Digital Disruption & IOT กระแสโลกหลัง 4G

Digital Disruption & IOT กระแสโลกหลัง 4G
โดย ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ



          จากครั้งที่แล้วที่กล่าวถึงภาพที่จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากประเทศไทยมีการจัดสรรคลื่น 2.1GHz เมื่อสองปีที่แล้วทำให้ประเทศไทยมีการก้าวกระโดยในการใช้ ICT มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในปีนี้ได้มีการจัดสรรคลื่น 1800MHzออกไปแล้วเรียบร้อย และ 900MHz อยู่ในลำดับถัดมา การเปลี่ยนแปลงกำลังจะตามมาอย่างมากมายที่ไม่ได้กระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมเท่านั้นแต่จะมีภาคส่วนต่างๆได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งในตอนก่อนได้มีการพูดถึงคำว่า Digital Disruption ไปแล้วบ้าง

          หลายประเทศได้มีการศึกษาเรื่อง Digital Disruption ที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงภายใจระยะเวลา 3-5ปีนับจากนี้ไป ภาคอุตสาหกรรมใดบ้างผู้เล่นรายเดิมจะได้รับผลกระทบจากผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ได้ใช้วิธีดำเนินธุรกิจแบบเดิม แต่อาศัยพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิตอลมากขึ้น โดยคาดว่าธุรกิจค้าปลีก (Retailer Business) จะเป็นธุรกิจต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจาก Digital Disruption เช่นกรณี Amazon.com เข้ามาสร้างระบบการให้บริการจำหน่ายหนังสือบนอินเตอร์เน็ตด้วยความสะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งราคาที่ประหยัด ประกอบกับการขยายตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ร้านขายหนังสือ Border Group ต้องปิดตัวลง และทำให้ Barns &Noble ที่มีประวัติศาสตร์ดำเนินธุรกิจด้านนี้มากว่าร้อยปีได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนัก รวมทั่งกิจการค้าปลีกอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ เช่น RadioShack ที่ต้องประกาศภาวะล้มละลาย รวมทั้ง CompUSA และ Circuit City ซึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในการขายสินค้าไอที ต้องประสบปัญหาที่ต้องทยอยปิดสาขาต่างๆลงเป็นจำนวนมา เพื่อผู้ใช้หันไปสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แทน ในกิจการค้าปลีกเสื่อผ้าเครื่องแต่งกายเอง JC penny ก็ประสบปัญหาที่ต้องทยอยปิดสาขาลงเรื่อยๆ เมื่อเจอผู้ประกอบการผ่านระบบออนไลน์เข้ามาแข่งขัน  หรือแม้กระทั่งบริษัท Kodak Eastman ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่ายมากว่า 150 ปีมีพนักงานทั่วโลกมากถึง 150,0000 คน ต้องปรกาศล้มละลายภายในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ให้บริการภาพถ่ายในตลาดดิจิตอลที่ชื่อ Instragram ที่เปิดให้บริการมาเพียง 18 เดือน มีพนักงานราวหกพันคน สามารถขายบริษัทให้กับ Facebook ในราคา หนึ่งพันล้านเหรียญ เหล่านี้กำลังเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเวลานานอาจติดกับดับความสำเร็จของตนเอง และเมื่อเจอคู่แข่งหน้าใหม่รายเล็กที่มาพร้อมบริบทใหม่ของความเป็น “ดิจิตอล” ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยักษ์ใหญ่ในตลาดรายเดิมไม่สามารถแข่งขันได้กับเด็กน้อยรายใหม่ได้



          นอกเหนือจาก Digital Disruption แล้ว IoT (Internet of Things) จะเป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังมีการจัดสรรความถี่ 1800MHz และ 900MHz โดย IoT กำลังเป็นการประลองกำลังของสองกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแรกจะเป็นพวกผู้ผลิตอุปกรณ์มิเตอร์, เซนเซอร์ต่าง ๆ โดยความต้องการของกลุ่มนี้ต้องการมีความถี่สำหรับอุปกรณ์ IoT โดยเฉพาะและทำให้อุปกรณ์เซ็นเซอร์มีความสามารถในการสร้างโครงข่ายใหม่ได้ ต้องการเป็นผู้เล่นรายใหม่ชนิดใหม่ หรือที่เรียกว่าจะเป็น IoT service Provider โดยในปัจจุบันนี้ความถี่ที่กลุ่มนี้ใช้ในการเชื่องโยง IoTจะใช้ความถี่ในกลุ่มความถี่ประเภท Unlicensed Band ที่อยู่สองประเภทคือ กลุ่มความถี่ ISM band ได้แก่ 2.4GHz และ 5.8GHz และกลุ่มความถี่ประเภท Sub GHz band ได้แก่ความถี่ 433 MHz  แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์ มิเตอร์, เซนเซอร์ต่าง ๆ ที่ต้องการยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการ IoT ยังต้องเผชิญสิ่งที่ท้ายทายคือการสร้าง Ecosystem ให้สามารถครอบคลุมและสามารถแข่งขันได้กับกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่  โดยในอดีตที่ผ่านมากลุ่ม WiMAX ก็ได้มีความพยายามที่จะสร้าง Ecosystem มาแข่งกับกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่สุดท้ายแล้วไม่ประสบความสำเร็จและได้ล้มหายไปจากธุรกิจเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกลุ่มที่สองที่จะมาแย่งชิงการเป็นผู้ให้บริการ IoT กับกลุ่มแรกก็คือกลุ่มผุ้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันเนื่องจากได้มีการพัฒนาโครงข่ายบนเทคโนโลยี 3G, 4G เรียบร้อยแล้วและมี Ecosystem ที่แข็งแรงและครอบคลุมอยู่แล้ว บริการ IoT จะเป็นเพียงส่วนต่อขยายบริการบนโครงข่ายตนเองที่มีอยู่ อุปกรณ์ IoT สามารถใช้ความถี่ร่วมกับความถี่ LTE  และใช้โครงข่าย LTE ที่มีอยู่เดิมได้ โดยในขณะนี้ได้มีการพยายามนำเสนอมาตรฐานเกี่ยวกับ IoT ไว้หลายอย่างด้วยกันเช่น มาตรฐาน LTE-MTC (LTE-Machine-Type Communication) หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G สำหรับอุปกรณ์ประเภท M2M(Machine to Machine) หรือ IoT  โดยมาตรฐาน LTE-MTC ได้มีการนำเสนอให้เป็นส่วนหนึ่ของมาตรฐานของ 3GPP Release 13 โดยบริษัท Qualcomm เป็นผู้ผลักดันโดยการขยายโครงข่าย LTE ที่มีอยู่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้รองรับบริการ IoT ทำให้ประหยัดต้นทุนโครงข่ายสำหรับการให้บริการ IoT โดยจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานในเรื่องของการจัดการเรื่องพลังงานทำให้อุปกรณ์พวก IoT มีการใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง  LTE-MTCที่ถูกผลักดันโดย Qualcommเป็นมาตรฐานทางเทคนิคอย่างหนึ่งภายใต้หัวข้อ LPWAN(Low Power Wide Area Network)  ที่ทาง GSMA ได้มีการกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหวางอุปกรณ์ต่างๆได้ เป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์(M2M Communication)

          อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงคำว่าบริการ IoT จะมีความหมายหลากหลายและบริการที่หลากหลายลักษณะ โดยในบทความนี้จะได้คาดการณ์ว่าบริการ IoT ประเภทใดน่าจะเป็นที่จับตามองของประเทศไทย โดยคาดว่า IoT ในกลุ่มแรกๆ สำหรับประเทศไทยควรจะเป็นบริการ IoT สำหรับการเป็น Smart City, Smart Building และ Smart Home โดยบริการในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มโครงข่าย IoT พื้นฐานเพื่อต่อยอดไปสู่บริการ IoT ในกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มนี้จะเริ่มต้นด้วยเหตุผลในเรื่องการจัดการพลังงานได้อย่างเหมาะสม และการเพิ่มความสะดวก สบายและความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยมากขึ้น ถัดมากลุ่ม IoT ประเภทที่เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาล ทั้งนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผุ้สูงอายุ  ภาระในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะมีความจำเป็นมากขึ้น การนำเทคโนโลยี IoT ประเภทเซนเซอร์ต่างที่วัดค่าพารามิเตร์ต่างๆ ของร่างกาย สามารถส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยไม่จำเป็นต้องไปนอนพักที่โรงพยาบาลที่จะสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายจะมีความจำเป็นมากขึ้น และในกลุ่มสุดท้ายจะเป็นในเรื่อง IoT กับกลุ่มยานยนต์และยานพาหนะต่างๆ อันเนื่องมาจากการขยายบริการจาก โครงสร้างพื้นฐาน IoT ประเภท Smart City ทำให้ประชาชนสามารถเดินทาง ขนส่งได้มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากขึ้น

          ทั้งนี้บทปสรุปภาพที่มองออกไปในอนาคตหลังการขายตัวโครงข่าย 3G และ 4G จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประชาชนทั่วไปในวงกว้าง และขอย้ำอีกครั้งหัวใจสำคัญขององค์กรคือผู้นำที่จะต้องเรียนรู้ในการหาโอกาสที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นสถานการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ข้อมูลบทความจาก
เวปไซต์หนังสือพิมพ์ Telecom Journal Thailand
http://www.telecomjournalthailand.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่