความเป็นเรานะคะ    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
SOFTPEDIA
Perdeby
wikiHow
STONES THROW
ChainLetters
Kapook.com
http://health.kapook.com/view140636.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่