คิ๊กออฟ 4G LTE ในไทยยอดใช้งานพุ่ง 5 เท่าในปี 2561


คิ๊กออฟ 4G LTE ในไทยยอดใช้งานพุ่ง 5 เท่าในปี 2561
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

          ยักษ์ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม "อีริคสัน" จัดทำรายงานเกี่ยวกับการใช้โมบายทั่วโลกจนถึง พ.ย. 2558  พบว่าอัตราการเติบโตยังเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี เช่นเดียวกับ 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเลขหมายทั่วโลกทั้งสิ้น 7,400 ล้าน เลขหมาย เฉพาะไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 87 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะในอินเดียและแอฟริกา เพิ่ม 63 ล้านเลขหมาย คาดว่า ในปี 2021 จะขึ้นไปถึง 9,100 ล้านเลขหมาย เป็นเทคโนโลยี LTE 4,100 ล้านเลขหมาย มีอัตราการเติบโต 13% ต่อปี หากนับจากปี 2015 อัตราการเติบโตของ LTE จะมากกว่า 3G และจะมี 5G ให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยจะมีผู้ใช้ประมาณ 150 ล้านเลขหมาย

          การเติบโตของโมบายบรอดแบนด์ที่สำคัญคือ เทคโนโลยี 3G และ 4G โดยทุก ๆ วินาทีทั่วโลกจะมีการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้ โมบายบรอดแบนด์รายใหม่ 20 ราย ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทั่วโลกมีกว่า 3,400 ล้านเครื่อง ซึ่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีมากที่สุด และเติบโตเท่าตัวในปี 2021 โดยเพิ่มเป็น 6,400 ล้านเครื่อง

          สิ่งที่เห็นคือในไตรมาส 3 ปี 2015 มีการ ขายสมาร์ทโฟนเป็นสัดส่วน 75% ของโทรศัพท์ที่จำหน่ายได้ และทั่วโลกมีผู้ใช้ถึง 40% และในปี 2021 จะเพิ่มเป็น 70%

          สิ่งที่สำคัญในการผลักดันยอดขาย สมาร์ทโฟน คือการขยายโครงข่าย เพราะระบบจีเอสเอ็ม (2G) แม้ยังมีการใช้งานแต่เทคโนโลยี 3G ก็เติบโตและ 4G จะโตยิ่งขึ้นในทิศทางตรงข้ามกับ 2G และคาดการณ์ว่าในอนาคตทั้ง 3G และ 4G จะครอบคลุมประชากรทั่วโลก 90% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของ 3G ปัจจุบันอยู่ที่ความเร็ว 42 Mbps เพิ่มเป็น 63 Mbps ในไม่กี่ปีข้างหน้า

          ปี 2015 อัตราการใช้ดาต้าของสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 1.4 GB และแท็บเลตที่ 2.6 GB ต่อเดือน ซึ่งในปี 2021 จะเพิ่มเป็น 8.5 GB และ 9.7 GB ตามลำดับ หรือสูงขึ้นกว่า 10 เท่า อัตราการเติบโตของวิดีโอคอนเทนต์ จะโตขึ้น 14 เท่า และ 70% ของทราฟฟิกในปี 2021 จะเป็นวิดีโอ รองลงมาคือโซเชียลเน็ตเวิร์ก และเว็บไซต์

          ใน 1 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้ดาต้า แพ็กเกจ 2.1-5 GB มีมากที่สุด
          ปัจจุบันอุปกรณ์ที่เป็น IOT (Internet of Things) มีกว่า 1,500 ล้านอุปกรณ์ เพิ่มเป็น 28,000 ล้านอุปกรณ์ในปี 2021 จากการเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยี LTE รวมทั้ง LTE-A ที่จะเกิดก่อน 5G โดยต้องมีการรวมคลื่นความถี่ให้ได้กว้างถึง 20 MHz ที่เชื่อมต่อกันทำให้มีความเร็ว 150 Mbps หรือมีการรวมย่านความถี่หลายย่านให้บริการ LTE-A ซึ่งในออสเตรเลียทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 600 Mbps และมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว 48 ประเทศ

          "บัญญัติ เกิดนิยม" ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โอเปอเรเตอร์ในประเทศเกาหลีใต้จะมีบริการ 5G ภายในปี 2018 และญี่ปุ่นในปี 2020 ย่านความถี่ที่มีการศึกษามีตั้งแต่ 24 GHz-86 GHz เป็นย่านความถี่สูงมาก

          การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีในแต่ละภูมิภาคเริ่มเกิดขึ้น ทวีปอเมริกามีการให้บริการ LTE มากที่สุด จากการใช้งานจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา และในปี 2021 จะเป็นทวีปที่มีการผลักดันเข้าสู่ 5G เร็วที่สุด ด้วยส่วนในเอเชีย-แปซิฟิกปี 2021 จะมีการใช้งาน 50%

          รายงาน South East Asia and Oceania Report ระบุด้วยว่าการใช้เครือข่ายโมบายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนียจะสูงเกินกว่าพันล้านภายในปี 2015 คิดเป็น 14% ของตลาดโลก โดยการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มกว่า 2 เท่า ใน 5 ปีข้างหน้า สูงขึ้นถึง 850 ล้านเครื่อง ภายในปี 2021 มีปริมาณการใช้ดาต้ารับส่งข้อมูลเฉลี่ยต่อเดือนผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาก จาก 1.2 GB ในปี 2015 เป็น 9 GB ปี 2021

          สำหรับประเทศไทยในเมืองมีผู้ใช้ สมาร์ทโฟนแล้ว 62% และในปี 2018 จะเป็น 92% เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนต่างจังหวัด สำหรับผู้ใช้ LTE หรือ 4G ปัจจุบันมี 6% และในปี 2018 จะเพิ่มเป็น 30% โดยพฤติกรรมการใช้งานหลัก ๆ คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก, เว็บไซต์, วิดีโอคอนเทนต์ และมิวสิก สตรีมมิ่ง

          ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยมีการรับชมวิดีโอสั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 66% ทั่วโลก 57% ส่วนการรับชมภาพยนตร์ 44% และทั่วโลกเฉลี่ย 39% โดย 74% ของคนไทยใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน และในอนาคตทุกอย่างจะเชื่อมต่อกัน โดย 3 อุปกรณ์หลัก คือ โทรทัศน์, รถยนต์ และกล้องถ่ายรูป ดังนั้นการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดสังคมเครือข่าย ถ้าอัตราเฉลี่ยความเร็วของอินเทอร์เน็ตในประเทศเพิ่มขึ้น เท่าตัว จะมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มของ จีดีพีประเทศ 0.3%

          "คงพันธ์ ฉมารัตน์" ผู้อำนวยการฝ่าย ขายผลิตภัณฑ์ไอซีที บริษัทเดียวกันกล่าวว่า รายได้เฉลี่ยของโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก 40 ราย เติบโตเฉลี่ย 2.7% ในช่วงปี 2553-2557 หากแยกเป็นการเติบโตในการใช้งานดาต้า 30% เพราะผู้ใช้มีการใช้ดาต้ามากขึ้น แม้ว่ารายได้จะไม่เพิ่มขึ้น แต่รับรู้ พฤติกรรมของการใช้ดาต้าของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากวัดจากโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกกว่า 200 ราย มีกว่า 20 ราย รายได้ เติบโตขึ้น 9.6%

          แนวโน้มหลักที่โอเปอเรเตอร์ต้องทำ คือ 1.จำหน่ายสมาร์ทโฟนให้เข้าถึงผู้บริโภค 2.แผนการใช้ดาต้าร่วมกัน 3.การใช้งาน ที่ง่าย ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ ที่ดีขึ้น 4.การเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ 5.การสร้างคอนเทนต์ การใช้คอนเทนต์ และแอปพลิเคชั่น 6.ธุรกิจอื่น ๆ เช่น โมบายมันนี่ ต่าง ๆ 7.การหารายได้ 2 ด้าน ทั้งสนับสนุนการใช้ดาต้าฟรี และการบรรจุโฆษณา ผ่านดาต้า และ 8.ความสามารถของ เน็ตเวิร์ก

          "อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยใน 3-4 ปี ที่ผ่านมา ถือว่าทำได้ดี เนื่องจากความถี่มีไม่มาก แต่มีการใช้สมาร์ทโฟนสูงมาก ปัญหาที่ผ่านมา คือ โอเปอเรเตอร์ไม่สามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดี สิ่งสำคัญที่โอเปอเรเตอร์ต้องทำคือคุณภาพที่ดี รวมทั้งราคาที่สอดคล้องกับผู้บริโภคตามกลุ่มการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน"

          ทั้งคาดด้วยว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยกว่า 90% จะเป็นสมาร์ทโฟนในปี 2018 เทียบกับ 60% ในปี 2015 โดยการประมูลเครือข่าย 4G/LTE ที่ผ่านไป จะส่งผลให้มีการเปิดใช้ 4G/LTE ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า โดยมียอดสูงถึง 30% จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมดในปี 2018 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

          และการประมูลใบอนุญาต 4G บนคลื่น 1800 และ 900 MHz ส่งผลให้ประสิทธิภาพ และความเร็วเฉลี่ยของเครือข่ายโมบายบรอดแบนด์ในประเทศไทยดีขึ้น โดยผู้ใช้ สมาร์ทโฟนกลุ่มใหม่จะมาจากนอกตัวเมือง ทำให้การแข่งขันค่อนข้างดุเดือด และเป็น การแย่งฐานผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น โดยจะมีบริการใหม่ ๆ มากกว่าการแข่งขันด้านราคา รวมทั้งการหาลูกค้า

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 29)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่