11 ปี แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ เสน่ห์ไอทีในหุบเขาแบบยั่งยืน


11 ปี แม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ เสน่ห์ไอทีในหุบเขาแบบยั่งยืน
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559


          ได้ยินชื่อแล้ว ...อย่าเพิ่งนึกไปถึง "ซิลิคอน วัลเล่ย์" แหล่งกำเนิดไอทีระดับโลก เพราะที่นี่คือ "แม่ฮ่องสอน ไอที วัลเล่ย์" สถานที่ซึ่งมีการใช้ไอทีในหุบเขาจริง ๆ

          แม้ไม่ได้เป็นที่รวม ของความไฮเทค หรือมันสมองชั้นยอดของวงการไอที แต่ก็มีความเป็นมาที่น่าสนใจ และเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ให้กับสังคมและผู้ ด้อยโอกาส และที่สำคัญคือเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          จาก "เมืองหลังเขา 1,864 โค้ง" คำจำกัดความง่าย ๆ ของแม่ฮ่องสอนในอดีต ที่บ่งบอกถึงความยากลำบากในการเดินทาง และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน



          "ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หนึ่งในผู้บุกเบิกและนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปสู่แม่ฮ่องสอนในยุคแรก ๆ เล่าไว้ว่า ได้เข้าไปในพื้นที่แม่ฮ่องสอนเมื่อประมาณปี  2534 -2535 เวลานั้นยังเป็นเมืองหลังเขา การท่องเที่ยวยังเข้าไม่ถึง เพราะเดินทางยาก ซึ่งมันทำให้ทุกอย่างยากไปหมด ทั้งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมก็ทำไม่ได้เพราะเป็นหุบเขา ไม่มีธุรกิจ ไม่มีอุตสาหกรรม แม้แต่ รร.มัธยมก็ไม่มีทุกอำเภอ ครูก็ขาดแคลน สิ่งเหล่านี้ทำให้แม่ฮ่องสอนถูกบันทึกว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อประชากร น้อยที่สุดอีกด้วย

          ด้วยสภาพดังกล่าว มจธ. ได้ร่วมกับไบโอเทคหรือศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) นำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการศึกษาตั้งแต่ปี 2540

          ต่อมาใน ปี 2548 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ริเริ่มอบรมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับครู เพื่อไปสอนต่อให้กับเด็ก ๆ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ปี 2549 เนคเทคจึงร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่นและเอกชนภายในและนอกจังหวัด จัดทำเป็น "โครงการแม่ฮ่องสอน ไอที วัลเล่ย์" ขึ้น รวมถึงเข้าร่วมในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550

          "ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งในยุคบุกเบิกเช่นกัน เล่าให้ฟังว่า 20 กว่าปีที่แล้ว ได้มาเดินสายทำความเข้าใจกับโรงเรียนกว่า 20 แห่งในแม่ฮ่องสอนเพื่อนำไอทีไปใช้ ต่อมาเนคเทคเข้ามาดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนกลยุทธ์ 3 ด้านคือ สร้างคน เน้นการเขียนและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และแอนิเมชั่นเพื่อการศึกษาต่อและ ประกอบอาชีพ สร้างงาน โดยเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาทำธุรกิจไอทีและจ้างงานคนในพื้นที่และสุดท้ายคือ สร้างเครือข่าย ซึ่งมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีความเชื่อมโยงของหน่วยงานในจังหวัด แม่ฮ่องสอนและพันธ มิตรภายนอก

          สำหรับการทำ งานร่วมกันนี้ ได้ถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี โดยในปี 2553 เนคเทค ได้ร่วมมือกับไจก้า(JICA) ติดตั้งและทดสอบระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไร้สายความเร็วสูง หรือ ไวแมกซ์ (WIMAX) ในแม่ฮ่องสอน โดยติดตั้งสถานีแม่ข่าย 3 จุดที่ อ.ปาย อ.เมือง และอ.แม่สะเรียง

          ด้าน " ดร.กว้าน สีตะธานี" ที่ปรึกษาผู้อำนวยการเนคเทค ผู้บุกเบิกและดูแลโครงการแม่ฮ่อง สอน ไอที วัลเล่ย์ มาตั้งแต่ต้น

          บอก ว่า การเข้าไปในพื้นที่ครั้งแรก ๆ เด็ก ๆ ไม่เข้าใจว่าเอาไอทีมาทำไม จะทำให้ธรรมชาติแม่ฮ่องสอนเสียหายหรือไม่ แต่ตอนนี้เขารู้แล้วว่าสิ่งที่เอาเข้าไปให้คือความรู้และโอกาส ไม่ใช่เครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอทีที่นำมาให้แล้วก็จากไป แต่นี่คือความรู้ที่เขาจะได้พัฒนาตัวเอง สร้างคุณค่า และต่อยอดไปสู่การพัฒนาจังหวัดของตัวเอง

          "ในปี 2550 ได้มีการเปลี่ยนกลยุทธ์ของโครงการจากเดิมที่มุ่งอบรมครูให้กลับไปสอนเด็กต่อ เปลี่ยนเป็นเข้าไปอบรมนัก เรียนมัธยมปลายโดยตรงแทน โดยมุ่งสร้างบุคลากรใน 3 ส่วนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ คือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์และภาพเคลื่อนไหว และผู้ดูแลระบบ"

          ดร.กว้าน บอกว่า ผ่านมา 11 ปี เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้โอกาส มีทั้งอุปสรรคและได้รับความร่วมมือมากมาย มีการนำเทคโนโลยี ไวแมกซ์ ไปใช้ประโยชน์ ลดอุปสรรคด้านการทำงานในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับการสนับสนุนด้านไอที จากเนคเทค/สวทช. ด้วยการใช้โปรแกรมระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ซึ่งสร้างความสะดวกและลดภาระการเดินทางในภารกิจต่าง ๆ ทั้งการประชุมระหว่างสถานี ไปจนถึงการประชุมพิจารณาคดีผัดฟ้องและฝากขังระหว่างศาลกับสถานีตำรวจใน พื้นที่ ซึ่งการใช้งานโปรแกรมไอทีดังกล่าวในเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 13 ล้านบาท

          ดร.กว้าน บอกอีกว่า ปัจจุบันผลผลิตด้านบุคลากรรุ่นแรกที่ได้ เพิ่งเริ่มกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ขณะนี้แม้ยังไม่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพรองรับในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน แต่ก็สร้างความตื่นตัวให้กับชาวแม่ฮ่องสอนเป็นอย่างมาก

          การให้ ความรู้และโอกาสต้องอาศัยเวลา แต่ผลจากความร่วมมือและการนำศักยภาพของไอทีเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้โครงการ "แม่ฮ่องสอน ไอที วัลเล่ย์" ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ให้รับรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ในโครงการดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาเศรษฐกิจ ประจำปี 2557

          สำหรับ ทิศทางต่อไปในอนาคต "ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร" ผอ.เนคเทค กล่าวว่า จากกลยุทธ์สำคัญของการพัฒนาความเจริญอย่างยั่งยืนให้กับจังหวัด ซึ่งมีทั้งการสร้างเครือข่ายการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้ไอทีเป็นเครื่องมือให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาและพร้อมที่จะกลับมา พัฒนาบ้านเกิด ดึงภาคเอกชนให้การสนับสนุนการสร้างงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตระหนักถึงความสำคัญและนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในธุรกิจ

          ทั้งนี้การพัฒนาโครงการ ในระยะต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องต่างเห็นว่าควรให้คนในพื้นที่เป็นผู้กำหนดเองว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้นประกอบกับเริ่มมีความพร้อมใน ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือต่าง ๆ เพียงแต่ควรจะมีการชี้ช่องทางให้เห็นโอกาสในการสร้างงานอย่างยั่งยืน

          ไม่ ต้องวาดฝันเป็นสมาร์ทซิตี้ อย่างภูเก็ตหรือเชียงใหม่ แต่นี่คือ...อีกหนึ่งโมเดลความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ให้กับ สังคมและผู้ด้อยโอกาสอย่างยั่งยืน.

          เปิดใจฝ่ายปฏิบัติการ'ดร.ศุภกร สิทธิไชย'
          ดร.ศุภกร สิทธิไชย หรือ ดร.ใหญ่  นักวิจัยเนคเทค อดีตหัวหน้าโครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์ ผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่และร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น

          ดร.ใหญ่ บอกว่า สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด ก็คือความเป็นธรรมชาติของพื้นที่และความจริงใจของคนในพื้นที่  เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ขาดโอกาสหลาย ๆ ด้าน เคยมีครูผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่าเด็กที่นี่หากยื่นจอบให้เขาก็จะขุดดิน หากยื่นคีย์บอร์ดให้เขาก็จะหัดพิมพ์หัดเขียนโปรแกรม  หากมีโอกาสดี ๆ ที่หยิบยื่นให้ เด็ก ๆ ก็เปิดรับเสมอ

          จากภารกิจแรกคือการสร้าง คน โดยในช่วงแรกเน้นสร้างครูให้ไปสร้างเด็กต่อ  แต่พบว่าได้ผลไม่มากเนื่องจาก ครูที่ไม่ใช่คนพื้นที่จะโยกย้ายกันบ่อยมาก  ต่อมาเริ่มอบรมกับเด็กโดย ตรง  ทั้งเรื่องคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เบื้องต้น  การเขียน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ภาษาต่าง ๆ  การสร้างสื่อใหม่ ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ ในช่วง 2-3 ปีหลังจะพบว่าเด็ก ๆ ในแม่ฮ่องสอนจะถูกจริตกับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การสร้างสื่อดิจิตอลต่าง ๆ เด็ก ๆ ที่นี่จะวาดรูปสวยและฝึกการเล่าเรื่องราว รอบ ๆ ตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

          เมื่อให้ประเมินความสำเร็จใน วันนี้เทียบกับวันที่เพิ่งเข้าไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดร.ใหญ่ บอกว่า  การส่งเสริมการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากหยุดไปช่วงใดช่วงหนึ่งจะมีเด็กที่ขาดโอกาสไปหลายคน ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่ตลอดเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพโรงเรียน และนักเรียนในพื้นที่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นอย่างชัดเจน คือเด็ก ๆ เกิดความภาคภูมิใจในตัวตน ภูมิใจที่จะเล่าให้คนอื่นฟังถึงพื้นภูมิของเขา บ้านของเขา วัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อก่อนเด็ก ๆ จะไม่กล้าเล่าเรื่องพวกนี้เลย และอีกความเปลี่ยนแปลงที่ ค่อย ๆ เกิดอย่างต่อเนื่อง คือ พันธมิตรที่เข้ามาร่วมเดินทางไปกับเรา ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลาง

          สำหรับ อนาคตที่อยากเห็นคือ ความยั่งยืนในการพัฒนา และเกิดผู้นำในพื้นที่ มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมคนและงานในพื้นที่อย่างยั่งยืน.


ข้อมูลแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 23)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่