ความรู้สำหรับบุคลากรที่ดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี-1

1. เอชไอวี (HIV) คืออะไร
เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ได้ เป็นโรคที่เกิดในคนเท่านั้น โดยเชื้อเอชไอวี นี้จะทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ
2. การติดเชื้อเอชไอวี แตกต่าง จากโรคเอดส์ อย่างไร
ในระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี ในผู้ใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติเป็นเวลาหลายปี ส่วนในเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากมารดา มักมีการดำเนินโรคที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี จะใช้เวลาหลายปีในการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จนกระทั่งจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำลงมาก ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้ ทำให้เกิดโรคฉวยโอกาสต่างๆ ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่คนมีภูมิคุ้มกันปกติไม่เป็น เรียกภาวะนี้ว่า เอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
3. เอชไอวีสามารถติดต่อกันได้ ทางใดบ้าง
เชื้อเอชไอวี สามารถพบได้ในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด และน้ำนมของผู้ติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ผ่านทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่มีบาดแผล ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยทั่วไปเชื้อเอชไอวี เป็นเชื้อที่ตายง่าย เมื่ออยู่นอกร่างกายคน จึงไม่ติดต่อจากการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป เช่น การจับมือการกอดหรือการรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น รวมทั้งยังไม่สามารถติดต่อผ่านการถูกยุง หรือแมลงกัดได้
การติดต่อมีได้ 3 ทางหลัก ดังนี้
1.    การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นสาเหตุที่บ่อยและสำคัญที่สุด
2.    การติดต่อทางเลือด โดยการใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือการได้รับเลือดจากผู้ติดเชื้อเอชไอวี
3.    การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอด และการให้นมบุตร
ในปัจจุบันได้มีการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในเลือดที่ได้รับบริจาค ดังนั้นโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวี จากการได้รับเลือดหรือการเปลี่ยนถ่ายเลือดจึงน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีการให้ยาในหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ทำให้การติดเชื้อในเด็กรายใหม่มีจำนวนน้อยลง

4. เราจะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี
ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี จะมีอาการแสดงดังต่อไปนี้
- มี ตับ ม้ามโต ผิวหนังอักเสบ เจ็บป่วยบ่อย
- ท้องเสียเรื้อรัง ฝ้าขาวจากเชื้อราในช่องปาก
- ติดเชื้อราในปอด เยื่อหุ้มสมอง ซูบผอมมาก พัฒนาการช้า
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจไม่มีอาการใด ๆ และมีสุขภาพแข็งแรง ได้เป็นเวลาหลายปี ดังนั้นการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี จึงเป็นวิธีเดียวที่จะวินิจฉัยผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างแน่นอน จึงควรทำการตรวจเลือดในผู้ที่มีอาการน่าสงสัยดังกล่าวข้างต้น หรือกรณีที่มีประวัติที่อาจได้รับเชื้อ ดังในข้อ 3
5. เราจะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้อย่างไร
ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
1.    หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ทราบสภาวะการติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เช่น มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีประวัติรักร่วมเพศหรือรักสองเพศ หญิงค้าประเวณี เป็นต้น
2.    หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะนำพาไปสู่การมีเพศสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย เช่น ขณะมึนเมา หรือใช้ยาเสพติด
3.    หากมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน หรือแผลบริเวณอวัยวะเพศ ควรเข้ารับการรักษา เนื่องจากโรคเหล่านี้ เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้
4.    ไม่เสพยาเสพติด โดยเฉพาะชนิดฉีดเข้าเส้น หากมีความจำเป็นต้องฉีดยาใด ๆ ไม่ควรใช้เข็มฉีดยา และกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
5.    ไม่ใช้มีดโกน ที่โกนหนวด แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
6.    หญิงที่ประสงค์จะตั้งครรภ์ หรือหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี หากพบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในมารดาช่วงตั้งครรภ์และในทารกแรกเกิด ร่วมกับงดกินนมมารดา สามารถลดอัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกได้เป็นอย่างมาก

6. โรคเอดส์ และการติดเชื้อเอชไอวี สามารถรักษาได้หรือไม่
ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวี จนทำให้ผู้ป่วยแข็งแรงใกล้เคียงกับคนปกติได้ แต่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด จึงจำเป็นต้องกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การเริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวี ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
การกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ และตรงต่อเวลา มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะส่งผลให้มีระดับยาในกระแสเลือดสม่ำเสมอ สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาวะใดๆ ที่ทำให้ระดับยาในเลือดลดลง เช่น การขาดยา รับประทานยาไม่ตรงเวลา หรือไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง จะทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้โรคต่าง ๆ กำเริบง่ายขึ้น
การลดปริมาณไวรัสเอชไอวีให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันการเข้าสู่ระยะเอดส์และการเสียชีวิต
นอกจากนี้ การกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะดื้อยา ซึ่งถ้าเกิดภาวะดื้อยาแล้ว จะทำให้เหลือสูตรยาที่จะรักษาได้ มีจำนวนน้อยลง การกินยาสูตรแรกในการรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาระยะยาว
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เมื่อมีปัญหาจากการรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง และเนื่องจากยาต้านไวรัสเอชไอวี อาจมีปฏิกริยากับยาอื่น ๆ ได้ จึงไม่ควรซื้อยารับประทานเอง และควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่ต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย
นอกจากยาต้านไวรัสเอชไอวีแล้ว อาจมียาอื่น ๆ ที่ต้องรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ของผู้ป่วย
7. ความสำคัญของการตรวจติดตามการรักษา
ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะนัดตรวจติดตามการรักษาเป็นระยะ เพื่อประเมินอาการทางร่างกายและผลข้างเคียงของยา จากการซักถามและตรวจร่างกาย สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการร่วมด้วย นอกจากนั้นจะมีการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา และเฝ้าติดตามการดำเนินโรค โดยตรวจดูระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 และระดับเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือด ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงผลของการรักษา
เป้าหมายของการรักษา ผู้ป่วยควรมีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เพิ่มขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ และตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือด
สำหรับผู้ป่วยที่ล้มเหลวในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะตรวจพบว่า มีระดับเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น หรือไม่ลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ หลังจากที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสระยะหนึ่งและต่อมาจะมีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลง จนกระทั่งมีอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่อง การมาติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถเฝ้าระวังภาวะล้มเหลวจากการรักษาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก    สมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย

Report by LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่