"LTE-U vs. Wi-Fi" กับ 5 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ "Unlicensed LTE"



LTE-U vs. Wi-Fi

          กลายเป็นประเด็นร้อนในปัจจุบันที่เทคโนโลยีใหม่อย่าง LTE-U (LTE Unlicensed) จะมาร่วมใช้งานบนย่านความถี่ 5 GHz ร่วมกับเทคโนโลยี Wi-Fi ก่อให้เกิดความเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ที่สนับสนุนให้ใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้ระบบ LTE สามารถใช้งานได้ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น กับผู้ที่เห็นต่างเนื่องจาก LTE-U จะเข้ามาเบียดเบียนแบนวิธด์ของการใช้ Wi-Fi


Credit: NetworkWorld


Unlicensed Band คืออะไร

          ทำความรู้จักกันก่อน การใช้งานย่านความถี่ในปัจจุบันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ย่านหลักๆ คือ Licensed Band และ Unlicensed Band ย่านความถี่แบบ Licensed Band เป็นย่านความถี่ที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของ จำเป็นต้องมีการประมูลและขออนุญาตใช้งานจาก กสทช. ในขณะที่ Unlicensed Band เป็นย่านความถี่อิสระที่อนุญาตให้ใครมาใช้งานก็ได้ เพียงแค่ปฏิบัติตามกฏให้ถูกต้องเท่านั้น ถ้ายกตัวอย่างให้ชัดเจน ระบบโทรศัพท์มือถือและระบบ Wi-Fi 802.11n/ac ต่างเป็นเทคโนโลยียอดนิยมที่ใช้ย่านความถี่แบบ Licensed และ Unlicensed Band ตามลำดับ

LTE-U เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มช่องทางและความเร็วในการรับส่ง Data

          เนื่องจากการใช้งาน Data บนโทรศัพท์มือถือมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆและการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อเพิ่มช่องทางให้แก่ 3G/4G เป็นเรื่องที่กระทำการได้ช้า LTE-U (หรือ LAA: License Assisted Access) จึงเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ช่วยเพิ่มช่องทางและความเร็วในการรับส่งสัญญาณผ่านทาง Unlicensed Band โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐบาล เรียกว่าเป็นช่องทางเสริมที่เพิ่มขึ้นมาจากการใช้ระบบ LTE เดิมเพียงอย่างเดียว (ไม่ได้นำมาแทนที่ระบบเดิม) ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมต่อทั้งระบบ LTE และ LTE-U ได้พร้อมกัน ส่งผลให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยอัตราเร็วที่สูงขึ้น


Credit: TereAnalysis


คุณสมบัติสำคัญของ LTE-U

          * อุปกรณ์ที่รองรับระบบ LTE-U จะใช้ข้อบังคับเรื่องกำลังส่งเช่นเดียวกับอุปกรณ์​ Wi-Fi ในปัจจุบัน
          * LTE-U ไมไ่ด้ใช้เสา Macro Cell ในการบรอดแคสต์สัญญาณเหมือน LTE แต่จะใช้ Small Cell แทน
           ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในโรงพยาบาล ศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย โรงแรม และสนามกีฬา เป็นต้น
          * LTE มีประสิทธิภาพด้านสเปกตรัมที่ดีกว่า Wi-Fi กล่าวคือ LTE สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่า Wi-Fi ถึง 2 เท่าในกรณีที่ใช้กำลังส่งเท่ากัน

ใช้ย่านความถี่ 5 GHz เช่นเดียวกับ Wi-Fi

          อย่างไรก็ตาม LTE-U ที่กำลังทดสอบในปัจจุบันนั้นใช้งานบนย่านความถี่ 5 GHz เช่นเดียวกับ Wi-Fi ส่งผลให้อุตสาหกรรมไอทีออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย เนื่องจาก LTE-U จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการใช้งาน Wi-Fi ในขณะที่ฝั่งโทรคมนาคมหรือ ISP ต่างออกมาสนับสนุนเนื่องจากย่านความถี่ 5 GHz เป็นย่านสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ เช่นเดียวกับย่านความถี่ 2.4 GHz ที่มีการใช้งานทั้ง Wi-Fi, Bluetooth, Cordless Phone ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก

ผลกระทบของ LTE-U ต่อ Wi-Fi

          แน่นอนว่าการใช้งานบนคลื่นความถี่เดียวกันกับ Wi-Fi จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เป็นประเด็นสำคัญคือ โปรโตคอลของ Wi-Fi ถูกออกแบบมาให้ใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกับผู้อื่นในขณะที่ LTE ถูกออกแบบมาให้ใช้งานเพียงคนเดียว กล่าวคือ LTE จะอนุญาตให้รับส่งข้อมูลได้ทันทีโดยไม่สนใจว่ามีผู้อื่นใช้งานอยู่หรือไม่ ส่งผลให้ถ้าใช้งาน LTE ร่วมกับ Wi-Fi จะทำให้สัญญาณ Wi-Fi ถูกรบกวนอย่างรุนแรงจนไม่สามารถใช้งานได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโปรโตคอลของ LTE-U ให้สามารถใช้งานร่วมกับคลื่นสัญญาณอื่นได้ก่อนใช้งานจริง

ผลกระทบต่อผู้ใช้งาน

          ไม่มีการดีเบตระหว่างการใช้งาน LTE-U และ Wi-Fi นับว่าเป็นเรื่องดี เนื่องจากเป็นการผลักดันเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่า LTE-U จะออกมาในรูปแบบไหน ผลสุดท้ายผู้ใช้งานก็ได้รับผลประโยชน์ต่อความเร็วในการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอยู่ดี เพียงแค่อาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงโปรโมชันในการใช้งานโทรศัพท์มือถือผ่าน 3G/4G + LTE-U ให้มากขึ้นกว่าเดิม

5 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Unlicensed LTE

          [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

          โดยพื้นฐานแล้ว LTE-U เป็นแนวคิดใหม่ที่จะส่งข้อมูล 4G นอกจากบนคลื่นความถี่ของโอเปอเรเตอร์แล้ว ยังส่งข้อมูลไปบนคลื่นความถี่อิสระ (Unlicensed Band) เพื่อเพิ่มอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลอีกด้วย

1. คลื่นความถี่ที่ใช้เป็นคลื่นความถี่อิสระ ไม่ใช่ LTE

          คำย่อทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น LTE-U, LAA, MuLTEfire ต่างก็เป็นแนวคิดในการส่งสัญญาณบนคลื่นความถี่ Unlicensed Band ที่อนุญาตให้กระจายสัญญาณได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi, Bluetooth หรือเทคโนโลยีอื่นๆ คาดว่าหลายโอเปอเรเตอร์จะเริ่มใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวภายในปี 2016 เนื่องจากไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐบาล โดยตอนแรก LTE-U ถือว่าเป็นส่วนต่อขยายของคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ถืออยู่ เพื่อเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล หลังจากนั้น LTE-U อาจถูกใช้โดยองค์กรที่ไม่มีคลื่นความถี่เป็นของตนเอง

2. LTE-U ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโทรศัพท์มือถือ

          การเชื่อมต่อกับระบบ 4G นั้นเป็นการแชร์ช่องสัญญาณร่วมกัน ส่งผลให้เมื่อปริมาณผู้ใช้เพิ่มขึ้น ความเร็วในการรับส่งข้อมูลจะลดลง ผู้ใช้บางคนจึงเลือกที่จะเชื่อมต่อกับ Wi-Fi แทนเพื่อให้ได้ความเร็วที่สูงมากขึ้น แต่ถ้าโอเปอเรเตอร์ใช้ LTE-U ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับ 2 ช่องสัญญาณ (LTE และ LTE-U) ได้พร้อมกันโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนการเชื่อมต่อระบบเครือข่าย นอกจากนี้ LTE ยังมีแนวโน้มที่จะให้ประสิทธิภาพสูงกว่า Wi-Fi อีกด้วย

3. บางบริษัททางด้าน Wi-Fi คิดว่า LTE-U จะทำให้ระบบเครือข่ายไร้สายช้าลง

          Google, Wi-Fi Alliance และบางบริษัทด้านสายเคเบิลระบุว่า LTE ไม่ได้ใช้คลื่นสเปกตรัมแบบเดียวกับที่ Wi-Fi ใช้ เนื่องจาก LTE ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับคลื่นความถี่แบบ License Band ส่งผลให้ LTE-U อาจไม่แชร์การใช้งานดีๆร่วมกับ Wi-Fi ให้แก่ผู้ใช้ กลายเป็นเกิดการกวนกันของสัญญาณขึ้น นอกจากนี้ ถ้าคลื่นความถี่ Unlicensed Band มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ผู้ใช้ LTE สามารถกลับไปใช้คลื่นความถี่ของโอเปอเรเตอร์ได้ ในขณะที่ผู้ใช้ Wi-Fi ไม่มีช่องทางหลบหนีทีไล่ใดๆ ทั้งนี้ บางฝ่ายวิจารณ์ว่า โอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถืออาจจงใจใช้ LTE-U เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของ Wi-Fi ส่งผลให้ผู้ใช้หันมาใช้บริการของตนเองมากยิ่งขึ้น

4. ผู้เชี่ยวชาญบางรายคิดว่าไม่มีผลใดๆต่อระบบ Wi-Fi

          Qualcomm ได้ทำการสาธิตการใช้งาน LTE-U พบว่าไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆต่อระบบ Wi-Fi ซึ่งทาง Phil Marshall นักวิเคราะห์จาก Tolaga Research ก็ให้ความเห็นว่า บางทีการที่เทคโนโลยี LTE-U ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบ Wi-Fi อาจไม่ได้มาจากสาเหตุใดๆเลยก็ได้ เป็นเพียงแค่ปัญหาระหว่างทางฝั่งผู้ให้บริการ Wi-Fi กับผู้ให้บริการ LTE ที่ต้องการเหนือกว่าอีกฝ่าย

5. อาจจะแค่รอเวลาให้ทางฝั่ง Wi-Fi และ LTE ตกลงกันได้เท่านั้น

          Marshell ระบุว่า แม้จะมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างทั้ง 2 ฝั่ง แต่เรื่องเทคโนโลยี LTE-U นั้นสามารถพูดคุยหารือกันได้ แต่ละฝั่งก็เพียงแค่แบ่งผลประโยชน์กันให้ลงตัวเท่านั้น โอเปอร์เตอร์จะได้เริ่มใช้าน LTE-U ได้โดยที่ไม่มีใครบ่น ทั้งนี้ Wi-Fi Alliance ได้วางแนวทางการใช้งานร่วมกันระหว่าง LTE-U และ Wi-Fi เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ คาดว่าสักวันหนึ่ง LTE-U จะกลายเป็นอีกหนึ่งระบบเครือข่ายสำคัญที่ใช้เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน

ที่มา
http://www.networkworld.com/article/2991410/mobile-wireless/lte-u-vs-wi-fi.html
https://saran2530.wordpress.com/2015/03/22/laa/
http://www.networkworld.com/article/3002162/mobile-wireless/five-things-you-should-know-about-unlicensed-lte.html

แหล่งข้อมูล
LTE-U vs. Wi-Fi
https://www.techtalkthai.com/lte-u-vs-wi-fi/
5 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Unlicensed LTE
https://www.techtalkthai.com/5-things-you-need-to-know-about-lte-u/
ภาพประกอบบางส่วนจาก
http://www.theruckusroom.net/2015/07/lte-in-the-unlicensed-spectrum-continues-to-converge.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่