++ 6 สิ่งสร้างความต่างให้ละครพีเรียด “ปดิวรัดา” จากข้อสังเกตในฐานะผู้ชม ++

1.    “ปดิวรัดา” เล่าเรื่องเก่า ด้วยจังหวะคนรุ่นใหม่

ในฐานะคนดูที่ชื่นชอบละครเรื่องนี้ ความดีความชอบส่วนใหญ่ ขอยกให้คุณบ๊วย นันทวรรณ รุ่งวงศ์พาณิชย์-ผู้เขียนบท
และพี่คิง สมจริง ศรีสุภาพ-ผู้กำกับ รวมทั้งทีมงานผู้สร้าง ที่สามารถ “ปรุง” บุคลิกตัวละครและเรื่องราวให้ออกมาในโทนที่สอดคล้องกับรสนิยมคนดูสมัยใหม่
ผู้สร้างรักษารายละเอียด ความงดงามของชีวิตยุคก่อนไว้ได้อย่างดี ในบรรยากาศที่ดูแล้วเหมือนพาเราหลุดเข้าไปอยู่ในสมัยนั้น
ทั้งการแต่งกาย บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ ร้านค้า รถรา ไปจนถึงนำการนำเอาคำเรียกเก่าๆ เก๋ๆ อย่าง “ตัว” และ “หล่อน”
คติชาวบ้านขำๆ และคำอุทานแสนจะน่ารักอย่าง “เอาแล้วเอาหลาว” , “คุณพระ” กลับมาใช้ในละครเรื่องนี้  
อาศัยจังหวะการเล่าเรื่องที่กระชับฉับไว ทำให้คนรุ่นใหม่เปิดใจดูได้อย่างไม่เบื่อไปเสียก่อน
เห็นได้เลยว่าตั้งแต่ตอนแรกๆ จะมีหลายเสียงชื่นชมว่าเดินเรื่องเร็ว ไม่อืดอาด
แต่ขณะเดียวกันคนดูก็ได้ละเลียดกับรายละเอียดต่างๆ อย่าง "เต็มอิ่ม" เช่นกัน





2.    บุคลิกตัวละครที่แตกต่าง

พระเอกไม่งี่เง่าหูเบา นางเอกอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ พ่อแม่วางตัวได้ดี เป็นผู้ใหญ่น่านับถือ
ตัวละครประกอบแสดงได้พอเหมาะพอสม ไม่น้อยจนไร้บทบาท และไม่มากจนน่ารำคาญ



คนที่ดูอย่างฉาบฉวย อาจเห็นแค่คำว่า “ภรรยาที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี”
แต่ถ้าได้ดูจริงๆ จะเห็นว่าละครเรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอแค่บทบาทของภรรยาเท่านั้น สามีเองก็รักษาสัตย์และทำหน้าที่ของตนอย่างดีเช่นกัน
เมื่อปลัดตกลงปลงใจแต่งงานกับรินแล้ว แม้จะถูกดวงสวาทพยายามยั่วยวน  และลึกๆ ในใจนั้นอาจยังเป็นห่วงเพราะคบหากันมานานนับสิบปี
แต่ก็ไม่ถลำลึกไปมีความสัมพันธ์ด้วย  
ฝ่ายรินแม้จะเป็นเพียง “แม่บ้าน” แต่ก็เป็นแม่บ้านที่ทำหน้าที่ “หลังบ้าน” ได้อย่างดีเยี่ยม
ถึงไม่ถนัดออกงานสังคม แต่ก็สนับสนุนงานของสามีอย่างสร้างสรรค์ด้วยการลงพื้นที่สร้างความไว้วางใจกับชาวบ้าน
ถ้าใครได้ดู ep.4, 5 และ 8 จะเห็นบทบาทของภรรยาตรงนี้เด่นชัดมาก


3.    นำเสนอค่านิยมเก่า พร้อมสอดแทรกค่านิยมใหม่ให้ผู้ชมได้ชั่งน้ำหนักและไปคิดต่อ ไม่ใช่แค่ดูแล้วจบๆ ไป

คนดูหลายคนอาจขัดใจกับคำสอนยุคเก่าของท่านผู้ใหญ่ในเรื่องนี้
เช่น คำปลอบใจของคุณหญิงเพ็ญแขที่ให้รินทำหน้าที่ของภรรยาอย่างดีแล้ว แม้จะไม่ได้รับความรักก็ยังได้ความเคารพ
คำสั่งของท่านเจ้าคุณบำรุงฯ ที่ให้รินทำหน้าที่ภรรยา ทำบ้านให้เป็นบ้าน รวมทั้งการยกให้สามีเป็นผู้ว่ากล่าวตักเตือนภรรยา ฯลฯ

แต่หากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า คำสอนเก่าเหล่านี้ “มีเหตุผลที่สอดคล้องกับยุคสมัยของตน”
เนื่องจากบทบาทของชายและหญิงในสมัยก่อนแตกต่างจากปัจจุบัน ชายเป็นเพศที่ได้รับอิสระค่อนข้างมาก ได้รับการศึกษา และได้รับโอกาสในการทำงานที่มากกว่าหญิง รวมทั้งถูกคาดหวังจากสังคมมากเช่นกัน ผู้ชายที่เป็นสามีจึงมีสถานะเสมือน “ผู้พิทักษ์ หรือ ผู้ปกครอง” ของภรรยาไปด้วย  
การไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงได้เรียนและทำงานนอกบ้านในสมัยนั้นเนื่องด้วยค่านิยมเก่าที่ชายเป็นใหญ่ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ
อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงในสังคมเก่าต้องพึ่งพาผู้ชายค่อนข้างมาก ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าชีวิตขึ้นอยู่กับสามีเลยทีเดียว
ซึ่งคนดูจะได้เห็นในตอนต่อๆ ไปจากนี้ว่า “ความดี” หรือ “ความเลว” ของสามีคนหนึ่งจะทำให้ชีวิตของผู้หญิงในสมัยก่อนพลิกผันได้มากขนาดไหน

แต่ขณะเดียวกันผู้สร้างก็ได้สอดแทรกแนวคิดที่ถือว่า “ใหม่” สำหรับยุคนั้นเข้ามาในเรื่องด้วย
ทำให้คนดูได้เห็นว่า ช่วงเวลานั้นเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสถานะระหว่างชายและหญิงในสังคมไทยแล้ว
เช่น การให้บุรณีดึงดันที่จะเรียนต่อจนกล้าปฏิเสธการแต่งงาน และยกย่องคนที่การศึกษามากกว่าฐานะทางการเงิน
และที่สำคัญคือ การสร้างบุคลิก “ภรรยาโฉมใหม่” ให้กับริน เมื่อสามีพูดจาไม่ให้เกียรติ ก็กล้าเอ่ยปากทักท้วง
เมื่อสามีปดว่าไม่ชอบสิ่งที่เธอทำ ก็หยุดปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านซะเลย (สไตรค์นั่นเอง)
และเมื่อสามีแสดงความไม่ชัดเจนในสถานะของเธอ รินก็ถึงขั้นหนีกลับพระนครทันที ไม่ยอมตกอยู่ในวังวนรักซ้อนที่ไม่ชัดเจน
จนปลัดต้องเป็นฝ่ายมาตามตัวกลับไป และตั้งใจจะสร้างความมั่นใจขึ้นใหม่ให้ริน
ขณะที่ปลัดศรัณย์แม้จะเป็นคนที่จริงจังเมื่อทำงาน แต่เมื่อกลับบ้านก็มักยอมให้ภรรยาเสมอ
ไม่ข่มเหงแม้จะมีสิทธิของสามี ให้เกียรติภรรยาเสมอด้วยเพื่อน และยอมรอ




4.    งานภาพแตกต่าง สวยงาม ทั้งภาพมุมสูงและภาพอาหารที่แสนจะน่ากิน

จุดนี้ขอชื่นชมจากใจจริง ไม่ได้ดูละครเรื่องไหนแล้วน้ำลายสอขนาดนี้เลย นับตั้งแต่เรื่อง “แม่ค้าขนมหวาน” กับ "สูตรเสน่หา" (2552)
ดูแล้วเหมือนได้รส ได้กลิ่นไปด้วย และไม่ใช่เพียงแค่อยากกิน แต่นึกอยากจะ “ลองทำ”  
ละครเรื่องนี้ทำให้คนทำกับข้าวไม่เก่งอย่างเรา มีทัศนคติที่ดีกับการทำอาหารขึ้นมาก
เพราะในเรื่องนี้สื่อชัดว่า อาหารและงานบ้านเป็น “บ่อเกิดของความผูกพัน” ที่จะค่อยๆ กลายเป็นความรักในที่สุด



ชอบคำพูดหนึ่งของคุณปลัดที่บอกว่า ขณะที่กำลังจะเผลอใจไปกับดวงสวาท เขาได้กลิ่นผ้าอบร่ำ เห็นม่านที่แขวนไว้รอบห้อง
แล้วก็รู้สึกเหมือนรินกำลังยืนมองอยู่ ชอบที่ปลัดสารภาพกับแม่ว่าความรู้สึกที่มี แม้จะยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นความรัก แต่เป็นความ “เกรงใจ”
ที่เกิดจากสิ่งที่ต่างๆ ที่รินทำให้ตลอดมา


5.    บทพูดของทุกตัวละครในเรื่องแฝงไว้ด้วยข้อคิด ไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครหลักเท่านั้น

ทั้งคุณโชติ กำนันคล้าย นายเสนอ แม่สาย หรือแม้แต่ดวงสวาทก็มีคำพูดชวนให้คิดตาม  
ขอชื่นชมผู้เขียนบทอีกครั้งที่ไม่ลืมจุดนี้ ที่ให้ทุกคนได้มีบทบาท แม้จะมีความสำคัญต่อเรื่องมากน้อยต่างกันไป




6.    ชีวิตคู่ไม่ใช่แค่ “เรื่องของผัวกับเมีย”

คนที่ช่วยประคับประคองและให้คำปรึกษาเรื่องชีวิตคู่แก่รินและปลัด ก็คือพ่อและแม่ของแต่ละฝ่าย
ชีวิตคู่ “แบบไทยๆ” ในสมัยก่อนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนเหมือนที่คนสมัยใหม่มอง แต่เป็นเรื่องของสมาชิกในครอบครัว
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เข้ามาจุ้นจ้านวุ่นวายหรือคอยจัดการกับทุกเรื่อง บางเรื่องก็ปล่อยให้สามีและภรรยามีเวลาพูดคุยทำความเข้าใจ และรู้จัก “จัดการ” กันเอง  
สำหรับเรา “ปดิวรัดา” สร้างมิติใหม่ให้ละครพีเรียดที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “เรื่องรักๆ ใคร่ๆ” แต่เป็น “เรื่องของครอบครัว”
ไม่ใช่แค่ดูสนุก แต่ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต อย่างที่อ่านผ่านไปเจอใน twitter หลายคนบอกเลยว่า
ปดิวรัดาเป็นละครที่ “แม่บอกให้ดู” “แม่ติดแล้วชวนพ่อมาดู” และ “เป็นละครที่ดูด้วยกันทั้งครอบครัว”


"นิยามความรัก" ในเรื่องนี้จึงประกอบด้วยคุณสมบัติหลายประการ
เริ่มจากการตระหนักในหน้าที่และหนักแน่นที่จะยึดมั่นตามคำสัญญา
ความอดทนที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การให้อภัยกับอดีตที่ผิดพลาดไป
และเหนืออื่นใดคือ “ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ” ที่ต่างฝ่ายต่างมีให้กัน
เป็นความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นลำดับ เหมือนการก่ออิฐทีละก้อนที่จะกลายเป็นบ้านที่มั่นคงต่อไป



[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


เพิ่มเติมสักนิด
หล่อนทั้งหลาย...เวลาแท็กอย่าพิมพ์ผิดนะ
#ปดิวรัดา นะจ๊ะ ไม่ใช่ #ปดิวรัดดา
พิมพ์ผิด ติดเทรนเฉย! 555 งงเลย

อันนี้ผิด!!!
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่