ที่มา:
http://www.matichon.co.th/news/10658
"การแสดงทั้งหลายของสัตว์ โดยเฉพาะช้าง กว่ามาเป็นภาพการแสดงให้คนเห็น แล้วรู้สึกน่ารัก แสนรู้ เบื้องหลังไม่ได้น่ารักเลย”
“อย่างช้างเป็นสัตว์ที่มีครอบครัว อยู่กันเป็นครอบครัวแบบคน ลูกช้างถ้าเป็นลูกสาวจะอยู่กับแม่กับโขลงชั่วชีวิต ถ้าเป็นลูกชายจะอยู่ประมาณ 8-9 ขวบจึงจะแยกตัวไป ความรักความผูกพันของแม่ลูก ลึกซึ้งมาก เขาจะอยู่ด้วยกันตลอด ปกป้องซึ่งกันและกัน
“แต่การต้องมาเป็นนักแสดง ลูกช้างต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังไม่หย่านม เพื่อมาฝึกตั้งแต่ยังเล็ก คิดด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ทำไมช้างตัวเบ้อเร่อต้องมาเชื่อฟังคำสั่งมนุษย์ตัวเล็กๆ”
“เพราะเขาถูกพรากมาตั้งแต่เป็นลูกช้าง ถูกฝึกจนเลือดตกยางออก จนกระทั่งเขาจำความเจ็บปวดได้ไม่มีวันลืม แล้วรู้ว่า ถ้าเขาไม่ทำตามที่มนุษย์ตัวเล็กๆ สั่ง เขาจะต้องเจ็บปวดยังไง
“เบื้องหลังคืออย่างนี้ทั้งนั้น และนี่คือสิ่งที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการแสดง”
นี่คือแรงบันดาลใจของ
“หนูนา-กัญจนา ศิลปอาชา” บุตรสาวคนโตสุดรักสุดหวงของ
“บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ที่วันนี้พลิกบทบาทจากนักการเมืองมาทำงานเป็น “นักอนุรักษ์ช้าง” โดยลุกขึ้นมา “ปรับเปลี่ยน” การแสดงแสง สี เสียง
“กฤษฎาภินิหาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี 2559
ด้วยการ “ยกเลิกใช้ช้าง-ม้าจริง” ในการแสดงที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตลอด 30-40 ปี มาเป็นนำเสนอด้วยเทคนิคสมัยใหม่ในระบบ “Multi Dimensions” เพื่อยุติการทรมานช้างที่เธอรู้เบื้องหลังว่า กว่าจะมาเป็นช้างที่แสนรู้น่ารักนั้น ช้างต้องผ่านความเจ็บปวดทรมานมาอย่างแสนสาหัส
“ใน จ.สุพรรณบุรี การแสดงแสง สี เสียง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการกระทำยุทธหัตถี ที่ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี มีทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม โดยตลอด 30-40 ปี ที่ผ่านมา ใช้ช้างจริง ม้าจริงในการแสดงมาโดยตลอด นาไปดูมาหลายปี ได้เห็นกับตา ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม เอฟเฟ็กต์ ไฟ พลุต่างๆ ปกติช้างตามธรรมชาติตื่นตระหนกง่าย ตื่นต่อแสง สี เสียง เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติเขา ธรรมชาติเขาจะอยู่ป่าอย่างสงบ แต่การที่เขามาแสดงแล้วไม่ตื่นตระหนก ลองคิดง่ายๆ ว่า เขาถูกฝึกมาอย่างหนักขนาดไหน เขาต้องถูกฝึกมาอย่างเหี้ยมโหด จนกระทั่งเขาสามารถนิ่งได้ ต่อเสียงตูมตาม ปุ้งปั้งขนาดนี้
“มันสะท้อนใจมาก แล้วพอนามาทำเรื่องนี้ ถ้าใน จ.สุพรรณบุรี ยังทำไม่ได้ จะเอาหน้าไปต่อสู้ที่ไหนได้ จะเอาหน้าไปพูดที่ไหนได้”
เมื่อตั้งใจมุ่งมั่นอยากจะช่วยช้างให้หลุดพ้นจากวงจรอันทารุณโหดร้าย เธอจึงเดินหน้าลุย! และคนสำคัญที่จะเป็น “แนวร่วม” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือ “คุณพ่อบรรหาร”
“คนแรกที่ต้องโน้มน้าวใจให้ได้ คือ พ่อตัวเอง” เธอว่า พลางหัวเราะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
“พ่อเป็นคนที่ค่อนข้างจะหัวโบราณ และทำอะไรมาก็จะทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ”
กัญจนาใช้เวลาโน้มน้าวอยู่นานพอสมควร ในที่สุดก็ “สำเร็จ”
“คุณพ่อเข้าใจและพูดว่า คนไทยรักช้าง ช้างเป็นสัตว์มีคุณูปการต่อแผ่นดิน ไม่อยากให้ถูกทรมาน หรือมาแสดงการกระทำอะไรที่ไม่ใช่พฤติกรรมทางธรรมชาติ เพราะเบื้องหลังคือการที่ต้องถูกฝึกอย่างทรมาน และทุกวันนี้ เราก็มี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ออกมาตั้งแต่ปลายปี 2557 จ.สุพรรณบุรี ต้องการทำให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นด้วย ไม่อยากให้มีการทรมานสัตว์ โดยเฉพาะช้างที่เป็นสัตว์ใหญ่และมีคุณต่อแผ่นดิน”
แม้จะได้ไฟเขียว แต่ก็มีเสียงต่อต้านบางส่วนจากคนสุพรรณบุรีว่า “จะสู้ช้างม้าจริงได้อย่างไร”
“นาเองก็ตอบไม่ถูก แต่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น อย่างนักร้องที่เสียชีวิตแล้ว เอลวิส เพรสลีย์ ก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีทำให้มีชีวิตขึ้นมาได้ เทคโนฯก้าวไปไกลมากแล้ว เชื่อมั่นในตัวผู้สร้างสรรค์งานคุณศุภักษร (ศุภวัฒน์ จงศิริ) ว่าต้องทำได้ เพื่อเป็นมิติใหม่ เป็นตัวอย่างให้การแสดงต่อๆ ไปไม่ต้องใช้ช้างจริงอีก”
และเมื่อวันที่ 18 มกราคม การแสดงแสง สี เสียง “รูปแบบใหม่” ก็เปิดฉากขึ้น คนสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจมาชมการแสดงจำนวนมาก ต่างฮือฮากับจอ LED ขนาดยักษ์ เกือบครึ่งสนามฟุตบอล ที่ผู้จัดใช้เทคนิค 3D Animation สร้างช้างในจอให้ดูมีชีวิตเสมือนจริง ถ่ายทอดอากัปกิริยา การเคลื่อนไหวของช้าง ให้เคลื่อนไหวตามการแสดง แล้วไปตัดต่อเข้ากับการแสดงของนักแสดงจริงที่ถ่ายทำไว้ ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิก ทำให้ดูเสมือนจริงแบบในภาพยนตร์โดยได้นักแสดงจากช่อง 3 มาแสดงร่วมกับนักแสดงอีกกว่า 700 ชีวิต
“ทุกคนแสดงได้ดีมาก มันให้ความรู้สึกได้ดียิ่งกว่าช้างม้าจริง อย่างตอนฉากยุทธหัตถี พระนเรศวรก้มลงไปพูดกับเจ้าพระยาไชยานุภาพว่า พ่อพลายเราเหลือกัน 2 คน ถ้าพ่อพลายไม่สู้ บ้านเมืองจะไม่สามารถหลุดพ้นได้ ขอให้พ่อพลายจงสู้ สีหน้าช้างที่เป็นแอนิเมชั่นแสดงออกได้เลย ตาเขาเป็นประกายวาว ซึ่งถ้าช้างจริง แสดงออกไม่ได้ เขาก็ได้แต่เดินหน้าถอยหลังตามที่คนบังคับเขาเท่านั้น”
หรือแม้แต่รายละเอียดที่ว่า ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรตัวเล็กกว่าพลายพัทธกอของพระมหาอุปราชา สู้แรงไม่ได้ แต่อาศัยยันโคนต้นพุทรา จนทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงกำชัยชนะได้นั้น แอนิเมชั่นสามารถรังสรรค์ได้ ผิดกับช้างจริงที่ทำไม่ได้
นี่คือความแตกต่างที่ทำให้ผู้ชมประทับใจ
“คุณพ่อที่หลังๆ ไม่ดูการแสดง มาครั้งนี้ก็อยู่ดู และประทับใจมาก คนสุพรรณฯก็ประทับใจ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เชื่อว่าถ้าใครได้มาดูจะรู้ว่า เราไม่ต้องใช้ช้างม้าจริงในการแสดงเพื่อให้เกิดการทรมานอีกแล้ว”
หรือแม้แต่ตัวเธอเอง “วันนั้นก็น้ำตาซึม” บอกด้วยน้ำเสียงตื้นตัน
นับเป็นการเปลี่ยนแปลง “ครั้งใหญ่” เป็น “ดอนเจดีย์โมเดล” ที่กัญจนาอยากให้เป็น “ตัวอย่าง” ของการแสดงแสงสีเสียง
“อยากให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องใช้สัตว์มีชีวิตมาแสดง ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจได้ไม่แพ้ และดียิ่งกว่าเสียอีก ต่อไปเราจะได้ไม่ทรมานฝึกเขาให้มาแสดงให้เราดูอีก”
แม้จะทำงานนี้ได้เพียง 2 ปี แต่ผลงานที่ออกมานับว่า “มาไกลมาก” กัญจนายืนยันว่า “จะทำจนวันตาย” แม้จะมีกระแสต่อต้านไม่น้อยจากกลุ่มที่คิดว่า เธอไปทำให้เขาเสียผลประโยชน์
“เขามีกลุ่มของเขาอยู่ เขาก็ว่าเรา แต่ไม่เป็นไร เราวางไว้หมด มองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เป็นไรเพราะถือว่า เรามีเจตนาดี” ต่อไปเธอจะเดินหน้ารณรงค์ด้วยการให้ความรู้คนได้ทราบถึง
เบื้องหลังความน่ารักแสนรู้ของช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างขี่จักรยาน ช้างวาดรูป ช้างเต้นระบำ คือ ความโหดร้ายทารุณ
“เชื่อว่า ทุกคนถ้ารู้เบื้องหลัง จะไม่มีใครสนุกบนความแสนรู้ของช้างอีกต่อไป เราจะมีความสุขไหม ถ้าเรารู้ว่าความสุขเราอยู่บนความทุกข์ทรมานของชีวิตอื่น” เธอตั้งคำถาม
“นาเคยไปดูช้างในปางที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติ ช้างสุข คนไปเที่ยวก็สุข นี่ต่างหากคือความสุขที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นกระแสไปทั่วโลกแล้ว หลายประเทศในยุโรปและอเมริกา เริ่มถอดสัตว์ โดยเฉพาะช้างออกจากการแสดง และทัวร์ต่างประเทศหลายทัวร์ที่เป็นทัวร์ใหญ่ๆ ถอดโปรแกรมการขี่ช้าง หรือดูการแสดงช้างออกไปจากโปรแกรมแล้ว”
สำหรับประเทศไทย นี่จึงเป็น “ความกล้า” ที่จะเปลี่ยนแปลง
“การแสดงครั้งนี้คือมิติใหม่ เป็นการประกาศศักราชใหม่ของการแสดงที่ไม่ทรมานสัตว์อีก และหลังจากนี้ งานดอนเจดีย์ฯ จะไม่มีช้าง-ม้าจริงแสดงอีกเลย” กัญจนาทิ้งท้าย
งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ งานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2559 จัดถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี โดยการแสดงแสง สี เสียง กฤษฎาภินิหาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีก 6 รอบ จัดในวันที่ 23-24 มกราคม และ 28-31 มกราคม เวลา 19.00-20.15 น.
เบื้องหลังความแสนรู้ไม่น่ารัก!! “หนูนา”ปลดช้างแสดงงานดอนเจดีย์
"การแสดงทั้งหลายของสัตว์ โดยเฉพาะช้าง กว่ามาเป็นภาพการแสดงให้คนเห็น แล้วรู้สึกน่ารัก แสนรู้ เบื้องหลังไม่ได้น่ารักเลย”
“อย่างช้างเป็นสัตว์ที่มีครอบครัว อยู่กันเป็นครอบครัวแบบคน ลูกช้างถ้าเป็นลูกสาวจะอยู่กับแม่กับโขลงชั่วชีวิต ถ้าเป็นลูกชายจะอยู่ประมาณ 8-9 ขวบจึงจะแยกตัวไป ความรักความผูกพันของแม่ลูก ลึกซึ้งมาก เขาจะอยู่ด้วยกันตลอด ปกป้องซึ่งกันและกัน
“แต่การต้องมาเป็นนักแสดง ลูกช้างต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังไม่หย่านม เพื่อมาฝึกตั้งแต่ยังเล็ก คิดด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ทำไมช้างตัวเบ้อเร่อต้องมาเชื่อฟังคำสั่งมนุษย์ตัวเล็กๆ”
“เพราะเขาถูกพรากมาตั้งแต่เป็นลูกช้าง ถูกฝึกจนเลือดตกยางออก จนกระทั่งเขาจำความเจ็บปวดได้ไม่มีวันลืม แล้วรู้ว่า ถ้าเขาไม่ทำตามที่มนุษย์ตัวเล็กๆ สั่ง เขาจะต้องเจ็บปวดยังไง
“เบื้องหลังคืออย่างนี้ทั้งนั้น และนี่คือสิ่งที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการแสดง”
นี่คือแรงบันดาลใจของ “หนูนา-กัญจนา ศิลปอาชา” บุตรสาวคนโตสุดรักสุดหวงของ “บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ที่วันนี้พลิกบทบาทจากนักการเมืองมาทำงานเป็น “นักอนุรักษ์ช้าง” โดยลุกขึ้นมา “ปรับเปลี่ยน” การแสดงแสง สี เสียง “กฤษฎาภินิหาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี 2559
ด้วยการ “ยกเลิกใช้ช้าง-ม้าจริง” ในการแสดงที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตลอด 30-40 ปี มาเป็นนำเสนอด้วยเทคนิคสมัยใหม่ในระบบ “Multi Dimensions” เพื่อยุติการทรมานช้างที่เธอรู้เบื้องหลังว่า กว่าจะมาเป็นช้างที่แสนรู้น่ารักนั้น ช้างต้องผ่านความเจ็บปวดทรมานมาอย่างแสนสาหัส
“ใน จ.สุพรรณบุรี การแสดงแสง สี เสียง เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการกระทำยุทธหัตถี ที่ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี มีทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม โดยตลอด 30-40 ปี ที่ผ่านมา ใช้ช้างจริง ม้าจริงในการแสดงมาโดยตลอด นาไปดูมาหลายปี ได้เห็นกับตา ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม เอฟเฟ็กต์ ไฟ พลุต่างๆ ปกติช้างตามธรรมชาติตื่นตระหนกง่าย ตื่นต่อแสง สี เสียง เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติเขา ธรรมชาติเขาจะอยู่ป่าอย่างสงบ แต่การที่เขามาแสดงแล้วไม่ตื่นตระหนก ลองคิดง่ายๆ ว่า เขาถูกฝึกมาอย่างหนักขนาดไหน เขาต้องถูกฝึกมาอย่างเหี้ยมโหด จนกระทั่งเขาสามารถนิ่งได้ ต่อเสียงตูมตาม ปุ้งปั้งขนาดนี้
“มันสะท้อนใจมาก แล้วพอนามาทำเรื่องนี้ ถ้าใน จ.สุพรรณบุรี ยังทำไม่ได้ จะเอาหน้าไปต่อสู้ที่ไหนได้ จะเอาหน้าไปพูดที่ไหนได้”
เมื่อตั้งใจมุ่งมั่นอยากจะช่วยช้างให้หลุดพ้นจากวงจรอันทารุณโหดร้าย เธอจึงเดินหน้าลุย! และคนสำคัญที่จะเป็น “แนวร่วม” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือ “คุณพ่อบรรหาร”
“คนแรกที่ต้องโน้มน้าวใจให้ได้ คือ พ่อตัวเอง” เธอว่า พลางหัวเราะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
“พ่อเป็นคนที่ค่อนข้างจะหัวโบราณ และทำอะไรมาก็จะทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ”
กัญจนาใช้เวลาโน้มน้าวอยู่นานพอสมควร ในที่สุดก็ “สำเร็จ”
“คุณพ่อเข้าใจและพูดว่า คนไทยรักช้าง ช้างเป็นสัตว์มีคุณูปการต่อแผ่นดิน ไม่อยากให้ถูกทรมาน หรือมาแสดงการกระทำอะไรที่ไม่ใช่พฤติกรรมทางธรรมชาติ เพราะเบื้องหลังคือการที่ต้องถูกฝึกอย่างทรมาน และทุกวันนี้ เราก็มี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ออกมาตั้งแต่ปลายปี 2557 จ.สุพรรณบุรี ต้องการทำให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นด้วย ไม่อยากให้มีการทรมานสัตว์ โดยเฉพาะช้างที่เป็นสัตว์ใหญ่และมีคุณต่อแผ่นดิน”
แม้จะได้ไฟเขียว แต่ก็มีเสียงต่อต้านบางส่วนจากคนสุพรรณบุรีว่า “จะสู้ช้างม้าจริงได้อย่างไร”
“นาเองก็ตอบไม่ถูก แต่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น อย่างนักร้องที่เสียชีวิตแล้ว เอลวิส เพรสลีย์ ก็ยังสามารถใช้เทคโนโลยีทำให้มีชีวิตขึ้นมาได้ เทคโนฯก้าวไปไกลมากแล้ว เชื่อมั่นในตัวผู้สร้างสรรค์งานคุณศุภักษร (ศุภวัฒน์ จงศิริ) ว่าต้องทำได้ เพื่อเป็นมิติใหม่ เป็นตัวอย่างให้การแสดงต่อๆ ไปไม่ต้องใช้ช้างจริงอีก”
และเมื่อวันที่ 18 มกราคม การแสดงแสง สี เสียง “รูปแบบใหม่” ก็เปิดฉากขึ้น คนสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจมาชมการแสดงจำนวนมาก ต่างฮือฮากับจอ LED ขนาดยักษ์ เกือบครึ่งสนามฟุตบอล ที่ผู้จัดใช้เทคนิค 3D Animation สร้างช้างในจอให้ดูมีชีวิตเสมือนจริง ถ่ายทอดอากัปกิริยา การเคลื่อนไหวของช้าง ให้เคลื่อนไหวตามการแสดง แล้วไปตัดต่อเข้ากับการแสดงของนักแสดงจริงที่ถ่ายทำไว้ ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิก ทำให้ดูเสมือนจริงแบบในภาพยนตร์โดยได้นักแสดงจากช่อง 3 มาแสดงร่วมกับนักแสดงอีกกว่า 700 ชีวิต
“ทุกคนแสดงได้ดีมาก มันให้ความรู้สึกได้ดียิ่งกว่าช้างม้าจริง อย่างตอนฉากยุทธหัตถี พระนเรศวรก้มลงไปพูดกับเจ้าพระยาไชยานุภาพว่า พ่อพลายเราเหลือกัน 2 คน ถ้าพ่อพลายไม่สู้ บ้านเมืองจะไม่สามารถหลุดพ้นได้ ขอให้พ่อพลายจงสู้ สีหน้าช้างที่เป็นแอนิเมชั่นแสดงออกได้เลย ตาเขาเป็นประกายวาว ซึ่งถ้าช้างจริง แสดงออกไม่ได้ เขาก็ได้แต่เดินหน้าถอยหลังตามที่คนบังคับเขาเท่านั้น”
หรือแม้แต่รายละเอียดที่ว่า ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรตัวเล็กกว่าพลายพัทธกอของพระมหาอุปราชา สู้แรงไม่ได้ แต่อาศัยยันโคนต้นพุทรา จนทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงกำชัยชนะได้นั้น แอนิเมชั่นสามารถรังสรรค์ได้ ผิดกับช้างจริงที่ทำไม่ได้
นี่คือความแตกต่างที่ทำให้ผู้ชมประทับใจ
“คุณพ่อที่หลังๆ ไม่ดูการแสดง มาครั้งนี้ก็อยู่ดู และประทับใจมาก คนสุพรรณฯก็ประทับใจ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ตระการตา เชื่อว่าถ้าใครได้มาดูจะรู้ว่า เราไม่ต้องใช้ช้างม้าจริงในการแสดงเพื่อให้เกิดการทรมานอีกแล้ว”
หรือแม้แต่ตัวเธอเอง “วันนั้นก็น้ำตาซึม” บอกด้วยน้ำเสียงตื้นตัน
นับเป็นการเปลี่ยนแปลง “ครั้งใหญ่” เป็น “ดอนเจดีย์โมเดล” ที่กัญจนาอยากให้เป็น “ตัวอย่าง” ของการแสดงแสงสีเสียง
“อยากให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องใช้สัตว์มีชีวิตมาแสดง ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจได้ไม่แพ้ และดียิ่งกว่าเสียอีก ต่อไปเราจะได้ไม่ทรมานฝึกเขาให้มาแสดงให้เราดูอีก”
แม้จะทำงานนี้ได้เพียง 2 ปี แต่ผลงานที่ออกมานับว่า “มาไกลมาก” กัญจนายืนยันว่า “จะทำจนวันตาย” แม้จะมีกระแสต่อต้านไม่น้อยจากกลุ่มที่คิดว่า เธอไปทำให้เขาเสียผลประโยชน์
“เขามีกลุ่มของเขาอยู่ เขาก็ว่าเรา แต่ไม่เป็นไร เราวางไว้หมด มองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เป็นไรเพราะถือว่า เรามีเจตนาดี” ต่อไปเธอจะเดินหน้ารณรงค์ด้วยการให้ความรู้คนได้ทราบถึงเบื้องหลังความน่ารักแสนรู้ของช้าง ไม่ว่าจะเป็นช้างขี่จักรยาน ช้างวาดรูป ช้างเต้นระบำ คือ ความโหดร้ายทารุณ
“เชื่อว่า ทุกคนถ้ารู้เบื้องหลัง จะไม่มีใครสนุกบนความแสนรู้ของช้างอีกต่อไป เราจะมีความสุขไหม ถ้าเรารู้ว่าความสุขเราอยู่บนความทุกข์ทรมานของชีวิตอื่น” เธอตั้งคำถาม
“นาเคยไปดูช้างในปางที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติ ช้างสุข คนไปเที่ยวก็สุข นี่ต่างหากคือความสุขที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้ก็เป็นกระแสไปทั่วโลกแล้ว หลายประเทศในยุโรปและอเมริกา เริ่มถอดสัตว์ โดยเฉพาะช้างออกจากการแสดง และทัวร์ต่างประเทศหลายทัวร์ที่เป็นทัวร์ใหญ่ๆ ถอดโปรแกรมการขี่ช้าง หรือดูการแสดงช้างออกไปจากโปรแกรมแล้ว”
สำหรับประเทศไทย นี่จึงเป็น “ความกล้า” ที่จะเปลี่ยนแปลง
“การแสดงครั้งนี้คือมิติใหม่ เป็นการประกาศศักราชใหม่ของการแสดงที่ไม่ทรมานสัตว์อีก และหลังจากนี้ งานดอนเจดีย์ฯ จะไม่มีช้าง-ม้าจริงแสดงอีกเลย” กัญจนาทิ้งท้าย
งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ งานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2559 จัดถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี โดยการแสดงแสง สี เสียง กฤษฎาภินิหาร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีก 6 รอบ จัดในวันที่ 23-24 มกราคม และ 28-31 มกราคม เวลา 19.00-20.15 น.