4 เทรนด์ไอทีที่ธุรกิจต้องรับมือในปี 2559



4 เทรนด์ไอทีที่ธุรกิจต้องรับมือในปี 2559
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559

          ในช่วงปีที่ผ่านมาแม้จะมีการคาดการณ์กันว่าเทรนด์ไอทีในปี 2558 จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรนั้น ในปี 2559 เทรนด์นี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก เนื่องจากเทรนด์ดังกล่าวยังคงส่งผลต่อธุรกิจโดยภาพรวม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมาคือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เสริมเข้ามาเพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมไอที เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นไปในทิศทางที่ล้ำสมัยมากขึ้น
       
          คลาวด์ บิ๊กดาต้า โมบิลิตี้ และโซเชียล กลายเป็นเทรนด์ที่คาดการณ์กันว่าจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจระดับโลกรวมถึงในเมืองไทย ถือเป็นเทคโนโลยีในแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 ที่ธุรกิจต้องเปลี่ยนผ่านจากการทำงานรูปแบบเดิมไปสู่การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ การลดต้นทุนด้านการจัดเก็บ การทำงานที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเจาะจงสถานที่ และการติดต่อสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้โลกแคบลงแต่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มากขึ้น
       
          ไมเคิล อาราเน็ตตา ผู้จัดการประจำไอดีซีประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2559 นี้อุตสาหกรรมไอทีของไทยจะมีการทำดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันและลงทุนในแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 เพิ่มขึ้น คาดว่าภายในสิ้นปี 2560 กว่า 50% ของ 100 องค์กรชั้นนำในไทยจะมีดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ถือเป็นการช่วยรัฐขับเคลื่อนแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิตอลไปในตัว
       
          คลาวด์มาแรงที่สุดและจะเริ่มเติบโตในเมืองไทยอย่างชัดเจน
       
          ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแม้จะมีการพูดถึงคลาวด์กันบ้างแล้ว แต่หากจะมองในเรื่องของการลงทุนอย่างชัดเจนนั้นจะเห็นได้ว่า ยังไม่มีใครกล้าออกมายืนยันได้อย่างเต็มที่ แต่สำหรับในปี 2559 นี้ คลาวด์จะเริ่มมีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งไอดีซีคาดว่า ภายในปี 2561 การลงทุนด้านคลาวด์จะมีสัดส่วนเป็นอย่างน้อย 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด และภายในปี 2563 เงิน 30% ของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับคลาวด์ ในขณะที่สัดส่วนของคลาวด์จะสูงถึง 30-35% ของค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ เซอร์วิส และเทคโนโลยีทั้งหมด
       
          ทั้งนี้การที่ธุรกิจจะดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันในเชิงธุรกิจต้องมีคลาวด์เป็นพื้นฐาน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการใช้บริการผ่านคลาวด์ โดยภายในปี 2563 การใช้จ่ายขององค์กรสำหรับบริการผ่านคลาวด์ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อซัปพอร์ตบริการผ่านคลาวด์ และการบริการเพื่อใช้งานและจัดการบริการผ่านคลาวด์จะมีมูลค่าสูงกว่า 350 ล้านดอลลาห์สหรัฐซึ่งถือเป็นการเติบโตขึ้น 100% จากปัจจุบัน
       
          สมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การใช้งานคลาวด์ของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้บริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์ อย่าง Office 365 เติบโตตามไปด้วย โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตมากกว่า 100% ทุกปี โดยตลาดสำคัญของบริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์คือกลุ่มธุรกิจ การเงินการธนาคาร ตลาดทุน สายการบิน รวมไปถึงในส่วนของเอสเอ็มอีก็ยังมียอดขายที่เติบโตเช่นกัน
       
          เช่นเดียวกับที่ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC กล่าวว่า จากการสำรวจทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก การใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง และ บิ๊ก ดาต้า จะยังเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นในปี 2559 โดยหลายหน่วยงานทั้งเล็กและใหญ่ให้ความสนใจทั้ง พับลิก คลาวด์ และ ไพรเวท คลาวด์โดยเฉพาะบริการ SaaS ทั้งระบบอีเมล์ หรือระบบซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสาร เช่น Office อินฟราสตรัคเจอร์ Cloud Computing จะมีการใช้งานมากขึ้น
       
          โดยจากผลการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง Cloud Computing in Thailand Readiness Survey สำรวจพบองค์กรไทยเกิน 50% ตื่นตัวคลาวด์ และมีแผนที่ใช้ ไพรเวท คลาวด์ รวมไปถึง พับลิก คลาวด์ โดยส่วนใหญ่จะเห็นประโยชน์ของการนำคลาวด์ มาใช้ในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และการขยายขนาดของการใช้งานได้รวดเร็ว
       
          บิ๊กดาต้ามาแน่นอนในยุคที่ข้อมูลล้นทะลัก
       
          บิ๊กดาต้าจะเข้ามามีบทบาทสูงในองค์กรธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจทุกส่วนมีแนวโน้มประยุกต์และลงทุนโครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เพียงหน่วยงานโทรคมนาคมหรือธนาคาร แต่หลายภาคอุตสาหกรรมต่างเห็นความสำคัญและลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยี บิ๊ก ดาต้า มาเสริมแกร่งทางธุรกิจ สำหรับในเมืองไทย ตลาดอุปกรณ์ไอทีพกพาหรือโมบายล์จะขยายตัวชัดเจนในปี 2559อันเนื่องจากการมาของ 4G
       
          โดยมีการคาดการณ์กันว่าจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอีก 25 ล้านคน และภายในปี 2561 เมืองไทยจะมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์แรกเป็นจำนวน 50 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 73% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างต่อองค์กรต่างๆ เกิดการใช้ระบบคอกนิทีฟในการวิเคราะห์ การรองรับการใช้งานแบบออฟไลน์ และประสิทธิภาพของบิ้ก ดาต้าอย่างมาก
       
          นอกจากนี้ในส่วนของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Internet of Thing หรือ IoT ก็กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ คาดว่าในปี 2559 IoT ใน เมืองไทยจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีทีสามารถใช้งานได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เพราะจะมีบทบาทในการเข้ามาทำให้การทำงานทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วยการผสาน อุปกรณ์โมบาย และเทคโนโลยีนี้มีความจำเป็นต้องอาศัยบิ๊ก ดาต้าในการประมวลผลเช่นกัน
       
          โมบิลิตี้และโซเชียลมีเดียตัวเชื่อมโยงทุกส่วนเข้าหากัน
       
          การใช้งานแบบโมบายล์ เริ่มคุ้นชินแล้วกับการทำงานในสังคมไทย แม้ว่าผลสำรวจของไมโครซอฟท์จะพบว่า 82% ของบริษัทในเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายสนับสนุนการทำงานนอกออฟฟิศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของพนักงานในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ที่ไม่สนับสนุนการทำงานจากที่อื่นเพียง 67% นอกจากนี้ในส่วนของการทำงานแบบโมบายล์นั้น 66.5% ของพนักงานในไทยยังต้องเข้าทำงานในออฟฟิศ เพื่อที่จะเข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือที่จะเข้าถึงได้เมื่อทำงานในออฟฟิศ ในขณะที่พนักงานในเอเชีย-แปซิฟิค อยู่ที่ 61.1% เท่านั้น
       
          แต่คาดว่าผลที่ได้ดังกล่าวน่าจะเริ่มดีขึ้นในปี 2559 เนื่องจากขณะนี้การสื่อสารของไทยกำลังก้าวไปสู่ยุคที่ 4 ที่โครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมโดยเฉพาะโมบายล์จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด สัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมไปทุกพื้นที่ ในขณะที่โอเปอเรเตอร์ทุกรายต่างอัดแคมเปญต่างๆ ให้ลูกค้าได้ใช้งานสมาร์ทโฟนมากขึ้น
       
          ประกอบกับการใช้งานโมบิลิตี้ และโซเชีลมีเดียจะช่วยให้องค์กรในไทยประสบความสำเร็จในการสร้างฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น ผ่านการสร้างความผูกพันทางดิจิตอลกับลูกค้า การสำรวจของ Global Technology Adoption Index (GTAI) ประจำปี 2015 พบว่าการเพิ่มของประสิทธิภาพ และสมรรถนะในการทำงานที่ได้จากโมบิลิตีคือสิ่งที่เอื้อประโยชน์มากที่สุดให้กับองค์กรได้ถึง 39%
       
          อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไป ภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิตอลนั้น รูปแบบการทำธุรกิจใหม่ที่จะมุ่งให้ความสนใจไปที่ประสบการณ์ลูกค้า โดย 4 เทรนด์ดังกล่าวจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการดำเนินธุรกิจ เพื่อองค์กรธุรกิจได้เตรียมความพร้อม ในการหาสิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเวนเดอร์ส่วนใหญ่รวมถึงเดลล์ได้เตรียมพร้อมที่ช่วยให้ลูกค้าใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการทรานฟอร์มธุรกิจแล้ว
       
          นอกจากนี้ ในยุคของดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน นั้น IoT ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์และเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการนำ IoT เข้ามาใช้ในการทำงานร่วมกับดีไวซ์ต่างๆ เพื่อให้รูปแบบการทำงาน หรือการใช้เทคโนโลยีโมบิลิตีขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
          ข้อมูลจากไอดีซี ยังพบว่าภาพรวมของการใช้จ่ายด้านไอทีและไอซีทีที่เกิดขึ้นจาก 4 เทรนด์นี้ จะสร้างให้มูลค่าในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากปี 2558 - 2563ในอัตราการเติบโตปีละ 10.6% หรือคิดเป็น 40% ของการใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด อีกทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่นี้ในสัดส่วน 95% เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีแบบเดิม
       
          4 เทรนด์ดังกล่าวกำลังจะเข้ามามีบทบาทกับธุรกิจในเมืองไทย แต่การเปลี่ยนผ่านทางด้านไอทีนั้นไม่ใช่เพียงการนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน 4 เทรนด์มาใช้เท่านั้น จะต้องเป็นการนำทุกองค์ประกอบมาหลอมรวมกัน เพื่อที่ธุรกิจจะได้นำมาพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภค เป็นการผสมผสานเพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจที่ดีที่สุด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้ธุรกิจของไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

ข้อมูลแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา ฉบับวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 56)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่