แจ้งผิดที่!!! ตำรวจไม่รับฟ้องทรูฯโยนให้สคบ.จัดการ

กระทู้ข่าว

ศุภสรณ์ โหรชัยยะ ตัวแทนจาก บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิว นิเคชั่น จำกัด (ทรูมูฟ เอช) เข้าร้องเรียนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) โดยมีพ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รองผู้บังคับการ (ที่ 3 จากซ้าย) และสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา (ที่ 3 จากขวา) รับเรื่อง


   บก.ปคบ.ไม่รับเรื่องร้องเรียนทรูฯ กรณีลูกค้าเอไอเอสโทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์สะดุด ส่งเรื่องต่อ สคบ. พิจารณาว่าคดีควรจะเป็นของใคร หากเป็นคดีอาญาถึงจะรับเรื่อง ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับการให้บริการของโอเปอเรเตอร์ต้องส่งให้กสทช.ดำเนินการ ด้าน สคบ.เผยต้องใช้เวลา 15 วัน ประสานคู่กรณีมาชี้แจงข้อเท็จจริง
      

       พ.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง รองผู้บัญชาการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บก.ปคบ.) กล่าวว่า จากการที่ตัวแทนจาก บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้เข้ามาร้องเรียนกรณีที่มีลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เป็นจำนวนมากถูกปิดกั้นไม่ให้สามารถโทร.ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของทรูฯ เบอร์ 1331 เพื่อสอบถามข้อมูลดำเนินการย้ายค่ายเบอร์เดิมจากเครือข่ายเอไอเอสมาเป็น ทรูมูฟ เอช ทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจนั้น ทางบก.ปคบ.ยังไม่สามารถรับเรื่องร้องเรียนเพื่อดำเนินคดีได้ เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดในการรับเรื่องร้องเรียน
      
       ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้มารับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแทน ซึ่งหาก สคบ.วิเคราะห์แล้วว่าเป็นคดีอาญา ทาง บก.ปคบ.ถึงจะดำเนินการให้ แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ก็ต้องส่งเรื่องไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการแทน ดังนั้นในวันนี้ (5 ก.พ.) ทรูฯต้องดำเนินการไปกรอกรายละเอียดเรื่องร้องเรียนที่สคบ.แทน ตามขั้นตอนปกติ ไม่มีการดำเนินการใดๆเป็นกรณีพิเศษ
      
       ด้านนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวว่า สคบ.ต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารก่อนโดยยืนยันว่าจะตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทราบว่าเรื่องนี้จะต้องส่งไปให้ใครดำเนินการ เพราะปกติแล้วสคบ.มีหน้าที่ดูแลเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าและบริการเท่านั้น ส่วนการให้บริการที่เกี่ยวกับโอเปอเรเตอร์นั้น เบื้องต้นคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ กสทช. ทั้งนี้โดยปกติแล้วต้องใช้เวลาประมาณ 15 วันในการดำเนินการและเชิญคู่กรณีที่ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูล
      
       ขณะที่ นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ผู้แทนจากทรูฯ กล่าวว่า ทรูฯมีหลักฐานการร้องเรียนจากผู้บริโภคที่โทร.เข้าคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้เป็นคลิปวิดีโอประมาณ 10 คลิป โดยคลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ชัดว่าเป็นลูกค้าเครือข่ายเอไอเอส โดยลูกค้าได้รับผลกระทบใน 3 รูปแบบ คือ 1.ตัดสายโดยทันที 2.ตัดเข้าระบบตอบรับด้วยเสียงของเอไอเอส เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของบริษัทและตัดสายและ 3.ตัดเข้าระบบตอบรับด้วยเสียงเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของบริษัทก่อนที่จะ ตัดเข้าคอลเซ็นเตอร์ของทรูฯ โดยกรณีการปิดกั้นลูกค้าดังกล่าวเกิดขึ้นกับลูกค้าเติมเงินในระบบ 2G ของเอไอเอสที่พยายามติดต่อขอข้อมูลมายังทรูมูฟ เอช ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
      
       ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การบังคับให้ผู้บริโภคที่จะโทร.ไปศูนย์บริการของเครือข่ายอื่น ต้องฟังข้อความประชาสัมพันธ์ของเครือข่ายตนก่อน หากจงใจขัดขวางการโทร.ออกของผู้บริโภคไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
      
       นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังมีการใช้มาตรการเชิงบวก คือการยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสมัครใจไม่ย้ายเครือข่าย ไม่ว่าการลดราคา หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ ซึ่งตามหลักธุรกิจแล้วถือว่าทำได้ เนื่องจากเป็นการสมนาคุณแก่ลูกค้าของตน แต่หากมีสภาพเป็นโปรโมชั่นแล้ว ย่อมไม่มีคำว่า ลับ เพราะ กสทช. กำหนดให้ค่ายมือถือต้องรายงานรายการส่งเสริมการขายให้สำนักงาน กสทช. ทุกเดือน การปกปิดรายการส่งเสริมการขายย่อมผิดกฎหมาย แต่หากเป็นการสมนาคุณเฉพาะบุคคลโดยไม่มีลักษณะเป็นรายการส่งเสริมการขายก็ อาจเป็นคนละกรณีกัน
      
       ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าบริการให้แตกต่างกันในบริการโทรคมนาคมลักษณะและประเภทเดียวกัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงกว่าในบริการแบบเดียวกันสามารถร้องเรียนเพื่อจ่ายในอัตราเดียวกับคนอื่นได้ และผู้ให้บริการก็ควรคำนึงถึงหัวอกของผู้บริโภคที่ยังภักดีและไม่ขอย้ายเครือข่ายด้วยว่า เหตุใดในที่สุดต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น และที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ภายหลังการประมูลคลื่น 4G เมื่ออุตสาหกรรมมีผู้ให้บริการายใหม่ หากเครือข่ายมือถือเดิมเสนอโปรโมชั่นลับในราคาที่ต่ำกว่าทุน ย่อมเป็นการกีดกันการค้า ส่งผลให้เป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และในระยะยาวจะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบเดิมๆ นับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้ดูผิวเผิน เสมือนว่าผู้บริโภคได้รับประโยชน์แต่ก็ในระยะสั้นเท่านั้น

ที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000012967
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่