ทำไมต้องมีพระสังฆราช: ทุกอย่างต้องมีการบริหารจัดการ

กระทู้คำถาม
ปัจจุบัน มีชาวพุทธบางส่วนคิดว่า พระพุทธศาสนาจะต้องไม่มีการบริหารจัดการ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ การที่พระสงฆ์หมู่ใหญ่มีการฝึกอบรมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความพร้อมเพรียง ถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพจัดฉาก

นี่คือความเข้าใจผิด และเข้าไม่ถึงพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าคือผู้เป็นเลิศในการบริหารจัดการ

หลักฐานคือ พระวินัยปิฎก 8 เล่ม เนื้อหาหลายพันหน้า ที่พระองค์ทรงวางกฎระเบียบในการประพฤติตนของพระภิกษุ และการอยู่ร่วมกันของหมู่สงฆ์ ทำให้คณะสงฆ์ดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

<< เปิดกว้างการบวชแก่คนทุกชั้นวรรณะ >>

ในครั้งพุทธกาล ชาวอินเดียถือชั้นวรรณะมาก การแต่งงานข้ามวรรณะเป็นเรื่องห้ามขาด แม้เพียงไปเห็นคนจัณฑาลก็ถือเป็นเสนียด ต้องเอาน้ำล้างตา แต่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้คนทุกชั้นวรรณะ รวมทั้งจัณฑาลบวชได้เสมอกัน

การอนุญาตให้คนวรรณะต่ำบวชได้ รวมถึงจัณฑาลซึ่งขาดการศึกษา แล้วจะให้มีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของสาธุชน แม้พระราชาพบเห็นก็ต้องเคารพกราบไหว้ได้ นั่นหมายถึง พระพุทธองค์จะต้องวางระบบการฝึกอบรมพระภิกษุใหม่ไว้อย่างรัดกุม

พระภิกษุใหม่จะต้องถือนิสัยฝึกอบรมอยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างน้อย 5 พรรษา ทรงวางวัตรปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่ออาจารย์ อาจารย์ต่อศิษย์ไว้อย่างละเอียด

<< ปรับระบบการบริหารคณะสงฆ์ตามสภาพคณะสงฆ์ที่เติบใหญ่ขึ้น >>

ระบบการรับสมาชิกใหม่ คือการบวช ก็ทรงปรับวิธีการบวชเป็นระยะตามสภาพของคณะสงฆ์ที่เปลี่ยนไป

ระยะแรก พระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้เอง เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

ระยะที่สอง คณะสงฆ์เผยแผ่ไปในที่ต่างๆ มีผู้ศรัทธาขอบวชมากขึ้นเรื่อยๆ ตามหาพระพุทธเจ้าได้ยาก เพราะพระองค์จาริกไปในที่ต่างๆ จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เพียงรูปเดียวก็ให้การบวชพระได้ เพราะพระยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นพระอรหันต์วินิจฉัยใช้ได้

ระยะที่สาม คณะสงฆ์เป็นปึกแผ่นมากขึ้น และมีพระภิกษุที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์มากขึ้น จึงทรงปรับวิธีการบวชให้กระทำโดยสงฆ์อย่างน้อย 10 รูปขึ้นไปและมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

<< วางระบบการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ อย่างรัดกุม >>

ทรงวางระเบียบการบริหารปัจจัย 4 ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การรับ เก็บ ฉันภัตตาหาร การจัดหาและรักษาจีวร ยารักษาโรค ระเบียบการประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือนเพื่อทบทวนวินัย (ลงปาฏิโมกข์) ระเบียบการรับพระอาคันตุกะ การอยู่จำพรรษา การปวารณา ทรงกำหนดวิธีแก้ปัญหาเมื่อพระภิกษุเกิดการทะเลาะวิวาทขัดแย้งกัน

ทรงแต่งตั้งอัครสาวกซ้ายขวา และพระอรหันต์ที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ รวม 80 รูปให้เป็นแบบอย่างและเป็นผู้ช่วยในการดูแลบริหารจัดการคณะสงฆ์

ทรงบัญญัติวินัยสงฆ์ 227 สิกขาบท ซึ่งแต่ละสิกขาบท มีการบอกถึงเหตุที่เป็นต้นบัญญัติ ตัวสิกขาบท อธิบายความหมายของศัพท์แต่ละคำในสิกขาบท เพื่อความเข้าใจตรงกัน และเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว สงฆ์ไม่แน่ใจว่าผิดหรือไม่ พระองค์ก็ทรงวินิจฉัยไว้เป็นมาตรฐานในการตัดสินต่อไป เหมือนตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาในปัจจุบัน

ทรงวางระเบียบการปฏิบัติของคณะสงฆ์อย่างรัดกุม ทรงสอนแม้กระทั่งมารยาทในการนุ่งห่มสบงจีวร มารยาทในการเดินทางเข้าที่ชุมชน มารยาทในการขบฉันภัตตาหาร เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้หมู่สงฆ์สาวกเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย แม้อยู่รวมกันนับพันรูป ก็สามารถสำรวม สงบนิ่งเหมือนห้วงน้ำใส จนพระเจ้าอชาตศัตรูยังทึ่ง ปรารถนาจะให้พระราชโอรสของพระองค์มีความสงบงามเหมือนอย่างภิกษุสงฆ์

**การจัดงานให้เป็นระบบเรียบร้อย คือการประกาศคุณพระศาสดา**

เราชาวพุทธจึงควรระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจฝึกตนเองตามแบบอย่างพระองค์ จะจัดงานหรือทำกิจกรรมใดที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย ก็ขอให้มีการวางแผนบริหารจัดการให้ดีที่สุด ให้เป็นระเบียบงดงามมีประสิทธิภาพ ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ถือเป็นการประกาศคุณของพระพุทธเจ้า


การบริหารพระพุทธศาสนา
           ในสมัยพุทธกาล การบริหารคณะสงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีลักษณะเป็นธรรมาธิปไตย คือยึดธรรมเป็นใหญ่ ขณะเดียวกัน
พระพุทธองค์ก็ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่คณะสงฆ์ เช่นให้คณะสงฆ์เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มาขอบวชพร้อมกับติดตามดูแลหลังจากบวชให้แล้ว  เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่