... Larry Hite – เคารพในความเสี่ยง ...



Larry Hite มีเส้นทางสู่ Wall Street ที่แปลกกว่าคนอื่น ชีวิตในระยแรกของ Larry ไม่ได้บ่งชี้เลยว่าเขาจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในแวดวงการเงิน เขาเรียนไม่เก่ง เปลี่ยนงานหลายหนจนลงท้ายไปเป็นนักแสดงและคนเขียนบท ในวันหนึ่งเขาได้ยินบทสัมภาษณ์ H.L. Hunt ทางวิทยุว่าเขาทำกำไรมหาศาลจากการลงทุนในอนุพันธ์น้ำมันได้อย่างไร ในปี 1968 เขาตัดสินใจเดินเข้าสู่วงการด้วยการทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์ หลายปีถัดมาจึงได้ผันตัวเองเป็นนักลงทุนตลาดโภคภัณฑ์เต็มตัว

หลังจากทำงานกว่า 10 ปี Larry เห็นว่าตัวเองได้เรียนรู้วิธีการจำเป็นที่จะสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้อย่างดีแล้ว แต่มีความจำเป็นต้องทดสอบให้เห็นเป็นหลักฐานด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เขาได้รับความช่วยเหลือจาก Peter Matthews เพื่อนที่จบปริญญาเอกสาขาสถิติ และ Michael Delman ผู้คิดค้นระบบคอมพิวเตอร์สำหรับงานทหาร ทั้งสองคนได้สร้างวิธีการทางคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าหลักการลงทุนของ Larry นั้นประสบความสำเร็จได้จริงทางสถิติ จากสิ่งนี้ทำให้เขาตัดสินใจตั้งบริษัทของเขาเอง Mint Investment Management Company ในปี 1980

จุดประสงค์ของ Mint นั้นไม่ใช่การทำกำไรสูงสุด แต่ปรัชญาของเขาคือการตั้งเป้าให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยมีการควบคุมความเสี่ยงอย่างเข้มงวด และโดยหลักการนี้ทำให้ Mint ประสบความสำเร็จอย่างสูง ตั้งแต่จัดตั้งบริษัท Mint มี CAGR ถึง 30% และมีความสม่ำเสมอสูงมาก โดยมีปีที่ได้ผลตอบแทนแย่สุดที่ 13% และดีสุดที่ 60% มีช่วงแย่สุดในรอบระยะ 12 เดือนที่ -1% เท่านั้น ทำให้ทรัพย์สินของ Mint ภายใต้การบริหารเติบโตจากตั้งต้นที่ $2 ล้าน เป็นมากกว่า $800 ล้านได้โดยไม่มีหลักฐานว่าขนาดกองทุนที่ใหญ่ขนาดนี้มีผลลบต่อผลตอบแทนของเขาแต่อย่างใด

ต่อไปจากนี้เป็นการสรุปหลักการที่ Larry ได้ให้ไว้จากการสัมภาษณ์

1. ด้วยการที่ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการลงทุนมาก่อนเลย คำแรกที่ Larry ได้ยินคือ blue chip ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เขาเข้าใจได้เองว่าคำนี้หมายถึง ชิปเงินที่แพงสุดในบ่อนคาสิโน หลังสัมภาษณ์เขาโยนหนังสือ Graham & Dodd ทิ้งแล้วซื้อหนังสือ Beat the Dealer มาอ่านแทน จนได้แนวคิดที่ว่า การลงทุนที่ประสบความสำเร็จแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ขึ้นกับ odds ถ้าเราสามารถคำนวณมันได้ เราจะสามารถหาวิธีที่จะเอาชนะตลาดได้

2. เหตุผลที่เขาเชื่อว่าเขาสามารถเอาชนะตลาดได้ เพราะเขาเชื่อว่าตลาดนั้นไม่มีประสิทธิภาพ Larry มีเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ที่พยายามอธิบายเหตุผลร้อยแปดที่จะบอกว่า ตลาดมีประสิทธิภาพ เขากลับบอกไปว่าคนที่เขารู้จักและเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพทุกคนล้วนแต่จนทั้งนั้น

3. มีคนพยายามโต้แย้งว่าถ้าเขาสามารถสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เอาชนะตลาดได้ คนอื่นก็ทำได้เช่นกัน และในไม่ช้าก็จะใช้ไม่ได้ผล แต่ Larry พิสูจน์ได้ว่าความเชื่อนั้นผิด

4. เหตุผลที่ตลาดไม่มีประสิทธิภาพแม้จะมีการพัฒนาระบบขึ้นมาซื้อขาย เพราะแม้คนจะเป็นผู้สร้างระบบก็จริง แต่คนนี่แหละที่เป็นเหตุแห่งความผิดพลาด ผู้ใช้ระบบบางคนจะพยายามปรับเปลี่ยนระบบ หรือพยายามกระโดดจากระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่ง เมื่อเขาขาดทุนจากการใช้ระบบติดต่อกันซักพัก บางคนก็อดไม่ได้ที่จะพยายามคาดเดา สัญญาณซื้อหรือขาย และ override มัน ทุกครั้งที่ Larry Hite ไปร่วมประชุมเกี่ยวกับ money management และนั่งจับกลุ่มคุยกับเพื่อน เขาจะได้ยินเรื่องราวเดิม ๆ เสมอว่า ระบบที่มีอยู่นั้นยอดเยี่ยมเพียงใด แต่เขาไม่ได้เข้าซื้อตามระบบ และนั่นมันเป็นการ trade ที่สมควรจะให้ผลตอบแทนก้อนใหญ่ที่สุด (ถ้าได้ซื้อ)

นี่คือสาระสำคัญของแนวคิด “คนไม่เคยเปลี่ยน” และนี่แหละที่เป็นเหตุผลว่าทำไมระบบยังคงได้ผลดี ไม่ว่าจะในปี 1637 ในฮอลแลนด์ที่ตลาดทิวลิปมีการซื้อขายกันสูงถึง 5,500 ฟลอรินส์ (ดัชท์ กิลเดอร์ สกุลเงินของเนเธอร์แลนด์ก่อนจะกลายเป็นยูโร) ก่อนจะพังพินาศเหลือราคาเพียง 50 ฟลอรินส์ (ขาดทุน 99%) บางคนอาจจะแย้งว่า ในสมัยนั้นตลาดอยู่ในระยะแรกเริ่ม แต่ในปี 1929 จุดเริ่มของ Great depression หุ้นหลายตัวก็มีราคาตกลงจาก $233 เหลือแค่ $20-30, ในปี 1961 หุ้น Texas Instrument ซื้อขายกันที่ $207 ต่อหุ้นก็ร่วงลงเหลือเพียง $49 (ขาดทุน 77%) และถ้าคุณคิดว่าตลาดในสมัยปัจจุบัน นักลงทุนมีความรู้และมีข่าวสารช่วยการตัดสินใจที่ดีขึ้น โปรดดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดโลหะเงินในช่วง 1980 ที่ราคาจากจุดสูงสุดที่ $50 รูดเหลือเพียง $5 ต่อออนซ์ประเด็นคือ คนยังคงมีพฤติกรรมเหมือนเดิม ถ้าเราใช้วิธีการที่ทดสอบมาอย่างดีที่จะเลี่ยงการมองย้อนหลัง เราสามารถทดสอบระบบว่าจะทำอย่างไร เมื่อใด มีผลงานเป็นอย่างไร และสามารถจะใช้เป็นแนวทางในการคาดการณ์ไปข้างหน้าได้ว่าระบบจะมีผลงานอย่างไรในอนาคต

5. มีความเป็นไปได้ว่าตลาดนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และในอนาคตตลาดอาจจะแตกต่างจากในอ ดีตและปัจจุบัน แต่นี่ไม่ใช่ความกังวลของ Larry ด้วยเหตุผลเดียวคือ แม้ตลาดจะเปลี่ยน แต่คนไม่เคยเปลี่ยน ระบบของ Larry ที่พัฒนาร่วมกับ Michael และ Peter นั้นพบจากการทำ back test ว่าถ้าเขาถือตราสารนาน 6 เดือนโอกาสกำไรของเขาคือ 90% และจะเพิ่มเป็น 97% ที่ 12 เดือน และ 100% ที่ 18 เดือน หลังจากเขาใช้ระบบนี้ไป 7 ปี ตัวเลขนี้แทบไม่เปลี่ยนไปจาก back test

6. มีเหตุการณ์ที่ Larry ใช้เป็นตัวอย่างการเกิด sudden major change ของตลาด ในวันหนึ่งที่เขาเข้าไปที่บริษัทแล้วพบว่าพนักงานหลายคนเกิดอาการ panic และเกือบร้องไห้ เนื่องจาก Fed ประกาศนโยบายสำคัญมีผลทำให้เกิด dramatic reverse ของ market trends ทำให้มูลค่า NAV ของกองทุนเขาลดลงจากราว ๆ $15 เหลือเพียง $12 ในเวลาชั่วข้ามคืน Larry สั่งให้พนักงานทุกคนโทรหาลูกค้ากองทุนเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนอย่างน้อยในทุก ๆ 2-3 ปี และภายใน 9 เดือนเราจะกลับมาสูงกว่ามูลค่าเดิมได้แน่นอน ลูกค้ากองทุนของ Mint หลายรายตัดสินใจเพิ่มการลงทุนในช่วงนี้เป็นสองเท่า และผลตอบแทนของกองทุนเริ่มเพิ่มสูงขึ้นนับจากจุดนั้น เหตุใด Larry จึงมีความมั่นใจขนาดนั้น เขาบอกว่า เพราะเขาเข้าใจว่าระบบคืออะไร และทำงานอย่างไร ความสวยงามของธุรกิจนี้คือ ในขณะที่เราอาจไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ แต่เรารู้ดีว่าภาพรวมมันจะเป็นอย่างไรในระยะยาว ลองดูตัวอย่างธุรกิจประกันชีวิต ถ้าเราดูไปที่ชายอายุ 60 ปีหนึ่งคน เราไม่สามารถทำนายได้เลยว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ในปีหน้า แต่ถ้าเรารวบรวมคนอายุ 60 ปีซัก 1 แสนคน เราจะสามารถบอกได้ว่าโอกาสที่คนเหล่านี้จะอยู่รอดถึงปีหน้าจะเหลือกี่คน กองทุนของเราใช้หลักการเดียวกัน เราใช้กฏของจำนวนมากทำงานเพื่อเรา อีกนัยหนึ่ง ดูเหมือนว่าเรากำลังทำธุรกิจเกี่ยวคณิตศาสตร์ประกันภัยมากกว่า

7. Larry มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งในก๊วนเทนนิส ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำการซื้อขายตามระบบอย่างเคร่งครัด มันแสนจะน่าเบื่อ เขาตอบเพื่อนไปว่า เขาไม่ได้ซื้อ ๆ ขาย ๆ เพื่อความตื่นเต้น เขาทำเพื่อชัยชนะ มันอาจจะดูไร้สีสัน แต่มันทำเงินได้มาก เพื่อน ๆ เขามักจะคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การซื้อขายมากมาย แต่ทุกครั้งที่เขาร่วมกลุ่มเขากลับไม่มีอะไรจะคุย เพราะทุกการซื้อขายนั้นเหมือนกันหมด ท้ายที่สุด เพื่อนเล่นเทนนิสคนนั้นเจ๊งจากตลาดฟิวเจอร์ส

8. มีกองทุนจำนวนมากที่ใช้ระบบ trend following และมีหลายกองทุนที่ทำตามระบบอย่างเคร่งครัดมาก อะไรทำให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงของ Mint มีความโดดเด่นกว่ากองทุนอื่น Larry กล่าวว่า “เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเราไม่รู้อะไร … ไม่ว่าเราจะมีข้อมูลอะไร ไม่ว่าเราจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร เรามีโอกาสผิดได้เสมอ” (We know that we don’t know … No matter what information you have, no matter what you are doing, you can be wrong) .. มีเพื่อนสนิทของ Larry คนหนึ่งเคยบอกหลักสำคัญ 2 อย่างที่มีประโยชน์มากคือ ข้อหนึ่ง ถ้าคุณไม่เสี่ยงเกินกว่าลักษณะการใช้ชีวิตของตัวคุณเองแล้ว จะไม่มีอะไรที่เลวร้ายสุด ๆ เกิดขึ้นกับตัวคุณ, ข้อสอง ถ้าคุณรู้ว่าสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตคุณคืออะไร คุณจะมีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างยิ่ง

ข้อสรุปของ 2 หลักการนี้สำหรับการลงทุนคือ ในขณะที่คุณไม่สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนของคุณได้ชัดเจน คุณสามารถจำกัดความเสี่ยงของคุณได้

มีผู้จัดการกองทุน 1 คนที่บริหารกองทุนตลาดกาแฟล่วงหน้าใหญ่ที่สุดในโลกเชิญเขาไปร่วมรับประทานอาหาร และถาม Larry ว่า เหตุใดเขาจึงสามารถทำกำไรจากตลาดกาแฟได้มาก ทั้งที่เขาไม่มีความรู้อะไรเลยที่กองทุนนี้รู้เกี่ยวกับกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นกองเรือกาแฟ, นโยบายของประเทศผู้ผลิต, ไม่รู้จักรัฐมนตรีที่กำหนดนโยบาย และไม่ดื่มกาแฟด้วยซ้ำ สิ่งเดียวที่ Larry รู้คือการจัดการความเสี่ยง หลังจากนั้น 3 เดือน กองทุนนี้ขาดทุนจากตลาดกาแฟล่วงหน้าราว $100 ล้าน ความแตกต่างของกองทุนกับ Larry คือ ผู้จัดการกองทุนนี้รู้เรื่องกาแฟดีกว่า Larry ในทุกแง่มุม ยกเว้นการจัดการความเสี่ยง

9. หลักการสำคัญของ Mint ในการจำกัดความเสี่ยงมี 4 ข้อ กฏข้อแรกของ Mint คือ ไม่เสี่ยงเกิน 1% ของ total port จากการ trade แต่ละครั้ง การควบคุมความเสี่ยงให้น้อยและคงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถ้าเราไม่จัดการและควบคุมความเสี่ยงไว้เสมอ ในที่สุดความเสี่ยงจะจัดการเรา .. และเมื่อ stop loss แล้ว การ trade จะเกิดขึ้นใหม่ในตราสารเดิมก็ต่อเมื่อตราสารนั้นทำ new high

10. กฏข้อสองของ Mint คือ เราทำตาม trend เสมอ และไม่เคยเบี่ยงเบนออกจากวิธีของเรา อันที่จริงแล้ว เรามีข้อสัญญาที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ห้ามใคร override ระบบ การ trade นั้นใช้กฏเดียวกันหมด และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Mint ไม่เคยมี bad trade ในวิธีของเรามีการ trade เพียง 4 ประเภทเท่านั้น คือ good trade, bad trade, winning trade และ losing trade คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า losing trade นั้นคือ bad trade ความเข้าใจนี้ผิด เราขาดทุนได้ แม้ว่าเราจะทำถูก ถ้า odds ของ trade คือ 50/50 และ reward/risk คือ 2:1 มันคือ good trade แม้ว่าเราจะขาดทุน ประเด็นสำคัญคือ ถ้าคุณ trade มากพอ ในที่สุดคุณจะทำกำไรได้

11. กฏข้อสามของ Mint ในการลดความเสี่ยงคือ การกระจายความเสี่ยง เขากระจายความเสี่ยง 2 วิธีคือการกระจายตลาดที่จะลงทุน และการมีระบบที่ใช้มากกว่า 1 แบบ ที่ Mint ใช้ระบบหลากหลายทั้งระยะสั้น, ปานกลาง และยาว เพื่อเพิ่มความสมดุลของพอร์ท แม้ว่าถ้าเรามองแยกแต่ละระบบเราอาจพบว่าบางระบบไม่ใช่ระบบที่ยอดเยี่ยมในตัวของมันเอง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

12. กฏข้อที่สี่ของ Mint คือการติดตาม volatility เมื่อตลาดอยู่ในสถานการณ์ที่ volatility สูงมากจน expected reward/risk ratio เกิดความผิดเพี้ยนไปจากค่าปกติมาก เขาจะหยุด trade ในตลาดนั้น

13. การประเมินสภาพการลงทุนของระบบ จะถูกกำหนดออกมาเป็น 3 สถานะคือ เขียว เหลือง และแดง สีเขียวหมายถึงเขาสามารถ trade ได้ตามระบบไม่ว่าซื้อหรือขาย, สีเหลืองหมายถึงเขาสามารถถือหรือปิด position ที่เขามีอยู่แล้วได้ แต่จะไม่ trade เพิ่ม และสีแดงคือสถานที่เขาจะปิด position ที่มีอยู่ทั้งหมดโดยไม่มี trade ใหม่

14. กุญแจสำคัญอันหนึ่งของ Mint ที่ต่างจากกองทุน trend following อื่นคือการที่เขาพัฒนาวิธีที่จะบอกว่าเมื่อไหร่ที่เราไม่ควรเล่นและออกจากตลาด ในสถานการณ์หรือเกมการแข่งขันทุกอย่าง เราสามารถจะสร้างความได้เปรียบของผู้เล่นทุกคน แม้ว่าผู้เล่นนั้นจะอ่อนที่สุด การลงทุนในตลาด อาจมีนักลงทุนบางกลุ่มที่มีความได้เปรียบเรื่องข้อมูลข่าวสาร, หรือบางกลุ่มมีความได้เปรียบเรื่องความเร็วในการซื้อขายเหนือคนอื่น แม้นักลงทุนอย่างเรา ๆ อาจไม่มีข้อมูลข่าวสารที่เร็วและลึกกว่า หรือมีความเร็วที่มากกว่า แต่เรามีความได้เปรียบตรงที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อขายตลอดเวลา เราสามารถเลือกจะ trade เฉพาะในสถานการณ์ที่ odds เข้าข้างเราเท่านั้นได้

(มีต่อ) ..
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่