พันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องจริง เป็นตำนานหรือเป็นนิทานครับ

สงสัยมาตั้งแต่ตอนเรียนสมัยเด็กๆแล้ว มีด้วยหรือที่คนเราจะยึดกฏเอาเป็นเอาตายขนาดนี้ ขนาดผู้มีอำนาจยกโทษให้แล้วยังไม่ยอมรับ

การยอมตายแบบนี้กับการมีชีวิตอยู่ต่อไป แบบไหนจะสร้างคุณประโยชน์ได้มากกว่ากัน
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
หลักฐานลายลักษณ์อักษรเก่าสุดที่มีกล่าวถึงพันท้ายนรสิงห์ พบในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ที่ชำระเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ สมัยรัชกาลที่ ๑ ครับ

พงศาวดารฉบับนี้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดข้อความพิสดารจำนวนมากจากพงศาวดารเก่าๆ (อย่างฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ที่ชำระเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๘ ยังไม่มี) เช่นประวัติพระเจ้าเสือ ประวัติพระยาวิไชยเยนทร์(Constance Phaulkon) เรื่องโกษาปานไปฝรั่งเศส ซึ่งหลายเรื่องมีเนื้อหาพิสดารเกินจริงและขัดกับหลักฐานร่วมสมัยมาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของความที่ถูกเพิ่มมามีต่ำครับ

พันท้ายนรสิงห์เองก็เป็นหนึ่งในความที่ถูกเพิ่มขึ้นมาในปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ เชื่อว่าน่าจะมีเค้าความจริงอยู่บ้าง(ในพงศาวดารกล่าวว่าศาลพันท้ายนรสิงห์ยังคงมีอยู่ในตอนที่ชำระพงศาวดาร) แต่เป็นไปได้สูงที่จะมีการเสริมแต่งเรื่องเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบททางการเมืองสมัยนั้นครับ พวกบทสนทนายาวๆน่าเชื่อว่าแต่งสมัยหลัง

พันท้ายนรสิงห์ในพงศาวดารเป็นผู้ที่ไม่ได้ตายแค่รักษาความศักดิ์สิทธิของกฎหมายอย่างเดียวครับ แต่ตายเพื่อรักษาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้คนสามารถติฉินนินทาพระเจ้าแผ่นดินได้ว่าทรงไม่รักษากฎหมายด้วย ดังนั้นพงศาวดารอาจต้องการสร้างเสริมให้ภาพของพันท้ายนรสิงห์เป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินให้ขุนนางข้าราชการยึดถือก็เป็นไปได้สูงครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่