[CR] The Boy and The Beast : ครอบครัว / ผู้ปกครอง / สัตว์ประหลาด / อาจารย์ / เด็ก

หนังอนิเมชั่นญี่ปุ่นเรื่อง The Boy and The Beast (2015) หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่น "Bakemono no ko" โดยแปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงตัวว่า "เด็กของสัตว์ประหลาด"

"ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาโดยพ่อแม่ของตน เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ดีได้ไหม ?"
"การดูแลคนๆ หนึ่งให้ดีได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?"
"บทบาทของผู้ปกครองคืออะไร ?"
"บทบาทของอาจารย์คืออะไร ?"
"ครอบครัวคืออะไร ?"




"เร็น" เด็กผู้ชายแข็งๆ ปากดี กล้าคิดกล้าทำคนหนึ่ง กลายเป็นเด็กกำพร้าเมื่อแม่ของเขาด่วนจากไป พ่อที่แยกกันอยู่ก็ไม่ได้ติดต่อมาเลย ทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่กับญาติห่างๆ เร็นอยากอยู่กับพ่อของเขามากกว่า จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านด้วยความสับสน เขาหลงทางอยู่ตัวคนเดียวกลางย่านชิบูย่าอันวุ่นวาย

"คุมะเท็ตสึ" สัตว์ประหลาดเลือดร้อนขี้โวยวายแห่ง "จูเทนไง" ซึ่งเป็นเมืองคู่ขนานที่ซ้อนทับอยู่กับย่านชิบูย่า เขาต้องการชนะคู่แข่งในการประลอง การรับลูกศิษย์เก่งๆ สักคนก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกัน "คุมะเท็ตสึ" ได้พบกับ "เร็น" และนึกสนุกลองชักชวนให้เขาไปเป็นลูกศิษย์ เร็นปฎิเสธไปในตอนแรก แต่ก็แอบตามคุมะเท็ตสึเข้าไปในจูเทนไง ทำให้คุมะเท็ตสึต้องจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นอาจารย์มือใหม่ เร็นไม่ยอมบอกชื่อจริงของเขา คุมะเท็ตสึจึงเรียกเขาว่า "คิวตะ" ที่แปลว่า 9 ตามอายุของเร็น



ในตอนแรกทั้งคู่ปรับตัวเข้ากันแทบจะไม่ได้เลย "คิวตะ" ที่หัวแข็ง ไม่เคยนับถือหรือเชื่อฟังอาจารย์ของเขาแม้แต่น้อย "คุมะเท็ตสึ" ที่ทั้งขี้โมโห ทั้งไม่ชอบเข้าสังคมก็รำคาญคิวตะเต็มทน พวกเขาทะเลาะกันทั้งวันทั้งคืน จนคิวตะคิดจะหนีอีกครั้ง แต่เผอิญได้เห็นและตกตะลึงกับความเก่งกาจและแข็งแกร่งของคุมะเท็ตสึ เขาจึงค่อยๆ เปิดใจยอมรับ"อาจารย์"คนนี้ขึ้นมาบ้าง

น่าสนใจที่วิธีการ"บังคับให้เชื่อฟัง" ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กอย่างคิวตะ แต่การได้เห็น"ความเก่งกาจ" กลับสยบคิวตะได้อยู่หมัด กับวิธีการเลี้ยงดูลูก วีธีการเรียนการสอน หรือการปกครองก็คงเป็นเช่นเดียวกัน การที่ "ผู้ปกครอง" โชว์ให้เห็นว่าตนเองมีดี น่าจะทำให้ "ผู้อยู่ในปกครอง" สยบยอมอย่างเต็มใจมากกว่าการบังคับเป็นไหนๆ



คิวตะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเลียนแบบคุมะเท็ตสึ การเรียนการสอนที่ดีที่สุดคงเป็นการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างนั่นเอง เช่น ถ้าอยากให้ "ผู้อยู่ในปกครอง" โตไปไม่โกง "ผู้ปกครอง" ก็ต้องไม่โกงให้เห็นเป็นแบบอย่าง เป็นต้น แล้วจำเป็นไหมที่ "ผู้ปกครอง" หรือ "อาจารย์" ต้องผูกขาดหน้าที่ผู้ให้ความรู้แต่เพียงผู้เดียว  ในขณะที่ "ผู้อยู่ในปกครอง" หรือ "ศิษย์" ต้องเป็นแต่เพียงผู้รับที่ passive? หนังเรื่องนี้บอกว่า เมื่อเด็กสามารถเรียนรู้จากผู้ใหญ่ได้ ผู้ใหญ่เองก็สามารถเรียนรู้จากเด็กได้เช่นกัน และสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำก็ไม่ได้ถูกต้องที่สุด หรือดีที่สุดเสมอไป



คิวตะอยู่กับคุมะเท็ตสึจนเติบโตเป็นเด็กหนุ่มอายุ 17 ปี สำหรับทั้งคู่ พวกเขาคือ "ครอบครัว" แม้ว่าจะไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน ไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน หน้าตาไม่เหมือนกัน แต่พวกเขากลับคล้ายกันอย่างน่าประหลาด

อยู่มาวันหนึ่งคิวตะบังเอิญหลงกลับไปยังโลกคู่ขนาน ไปยังย่านชิบุย่าอันวุ่นวายที่เขาจากมาเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน และได้ลองกลับไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ปกติธรรมดา คิวตะก็เกิดคำถามว่า "ตัวเขาคือใครกันแน่ ?" เป็น "คิวตะ" หรือว่า "เร็น" และ "วิถีชีวิตแบบไหนที่เขาควรเลือก ?" "โลกใบไหนกันแน่ที่เขาควรอยู่ ?" คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสุดคลาสสิกของวัยรุ่น รวมถึงวัยอื่นๆในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยเช่นกัน แต่วัยรุ่นจะเป็นช่วงวัยแรกที่ต้องเผชิญกับคำถามประเภทนี้



การที่ "ผู้ปกครอง" จะเคารพในการตัดสินใจของ "ผู้อยู่ในปกครอง" ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกใจ "ผู้ปกครอง" เท่าไหร่นัก หรือ การที่ "อาจารย์" จะเคารพในทางเลือกของ "ศิษย์" ที่ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่อาจารย์ยึดมั่นนั้น ต้องใช้ความใจกว้าง ความเชื่อถือในคุณค่าของคนที่เท่าเทียมกัน และความกล้าหาญมากมายทีเดียว คุมะเท็ตสึก็เช่นเดียวกัน ในฐานะ "ครอบครัว" เขาเคารพในการตัดสินใจและเคารพในทางเลือกของคิวตะ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เห็นด้วยเลย แม้ว่าเขาจะต้องเป็นคนที่เจ็บปวดใจ แม้ว่าจะต้องโดดเดี่ยวเขาก็ยอมปล่อยให้คิวตะได้เติบโตออกไปสู่โลกภายนอก



น่าแปลกที่สัตว์ประหลาดอย่างคุมะเท็ตสึกลับเป็นทั้ง "อาจารย์" ทั้ง "ผู้ปกครอง" ทั้ง "ครอบครัว" ของเด็กคนหนึ่ง อยู่กับเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก หล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นมามากกว่ามนุษย์ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกับเขาเสียอีก



ตอนจบก็ต้องมาลุ้นกันว่าทางเลิอกของ "เด็ก" คนนี้ คืออะไร เขาจะเลือกเป็น "คิวตะ" หรือเป็น "เร็น" หรือเป็นทางเลือกข้ออื่นๆ หนังการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนี้กลมกล่อม ครบรส ทั้งงานภาพที่อลังการ เพลงประกอบที่ไพเราะ เนื้อเรื่องสนุกตื่นเต้น มีซึ้ง มีตลกแทรกเป็นระยะๆ จนไม่สามารถละสายตาไปจากหนังได้เลยตลอดเกือบ 2 ชั่วโมง จะดูเอามัน หรือดูให้ลึกลงไป ก็ยังมีอีกหลายประเด็นให้ขบคิดตีความ มากมายกว่าที่ยกมาพูดมาด้านบน จะพาเด็กไปดูก็ได้ หรือจะพาผู้ใหญ่ไปดูก็ยิ่งดี

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ชื่อสินค้า:   The Boy and The Beast
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่