ภาวะอากาศแปรปรวน - ทำไมกระแสน้ำไหลช้า แล้วมีผลกับอากาศขนาดนี้ (เรื่องเด่นเย็นนี้)

ดูรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เห็นว่า สภาวะอากาศแปรปรวน หนาวขึ้นมากในหลายๆ ประเทศเกิดจากกระแสน้ำที่ไหลช้าลง ถ้าจำไม่ผิด คำพูดประมาณนี้ คล้ายๆ กับหลักการในหนังเรื่อง The Day after Tomorrow เราไม่ค่อยเข้าใจว่ากระแสน้ำมีผลอย่างไรกับอากาศคะ นึกภาพไม่ออก รบกวนผู้รู้อธิบายด้วยคะ (จบสายภาษาคะ ไม่ค่อยเข้าใจวิทยาศาสตร์เท่าไร)
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
ร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทร ทำให้มหาสมุทรมีผลอย่างมากต่อสภาพภูมิอากาศ เพราะมหาสมุทรสามารถกักเก็บความร้อนไว้ได้ดี แล้วจึงค่อยๆ ปลดปล่อยความร้อนออกมา ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรสามารถไหลไปยังที่ต่างๆ เป็นระยะทางไกลได้  กระแสน้ำทำให้อุณหภูมิผิวน้ำเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายฝั่งทะเล  ยกตัวอย่างเช่น บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา อุณหภูมิบริเวณดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลจากความเย็นของกระแสน้ำแคริฟอร์เนีย ทำให้อากาศไม่ร้อนเกินไปนัก  ในทำนองเดียวกัน  กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมจะทำให้อุณหภูมิของประเทศอังกฤษไม่หนาวจัดเกินไปนัก

การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะได้รับอิทธิพลโดยตรงจากลม  กระแสลมที่พัดจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูง (จากเขตละติดจูดตอนกลาง) จะขับเคลื่อนกระแสน้ำให้ไหลหมุนเวียนตามเข็มนาฬิกาในบริเวณซีกโลกเหนือ แต่จะไหลทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้  กระแสน้ำเย็นจะเกิดขึ้นมากบริเวณตะวันตกของทวีปและกระแสน้ำอุ่นจะเกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทางตะวันออก บริเวณที่กระแสน้ำเย็นหลักไหลผ่าน (เช่น กระแสน้ำเย็นเปรู) มีแนวโน้มที่จะทำให้ฝนลดลง เพราะอากาศเย็นที่อยู่เหนือกระแสเย็นนั้นมีความชื้นน้อยมาก ดังนั้น เมฆฝนจึงไม่ก่อตัวขึ้นบริเวณนี้  ในขณะที่ บริเวณที่มีกระแสน้ำอุ่นหลักไหลผ่าน (เช่น กระแสน้ำกัลฟ์สตรีม) จะมีผลตรงกันข้าม เพราะกระแสน้ำอุ่นทำให้เกิดอุณหภูมิเหนือผิวดินอุ่นขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดสภาพความกดอากาศต่ำ


กระแสน้ำในมหาสมุทร คือ การเคลื่อนที่ของน้ำในมหาสมุทรในลักษณะที่เป็นกระแสธาร มีลักษณะการเคลื่อนที่สม่ำเสมอและไหลต่อเนื่องกันไปในทิศทางที่อาจจะกำหนดได้ ชนิดของกระแสน้ำแบ่งได้ 2 ชนิด คือ

กระแสน้ำอุ่น คือ กระแสน้ำที่มาจากเขตละติจูดต่ำและมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางขั้วโลก และมักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำที่อยู่โดยรอบ
กระแสน้ำเย็น คือ กระแสน้ำที่ไหลมาจากเขตละติจูดสูงเข้ามายังเขตอบอุ่นและเขตร้อนจึงทำให้กระแสน้ำเย็นลงหรืออุณหภูมิต่ำกว่าน้ำที่อยู่โดยรอบ

โดยสรุป การไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทรมีผลกระทบต่อสภาพอากาศได้ดังนี้

ผลต่ออุณหภูมิของอากาศบนผืนดิน เนื่องจากอากาศเหนือกระแสน้ำอุ่นจะอุ่น (และอากาศเหนือกระแสน้ำเย็นจะเย็น) อากาศที่เคลื่อนที่จากทะเลมาสู่ฝั่งพร้อมกันกับกระแสน้ำจะมีผลทำให้อุณหภูมิของอากาศบนผืนดินเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของกระแสน้ำ เช่น กระแสน้ำอุ่นแอตแลนติกเหนือที่ไหลเลียบฝั่งตะวันตกของทวีปยุโรปจะทำให้ในฤดูหนาวอากาศจะไม่หนาวจัด

ผลต่อความชื้นในอากาศ ลมที่พัดผ่านกระแสน้ำอุ่นมาสู่ผืนดินที่เย็นกว่าจะทำให้ความขื้นบนผืนดินเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นฝน  ในทางตรงกันข้ามลมที่พัดผ่านกระแสน้ำเย็นไปยังทวีปที่อุ่นจะทำให้อากาศแห้ง  ดังนั้น บริเวณชายฝั่งในเขตร้อนที่มีกระแสน้ำเย็นไหลผ่าน สภาพอากาศบริเวณนั้นจึงมักแห้งแล้งและบางแห่งเป็นทะเลทราย  ส่วนบริเวณที่กระแสน้ำอุ่นกับกระแสน้ำเย็นไหลมาบรรจบกันจะทำให้เกิดหมอก

ผลต่อสิ่งที่มีชีวิตในทะเล เกิดจากกระแสน้ำลอยตัวขึ้น โดยกระแสน้ำเย็นที่ไหลจากเขตหนาวเข้าไปในเขตร้อน เมื่อน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ และดึงน้ำจากท้องทะเลลึกด้านล่างขึ้นสู่ผิวน้ำด้านนำ พร้อมพัดพาแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆ ขึ้นมาด้วย ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในมหาสมุทร โดยเฉพาะแพลงตอน มีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น จึงขยายแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก ดึงดูดปลาต่างๆ ให้มาชุมนุมในบริเวณดังกล่าว

ผลต่อการคมนาคมขนส่ง การแล่นเรือทวนกระแสน้ำย่อมแล่นได้ช้าลงกว่าการแล่นเรือตามกระแสน้ำ  นอกจากนี้ กระแสน้ำเย็นอาจพัดเอาภูเขาน้ำแข็งเข้ามาในเส้นทางเดินเรือ ทำให้เกิดอันตรายต่อการคมนาคมขนส่งทางเรือได้

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่ากระแสน้ำในมหาสมุทรนั้น มีบทบาทสำคัญมากต่อระบบลมพายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อากาศเย็นจากขั้วโลกไหลมาพบกับอากาศอุ่นที่อยู่ใกล้กับกระแสน้ำอุ่น การมาเจอกันในลักษณะดังกล่าวของมวลอากาศเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดระบบการปะทะในขบวนการที่เราทราบกันดีว่า ขบวนการเกิดพายุไซโคลน รวมไปถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ทั้งนี้เพราะทะเลนั้นจะเก็บกักความร้อนไว้ยาวนานกว่าพื้นแผ่นดิน ซึ่งผิวน้ำทะเลจะค่อยๆ ปล่อยความร้อนออกมาช้าๆ เพื่อให้ความเย็นลดต่ำลงซึ่งเป็นลักษณะของฤดูหนาว เมื่ออุณหภูมิผิวน้ำทะเลค่อยๆ อุ่นขึ้นอย่างช้าๆ ก็จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือช่วงหน้าร้อนและจะเกิดความล่าช้าในหลายสัปดาห์หลังฤดูหนาวและฤดูร้อนในช่วงของวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลที่สุดจากเส้นศูนย์สูตรของโลก (ปกติประมาณวันที่ 21 มิถุนายน และ 22 ธันวาคม)

ก่อนที่มหาสมุทรจะมีอุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดของปี ผลจากความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างพื้นดินและทะเลนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งต่อลมฟ้าอากาศของท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูใบไม้ผลิ พื้นที่ชายฝั่งจะมีอากาศเย็นมากกว่าในพื้นที่ด้านในและลมทะเลจะอยู่ในสภาวะปกติ ทำนองเดียวกัน ถ้าอากาศอุ่นความชื้นในอากาศจะลอยตัวขึ้นไปสู่อากาศที่เย็นตัวกว่าและก่อตัวเป็นเมฆชั้นต่ำ หมอกหรือมีฝนตกปรอยๆ

http://www.greennet.or.th/article/1202
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่