สธ. เร่งยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติหลังพบคนไทยเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี 84.79%

กระทรวงสาธารณสุข จับมือ UNFPA Thailand และสสส.เดินหน้ายุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ หลังพบผู้ป่วยเอดส์มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์สูง 84.79% และแนวโน้มเยาวชนกลายเป็นผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น  ขณะที่การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยที่ผ่านมายังไม่เกิดประสิทธิภาพ
กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต) จับมือกับ UNFPA Thailand (กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จะจัดงานแถลงข่าวและเสวนา ยุทธศาสตร์ถุงยางอนมัยแห่งชาติ พ.ศ.2558-2562 “Public-Private Partnership เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีรักปลอดภัย”
จากข้อมูลยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติพ.ศ.2558-2562 ระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่น และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสหรือนอกสมรสมีอัตราเพิ่มขึ้น  และเมื่อทบทวนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในระยะที่ผ่านมาพบว่า  การใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือไปจากพนักงานบริการยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร  เนื่องจากประชากรกลุ่มดังกล่าวมีการใช้ถุงยางอนามัยในอัตราที่ต่ำ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง และส่งผลกระทบอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ในช่วงพ.ศ.2550-2554 ยังพบว่า เยาวชนมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น  นอกจากนี้การไม่ใช้ถุงยางอนามัยอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทยเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปีพ.ศ.2555 มีจำนวนผู้ป่วยเอดส์ทั้งสิ้น 376,274 ราย เป็นชาย 255,923 ราย และหญิง 120,351 ราย มีสัดส่วนชายต่อหญิงเท่ากับ 2 ต่อ 1
ในกลุ่มอายุ10-19 ปี พบว่า เพศหญิงมีสัดส่วนสูงกว่าเพศชาย (1.22 ต่อ1) และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ 97,344 ราย ผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์สูงถึง 84.79% โดยเป็นชายรักต่างเพศ 59.24% และเป็นหญิงรักต่างเพศ 25.56% รองลงมาเป็นกลุ่มที่ไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงและอื่นๆ 6.48%  ผู้ใช้ยาเสพติชนิดฉีด 4.94%  กลุ่มที่ติดเชื้อจากมารดา 3.77%  กลุ่มรับเลือด 0.02%
นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา โดยอัตราป่วยในปีพ.ศ.2548 เท่ากับ 41.5 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น93.4% ในปี พ.ศ.2555
จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า สภาพสังคมที่วัยรุ่นจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์ในขณะยังเป็นนักเรียน  นักศึกษา  และมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่ต่ำมาก  ทำให้มีอัตราการตั้งครรภ์สูง  และส่งผลให้มีการคลอดในวัยรุ่นและการทำแท้งในระดับสูง
จากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า การคลอดจากวัยรุ่นหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีของประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยในปี 2555 มีจำนวนสตรีที่คลอดอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 133,176 ราย และมีอัตราการคลอดจากหญิงอายุ 15-19 ปี เท่ากับ53.8 ราย ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1,000 คน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก31.1 ราย ในปีพ.ศ. 2543
ขอขอบคุณข้อมูลจาก    .isranews.org

Report by LIV APCO
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่