ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี...ช่วยเพิ่มชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

ไวรัสเอชไอวีเป็นเชื้อที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเชื้อชนิดนี้จะมีความจำเพาะกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ชื่อทีลิมโฟไซต์ ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่คุ้มกันป้องกันและทำลายการติดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมชนิดต่างๆ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้ที่เยื่อหุ้มเซลล์จะมีส่วนประกอบที่เรียกว่า CD4 ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่จำเพาะต่อการเกาะตัวของอนุภาคของไวรัสเอชไอวี ดังนั้นจึงอาจเรียกทีลิมโฟไซต์ว่าเม็ดเลือดขาว ชนิดซีดี4 เมื่อเริ่มติดเชื้อใหม่ๆจำนวนเชื้อไวรัสยังมีไม่มากก็ จะค่อยๆเพิ่มจำนวนในร่างกายมากขึ้นๆด้วยการทำลายทีลิมโฟไซต์ชนิดนี้ไปเรื่อยๆ ถ้ายิ่งร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานไม่ดี การเพิ่มจำนวนของไวรัสด้วยการทำลายเซลล์ทีลิมโฟไซต์ก็จะยิ่งมีมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนไวรัสมากขึ้น
ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์เพื่อลดการเกิดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ลดน้อยลงกว่าในอดีต พร้อมทั้งได้บรรจุการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ในโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีมากขึ้น ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดอัตราการตายก่อนเวลาอันควรลงได้เป็นอันมาก แต่เนื่องจากปริมาณผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในประเทศไทยมีจำนวนมากจึงเป็นปัญหาสุขภาพและสาธารณะหนึ่งที่สำคัญและมีระดับความรุนแรงอย่างมากต่อผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ ทั้งด้านการดูแลรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่าย เศรษฐกิจ จิตใจ และคุณภาพชีวิตของสังคมไทยทั้งประเทศ
ปัจจุบันความรู้เรื่องโรคเอดส์ก้าวหน้ามากขึ้น มียาต้านไวรัสเอชไอวีมากกว่า 30 ชนิด มีการคิดค้นวัคซีนยาหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเอชไอวี ฯลฯ ราคายาต้านไวรัสเอชไอวีที่เคยแพงลิบลิ่วก็ค่อยๆถูกลง ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ในอดีต ไม่มียาต้านไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ได้แต่รอวันตายเพียงอย่างเดียว ไม่มีทางรักษา ปัจจุบันถ้าผู้ป่วยมีวินัย กินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างเคร่งครัด ภายใต้การดูแลของแพทย์ก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ในอนาคตผู้ป่วยอาจไม่ต้องกินยาไปตลอดชีวิต ถ้าตรวจพบเร็ว รักษาทันที 9 สัปดาห์หลังรับเชื้อเอชไอวี และกินยาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ
การให้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำกว่า 500 นั้นควรได้รับยาโดยไม่มีข้อกังขา แต่กับผู้ที่เพิ่งได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและระดับภูมิคุ้มกันร่างกายสูงกว่า 500 นั้นต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลเพราะหลายคนยังมีความเชื่อว่าการรับประทานยาต้านไวรัสเร็วจะทำให้เกิดการดื้อยา กินเร็วก็ดื้อเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดออกมาโดยไม่มีหลักฐานยืนยันทั้งสิ้น เป็นเพียงการพูดกันไปเอง พูดเอาสนุก เพราะว่าการที่คนคนหนึ่งดื้อยาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกินยาช้าหรือเร็ว แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตรงเวลา หากไม่ลืม ไม่คลาดเคลื่อน โอกาสดื้อยาก็ไม่มี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก    actfive.org

Report by LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่