กับดักรายย่อย ตอนที่ 1: เซียนหุ้นขาขึ้น

พอจะเริ่มเขียนก็งานยุ่งเลยครับ แต่ "เราจะทำตามสัญญา... (ที่ให้ไว้กับตัวเอง)" และก็เห็นยังพอมีคนติดตามอ่านอยู่ เลยปลีกเวลามานั่งเขียนครับ

สำหรับกับดับรายย่อยตอนนี้เป็นเรื่องของการหลอกให้ตายใจครับ
เราคงเคยได้ยินบ่อยๆ ว่าคนพึ่งเริ่มเล่นพนันมักจะมือขึ้น ส่วนคนพึ่งเริ่มเล่นหุ้นก็มักจะกำไร
เรื่องพนันนี่ผมไม่แน่ใจนะครับว่าทำไม แต่เรื่องหุ้นนี่มันมีสาเหตุที่ชัดเจนครับ

ถามนะครับ ว่าคุณคิดว่าช่วงไหนเป็นช่วงที่มีนักลงทุนหน้าใหม่ๆ เข้าตลาดมากที่สุด?
ก็ต้องเป็นช่วงหุ้นขาขึ้นถูกมั้ยครับ ยิ่งหุ้นร้อนแรง ก็ยิ่งดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ได้มาก

แล้วเคยสงสัยมั้ยครับ ว่าทำไมนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ถึงเก็งกำไรกันได้เป็นส่วนใหญ่ทั้งๆ ที่การเก็งกำไรมันเป็น zero sum game?
สาเหตุก็เป็นเพราะว่าช่วงหุ้นขึ้นมันเป็นเกมแจกเงิน (ปลอม) น่ะครับ



แล้วเค้าแจกเงิน (ปลอม) กันยังไง แล้วทำไมรายย่อยถึงได้กลายร่างจากเซียนหุ้นขาขึ้นมาเป็นแมงเม่า
เรามาดูกลไกการย้ายเงินจากกระเป๋ารายย่อยสู่กระเป๋ารายใหญ่ผ่านคณิตศาสตร์ง่ายๆ กันดูนะครับ

ลองสมมุติว่ามีหุ้นบริษัท MAO ออก IPO จำนวน 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท
แล้วมีรายย่อยมาซื้อไปคนละ 1 หุ้น จำนวน 10,000 คน
เงินที่ flow-in เข้าระบบก็จะเป็น 100*10,000 = 1,000,000 บาท
และสมมุติหุ้นตัวนี้เปิดตลาดวันแรกซื้อขายที่ 100 บาท
มูลค่าตลาดของบริษัท MAO ก็จะเท่ากับ 1,000,000 บาท ถูกมั้ยครับ

แล้วถ้าวันที่ 2 มีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามากว้านซื้อหุ้นบริษัท MAO วันละ 10 หุ้น
โดยสมมุติว่าทุกราคาที่เพิ่มขึ้น 1 บาท ก็จะมีรายย่อยขายหุ้นให้ 1 หุ้น
(ตามสถิติแล้วรายย่อยขายที่กำไร 1% บ่อยที่สุดครับ อันนี้ได้ยินเค้าบอกมา)
จบวันที่ 2 ราคาหุ้น MAO ก็จะซื้อขายกันที่ 110 บาท
เงินที่ flow-in ในระบบทั้งหมดก็จะเป็น (9,990x100)+(101+102+...+110) = 1,000,055 บาท
(รายใหญ่เอาเงินเข้า 101 รายย่อยเอาเงินออก 100 รายใหญ่เอาเงินเข้า 102 รายย่อยเอาเงินออก 100 ...)
เงินที่ flow-out ออกจากระบบก็คือกำไรของรายย่อย 10 คน = 1+2+3+4+5+6+7+8+9+10 = 55 บาท
แต่มูลค่าตลาดของบริษัท MAO กลับเป็น 1,100,000 บาท เริ่มรู้สึกแปลกๆ มั้ยครับ?

แล้ว portfolio ของแต่ละคนล่ะเป็นยังไงบ้าง
รายย่อยจำนวน 9,990 คน มีต้นทุนที่ 100 บาท ก็จะมีกำไรทางบัญชีกันคนละ 10%
ส่วนรายใหญ่กำไรทางบัญชีน้อยหน่อย เพราะทุนเฉลี่ยเค้าอยู่ที่ 105.5 ก็กำไร ~4%

แล้วถ้าวันที่ 3 เกิดเหตุการณ์เดียวกันอีก รายใหญ่เข้ามากว้านซื้อหุ้นบริษัท MAO อีก 10 หุ้น
จบวันที่ 3 ราคาหุ้น MAO ก็จะซื้อขายกันที่ 120 บาท
เงินจริงที่ flow-in ในระบบทั้งหมดก็จะเป็น (9,980x100)+(101+102+...+120) = 1,000,210 บาท
เงินจริงที่ flow-out ออกจากระบบก็คือกำไรของรายย่อย 20 คน จำนวน 65+155 = 210 บาท
แต่มูลค่าตลาดของบริษัท MAO กลับเป็น 1,200,000 บาท
รายย่อยจำนวน 9,980 คน มีต้นทุนที่ 100 บาท ก็จะมีกำไรทางบัญชีกันคนละ 20%
ส่วนรายใหญ่กำไรทางบัญชีน้อยหน่อย เพราะทุนเฉลี่ยเค้าอยู่ที่ 110.5 ก็กำไร ~10%

เริ่มเห็นอะไรมั้ยครับ ว่า ช่วงขาขึ้นทุกคนได้กำไร (ทางบัญชี)

แล้วสมมุติว่าเหตุการณ์นี้ดำเนินต่อไปอีกซัก 8 วันจะเป็นยังไงครับ
จบวันที่ 11 ราคาหุ้น MAO ก็จะซื้อขายกันที่ 200 บาท
เงินจริงที่ flow-in ในระบบทั้งหมดก็จะเป็น (9,900x100)+(101+102+...+200) = 1,005,050 บาท
เงินจริงที่ flow-out ออกจากระบบก็คือกำไรของรายย่อย 100 คน จำนวน 5,050 บาท
แต่มูลค่าตลาดของบริษัท MAO กลับเป็น 2,000,000 บาท
รายย่อยจำนวน 9,900 คน มีต้นทุนที่ 100 บาท ก็จะมีกำไรทางบัญชีกันคนละ 100%
ส่วนรายใหญ่กำไรทางบัญชีน้อยหน่อย เพราะทุนเฉลี่ยเค้าอยู่ที่ 150.5 ก็กำไร ~50%

แล้วทันใดนั้นเอง ขณะที่รายย่อยกำลังกระหยิ่มยิ้มย่องใจว่า
"ชั้นนี่ล่ะเซียนตัวจริง กำไรหุ้นเท่าตัวใน 11 วัน soros ยังต้องชิดซ้าย 555"

วันที่ 12 ลางร้ายก็มาเยือน เมื่อรายใหญ่เริ่มเห็นแล้วว่ารายย่อยกำลังฮึกเหิม
ข่าวก็ออกมาว่าหุ้น MAO เป็น disruptive technology กำลังจะเป็นหุ้น google ของเมืองไทย และจะไปถึง 500 บาทภายในปีนี้
รายใหญ่ก็เลยฉวยจังหวะรินขายออกมา 50 หุ้น แต่เนื่องจากรายย่อยกำลังฮึกเหิม
จึงมีรายย่อยมารับของที่ 200 บาท (ด้วยความเต็มใจ) จำนวน 50 คน
จบวันที่ 12 ราคาหุ้น MAO ยังซื้อขายกันที่ 200 บาท
รายย่อยจำนวน 9,900 คน มีต้นทุนที่ 100 บาท ก็จะมีกำไรทางบัญชีกันคนละ 100%
รายย่อยจำนวน 50 คน มีต้นทุนที่ 200 บาท ก็เท่าทุน
ส่วนรายใหญ่มี กำไรจริง (200-150.5) x 50 = 49.5x50 = 2,475 บาท
เงินจริงที่ flow-in ในระบบทั้งหมดก็จะเป็น (9,900x100)+(50x150.5)+(50x200) = 1,007,525  บาท
เงินจริงที่ flow-out ออกจากระบบก็คือกำไรของรายย่อย 100 คน 5,050 บาท + กำไรรายใหญ่ 2,475 บาท = 7,525 บาท
แต่มูลค่าตลาดของบริษัท MAO ยังเป็น 2,000,000 บาท (เท่าเดิม)

วันที่ 13 วันเผาจริง รายใหญ่รู้แล้วว่าราคาหุ้นมันมาได้แค่นี้
รายใหญ่ก็เทขายอีก 50 หุ้นภายใน 1 วัน แต่วันนี้รายย่อยไม่ได้ฮึกเหิมเท่าเมื่อวาน
เลยทำให้ราคาตก 1 บาท ทุกๆ การเทขายออก 1 หุ้น
จบวันที่ 13 ราคาหุ้น MAO จะซื้อขายกันที่ 150 บาท
รายย่อยจำนวน 9,900 คน มีต้นทุนที่ 100 บาท ยังมีกำไรทางบัญชีกันคนละ 50%
รายย่อยจำนวน 50 คน มีต้นทุนที่ 200 บาท ขาดทุนทางบัญชี 25%
รายย่อยอีก 50 คน มีต้นทุนเฉลี่ย 175 บาท (ขาดทุนเฉลี่ยขอไม่คิดละกันนะครับ)
ส่วนรายใหญ่มี กำไรจริง (175-150.5) x 50 = 24.5x50 = 1,225 บาท
เงินจริงที่ flow-in ในระบบทั้งหมดก็จะเป็น (9,900x100)+(50x200)+(50x175) = 1,008,750  บาท
เงินจริงที่ flow-out ออกจากระบบก็คือกำไรของรายย่อย 100 คน 5,050 บาท + กำไรรายใหญ่ 2,475+1,225 บาท = 8,750 บาท
มูลค่าตลาดของบริษัท MAO เป็น 1,500,000 บาท

วันที่ 14 รายย่อยตื่นตระหนก จึงมีรายย่อยส่วนหนึ่งขายทำกำไรออกมาจำนวน 50 หุ้น
โดยวันนี้ให้ราคาตก 1 บาท ทุกๆ การเทขายออก 1 หุ้น
จบวันที่ 14 ราคาหุ้น MAO จะซื้อขายกันที่ 100 บาท
รายย่อยจำนวน 9,850 คน มีต้นทุนที่ 100 บาท เท่าทุน
รายย่อยจำนวน 50 คน มีต้นทุนที่ 200 บาท ขาดทุนทางบัญชี 50%
รายย่อยอีก 50 คน มีต้นทุนเฉลี่ย 175 บาท (ขาดทุนเฉลี่ยขอไม่คิดละกันนะครับ)
รายย่อยอีก 50 คน มีต้นทุนเฉลี่ย 125 บาท (ขาดทุนเฉลี่ยขอไม่คิดละกันนะครับ)
รายย่อยจำนวน 50 คน ได้ กำไรจริง เฉลี่ยที่ (125-100) x 50 = 1,250 บาท
เงินจริงที่ flow-in ในระบบทั้งหมดก็จะเป็น
รายย่อยทุน 200 จำนวน 50 คน = 200x50 = 10,000 บาท
รายย่อยทุน 175 จำนวน 50 คน = 175x50 = 8,750 บาท
รายย่อยทุน 125 จำนวน 50 คน = 125x50 = 6,250 บาท
รายย่อยทุน 100 จำนวน 9,850 คน = 100x9,850 = 985,000 บาท
รวมเงินไหลเข้า = 1,010,000 บาท
เงินจริงที่ flow-out ออกจากระบบก็คือ
รายย่อยขายทำกำไรช่วงรายใหญ่กว้านซื้อจำนวน 100 คน ที่ราคา 101, 102, ..., 200 = 5,050 บาท
รายใหญ่ขายทำกำไรให้รายย่อย 100 คน ที่ราคา 200 บาท 50 คน ราคาเฉลี่ย 175 บาท 50 คน = 3,700 บาท
รายย่อยขายทำกำไรช่วงสุดท้ายจำนวน 50 คน ที่ราคา 125, 124, ..., 101 = 1,250 บาท
รวมเงินไหลออก = 10,000 บาท
มูลค่าตลาดของบริษัท MAO เป็น 1,000,000 บาท

สรุป
รายใหญ่ลงทุนเงิน 15,050 บาท ทำกำไรไป 1225+2475 = 3,700 บาท หรือกำไร ~25%
รายย่อย 50 คน ต้นทุน 200 บาท ขาดทุนทางบัญชี 100 บาทต่อหุ้น = 5,000 บาท
รายย่อย 50 คน ต้นทุนเฉลี่ย 175 บาท ขาดทุนทางบัญชี 75 บาทต่อหุ้น = 3,750 บาท
รายย่อย 50 คน ต้นทุนเฉลี่ย 125 บาท ขาดทุนทางบัญชี 25 บาทต่อหุ้น = 1,250 บาท
รายย่อยที่เหลือ 9,850 คน เท่าทุน

เรื่องจริง รายใหญ่เค้ามักจะไม่ขายหมดครับ แต่มักเหลือหุ้นส่วนนึงไว้ทุบราคาตอนสุดท้ายเพื่อเก็บของถูกเตรียมเล่นรอบใหม่ด้วยนะครับ วันนี้ขอตัวก่อนนะครับ (จบมันดื้อๆ งี้แหละ)

สำหรับคนที่พึ่งเข้ามาอ่านนะครับ ลองอ่านกระทู้นี้ประกอบด้วยน่าจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
http://ppantip.com/topic/34682995
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่