ทีวีดิจิตอล ปี 2558 ใครรอด...ใครร่วง

ทีวีดิจิตอล ปี 2558ใครรอด...ใครร่วง

       หลังจากเริ่มดีเดย์ทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.57 เป็นต้นมา นับจนถึงปัจจุบันเกือบครบรอบ 2 ปีของการออกอากาศทีวีดิจิตอลไทย โดยในช่วงปีที่ผ่านมาหลังจากทดลองออกอากาศ ได้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลคาดการณ์ไว้ว่า ทีวีดิจิตอลบางช่องในปี 2558 อาจเกิดภาวะควบรวมกิจการ หรือเปลี่ยนมือผู้ประกอบการให้ได้เห็นกัน เนื่องจากจะเกิดภาวะการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของช่องทีวีจากเดิมที่มีเพียง 4-6 ช่อง มาเป็น 24 ช่อง
    
    สำหรับปี 2558 ทีวีดิจิตอลดาวรุ่ง ยังคงเป็นช่อง 7 และช่อง 3 ซึ่งยังคงยึดครองอันดับความนิยมอันดับ 1 และอันดับ 2 ได้อย่างเหนียวแน่น โดยมีคอนเทนต์สำคัญอย่างละคร วาไรตี้ เกมโชว์ ข่าว เป็นหัวหอกสำคัญดึงผู้ชมให้อยู่หน้าจอ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ช่องหลักอย่างช่อง 7 และช่อง 3 จะสามารถทำเรทติ้งได้สูง แต่ช่องทีวีดิจิตอลรายใหม่ อาทิ ช่องเวิร์คพอยท์, ช่อง 8, ช่องโมโน 29, ช่อง one, ช่องทรูโฟร์ยู และช่องไทยรัฐทีวี ก็สามารถแย่งชิงเรทติ้งมาครองได้ไม่น้อยและบางช่องสามารถทำเรทติ้งแซงหน้าช่อง 5 และ MCOT ซึ่งเป็นช่องอนาล็อกเดิมไปได้
    
    หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการชิงเรทติ้งในสงครามทีวีดิจิตอลคงหนีไม่พ้นคอนเทนต์ โดยแต่ละช่องพยายามดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตรายการวาไรตี้ ละครรสแซ่บ หรือแม้แต่ช่องที่วางตำแหน่งของช่องหนังเด่นซีรีย์ดังจากต่างประเทศระดับฮอลลีวู้ดมาอัดแน่นเต็มจอ ซึ่งจากจุดแข็งดังกล่าวกลายเป็นภาพลักษณ์ในความจำของผู้ชม

    นอกจากปี 2558 จะเป็นปีที่มีช่องน้องใหม่ประสบความสำเร็จเป็นช่องทีวีดิจิตอลดาวรุ่งแล้ว ปีนี้ยังเกิดปรากฎการณ์ทีวีดิจิตอลดาวร่วงให้เห็นกันภายในเวลาเพียง 2 ปี และสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับวงการทีวีดิจิตอล เมื่อช่อง 17 ไทยทีวี และช่อง LOCA (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เอ็มวีทีวี แฟมิลี่) ของเจ้าแม่สื่อสิ่งพิมพ์วงการบันเทิง เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล หรือพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ได้เปิดรับพันธมิตรรายใหม่คือ นายชัยยุทธ ทวีปวรเดช เจ้าของธุรกิจทีวีดาวเทียมภายใต้ชื่อ เอ็มวีทีวี เป็นพันธมิตรทางธุรกิจให้กับช่อง LOCA โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นช่อง เอ็มวีทีวี แฟมิลี่ และนำผู้ร่วมทุนรายใหญ่อย่างกลุ่มกระจกไทยอาซาฮี และกลุ่มโอสถสภาเข้าร่วมทุนด้วย

    ต่อมาในช่วงเดือน ต.ค. ช่องไทยทีวี ก็เกิดกระแสข่าวการเจรจาระหว่างนางพันธุ์ทิพา กับ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เจ้าของบริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด เพื่อเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจให้กับช่องไทยทีวี แต่ยังไม่ทันได้ชำระเงินค่าใบอนุญาตและค่าปรับให้กับ กสทช. ก็เกิดเหตุการณ์จอดำกับทั้งสองช่องขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 60 วัน สำหรับการพักใบอนุญาตชั่วคราว ซึ่งยังคงเหลือเวลาอีก 30 วันต่อจากนี้จะครบกำหนดการพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราว 90 วัน ทำให้หลายฝ่ายเตรียมจับจ้องว่าต่อจากนี้ กสทช.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และนางพันธุ์ทิพา จะเคลื่อนไหวอย่างไร
    
    ในส่วนของเม็ดเงินโฆษณาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จากการเปิดเผยของนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า เม็ดเงินโฆษณาในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2558 มีมูลค่ารวม 91,536 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีอนาล็อก 43,565 ล้านบาท และทีวีดิจิตอล 15,787 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ไตรมาสของปีที่แล้ว 4,309 ล้านบาท จากตัวเลขเม็ดเงินดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในปี 2558 เม็ดเงินจากทีวีอนาล็อกถูกดึงมาสู่ช่องทีวีดิจิตอลรายใหม่ๆ อาทิ ช่องเวิร์คพอยท์, ช่อง 8, ช่องโมโน 29, ช่องวัน เป็นต้น
    
    แต่อย่างไรก็ตาม แม้เม็ดเงินโฆษณาในช่องทีวีดิจิตอลจะเกิดการกระจายลงสู่ 24 ช่องมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมอย่างเศรษฐกิจ และเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง รวมถึง นโยบายของ กสทช. ที่ยังคงไม่แน่นอนและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ส่งผลให้ปี 2558 รายได้ของผู้ประกอบทีวีดิจิตอลไม่เป็นไปตามเป้าไปด้วย อาทิ ช่อง 3 รายได้ประมาณการของช่อง 3 ในสิ้นปีนี้คาดว่าจะลดลง 5-8% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งภาวะนี้ไม่ใช่เพียงแค่ช่อง 3 ที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นทั้งอุตสาหกรรมสื่อเกือบทั้งหมด โดยภาพรวมรายได้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีรายได้ลดลง 7-8% ซึ่งน้อยกว่าภาพรวมโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกที่มีรายได้ติดลบ 12%
    
    เช่นเดียวกับช่อง 8 ที่มีรายได้หยุดชะงักไปบ้างในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่ในช่วงไตรมาส 2-3 กลับมาดีขึ้น แต่แม้เทียบกับรายได้ตลอด 9 เดือนของปี 2557 ช่อง 8 มีรายได้ลดลง

    ด้านเวิร์คพอยท์ แม้จะมีรายได้จากรายการโทรทัศน์รวมกว่า 589 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้จากรายการโทรทัศน์รวมกว่า 594 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายได้การขายโฆษณา แต่เวิร์คพอยท์ก็ยังมีกำไรมากกว่าปีที่ผ่านมา
    
    ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในปี 2558 ช่องทีวีดิจิตอล กลุ่มทีวีดิจิตอลที่มีความโดดเด่นยังคงเป็นกลุ่มเดิมที่อยู่ในอันดับ Top 10 อาทิ ช่อง 7, ช่อง 3, ช่องเวิร์คพอยท์, ช่อง 8, ช่องโมโน 29, ช่องวัน, MCOT, ไทยรัฐทีวี, TRUE4U เช่นเดียวกับปี 2557 ส่วนกลุ่มทีวีดิจิตอลท้ายตาราง ต้องทำงานหนักกว่าเดิม โดยมีการคาดการณ์ว่าหากภาวะเศรษฐกิจยังคงซบเซาอีกในปี 2559 เม็ดเงินโฆษณาคงไม่โตเกินกว่า 5-8% ซึ่งช่องที่มีเรทติ้งน้อยจะเหนื่อยหนักและสาหัสกว่าปีนี้อีกหลายเท่า รวมทั้ง อาจได้เห็นช่องทีวีดิจิตอลทิ้งทุ่นตามเจ๊ติ๋มไปอีกคน

ที่มา daradaily
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่