พล็อตเรื่อง สังข์ทอง กับ อั่งจังเหลียกแบ้ มีความคล้ายกันบางส่วน แสดงว่าได้รับอิทธิพลมาจากกันหรือไม่ครับ?

ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสอ่านนิทานเรื่องสังข์ทองให้ลูกฟังครับ ซึ่งเดิมทีผมพอทราบเรื่องสังข์ทองอยู่บ้างจากทีวีหรือหนังสือนิทานภาพ แต่ไม่เคยอ่านเรื่องแบบเต็มๆมาก่อน
 
พอได้มีโอกาสอ่านสังข์ทองฉบับเต็ม เลยรู้สึกว่ามี plot บางจุดที่มีส่วนคล้ายกับ นิทานจีนเรื่อง อั่งจังเหลียกแบ้ หรือ ม้าขนเพลิงทรงอนุภาพ ( 红鬃烈马) ซึ่งงิ้วแต้จิ๋วนิยมนำมาเล่นกันแยกเป็นตอนย่อยๆ

ผมลองไปค้นดู สังข์ทองมีต้นเค้ามาจากชาดกฉบับตำนานเรื่อง สุวรรณสังขชาดก ซึ่งน่าจะตกทอดกันในหัวเมืองเหนือของไทยมาราวๆ 600-800 ปีมาแล้ว ก่อนที่รัชกาลที่ 2 จะทรงนำมาดัดแปลงและเพิ่มเนื้อหาจนกลายเป็นฉบับสังข์ทองที่เรานิยมอ่านกัน
 
ซึ่งนิทานจีนเรื่อง อั่งจังเหลียกแบ้ นี้ก็ถูกดัดแปลงมาจากชีวประวัติของซิยิ่นกุ้ย แม่ทัพเสือขาวแห่งยุคต้นราชวงศ์ถัง โดยผมอิงจาก Baidu เขาบอกว่าต้นเค้ามาจากตอนที่ซิยิ่นกุ้ยคุมทัพไปพิชิตแดนตะวันตก ทำให้เกิดตำนานเรื่องนี้เล่าลือกันในหมู่ชาวบ้านแถบซีเหลียง (ในมณฑลกานซูของจีน) และเล่าต่อๆกันมาก่อนจะถูกดัดแปลงให้พิสดารออกไปอีกเรื่อยๆ   และตกทอดเป็นนิทานผสมบทงิ้วที่นิยมเอามาเล่นกันในยุคราชวงศ์หมิงลงมา
 
ความเหมือนด้าน plot จะมีดังนี้ฮะ

1)      พระสังข์ทองปลอมตัวเป็นเงาะป่าไปเสี่ยงมาลัยเลือกคู่  ส่วน ซิเพ่งกุ้ย (ตัวเองของเรื่อง อั่งจังเหลียกแบ้) ก็เป็นขอทานที่แต่งตัวมอซอ ไปเสี่ยงพวงดอกไม้เลือกคู่เหมือนกัน
2)      นางรจนาเป็นเจ้าหญิงองค์เล็กของท้าวสามล ส่วน เฮ้งป่อช้วน นางเอกของเรื่องอั่งจังเหลียกแบ้ ก็เป็นลูกสาวคนเล็กของ เฮ้งยุ่น เสนาบดีในราชสำนักถัง
3)      ท้าวสามลโมโหที่นางรจนาเลือกเจ้าเงาะ เลยขับไล่ออกจากวังไปอยู่ป่า เช่นเดียวกับ เฮ้งยุ่นโมโหที่นางเฮ้งป่อช้วนลูกสาวไปเลือกขอทานเป็นสามี เลยขับไล่ออกจากบ้านไปอยู่กระท่อมชายป่าเหมือนกัน
4)      พระสังข์มักโดนท้าวสามล กับพี่เขยรวมหัวกันกลั่นแกล้งเพื่อหาทางกำจัด ซิเพ่งกุ้ยก็ถูกพ่อตาคือ เฮ้งยุ่น และพี่เขยคือ งุยโฮ่ว วางแผนกำจัดเช่นกันโดยการส่งไปเป็นทหารที่แนวหน้า
5)      ตอนท้าย พระสังข์ เปิดตัวถอดรูปเงาะไปตีคลีกับพระอินทร์ ทำให้ท้าวสามลยอมรับ เช่นเดียวกับ ซิเพ่งกุ้ย ที่ยึดอำนาจตั้งตัวเป็นกษัตริย์ โดยความช่วยเหลือขององค์หญิงไซเลี้ยง แล้วปลดเฮ้งยุ่นกับประหารงุยโฮ่ว
6)      ตอนจบ ท้าวสามลที่เป็นพ่อตายอมรับพระสังข์ เช่นเดียวกับ เฮ้งยุ่นที่ต้องยอมรับซิเพ่งกุ้ย
 
แสดงว่า นิทานเรื่องสุวรรณสังขชาดกอาจจะแพร่ไปในจีน หรือ นิทานเรื่องอั่งจังเลียกแบ้ อาจจะแพร่มาในวัฒนธรรมคนพูดภาษาไต ทำให้เกิดการหลอมรวมของนิทานทั้งสองเรื่อง และดัดแปลงออกมาจนมีพล็อตบางส่วนคล้ายกันหรือไม่ครับ
หรือเป็นเพียงความบังเอิญ เพราะพล็อคที่คล้ายกันมันก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น องค์รวมของเรื่องสังข์ทองก็เป็นของสังข์ทอง ที่แตกต่างไปจากอั่งจังเหลียกแบ้ค่อนข้างมาก
 
ขอบคุณฮะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่