ปัจจัยลบเศรษฐกิจ "เวียดนาม" ผลิตภาพแรงงานต่ำ-หนี้รัฐสูง...แก๊งค์วีไอ ว่าไงบ้างจ้ะ

กระทู้สนทนา
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1449845071

นอกจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและประชากรวัยทำงานจำนวนมากแล้ว อีกปัจจัยที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติขนเม็ดเงินเข้ามาเวียดนามคือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออก ของประเทศดังกล่าว

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพยุโรป (EU) และเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่จะช่วยขจัดภาษีนำเข้าระหว่างกันเกือบทั้งหมด และถือเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตเวียดนาม-สหภาพยุโรปครบ 25 ปีด้วย เอเอฟพีรายงาน

"การลงนามไม่ใช่ปลายทางความสัมพันธ์ของเรา แต่เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยสหภาพยุโรปและเวียดนามสามารถทำสิ่งที่ดีร่วมกันได้" นายฌอง โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในระหว่างพิธีลงนาม FTA กับนายกรัฐมนตรี เหงียน เติ๋น สุง ของเวียดนาม ที่กรุงบรัสเซลส์

ข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งมีขึ้นหลังการเจรจาอย่างเข้มข้นนาน 2 ปี 6 เดือน เป็น FTA แรกที่อียูบรรลุกับประเทศกำลังพัฒนา และจะมีผลให้รายการภาษีขาเข้ากว่า 99% ระหว่างกันถูกยกเลิกภายในระยะเวลา 7 ปี ทั้งนี้มูลค่าการค้าระหว่าง 2 เขตเศรษฐกิจดังกล่าวขยายตัวขึ้น 3 เท่า เป็น 28,000 ล้านยูโร (ราว 30,000 ล้านดอลลาร์) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ด้านนางสาวเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าประจำอียู เรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็น "ต้นแบบใหม่สำหรับนโยบายการค้ากับประเทศกำลังพัฒนา" และนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในความสัมพันธ์ของอียูกับประชาคมอาเซียน โดยนอกจากเวียดนามแล้ว อียูได้ลงนามข้อตกลงในลักษณะเดียวกันนี้กับสิงคโปร์ไปเมื่อปีที่แล้ว

อียูมีแผนจะเจรจา FTA กับอีก 2 ชาติสมาชิกอาเซียนคือ มาเลเซีย และไทย แต่กรณีของไทยการเจรจาถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดหลังการรัฐประหารปี 2557

สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปยังอียูที่มีสมาชิก 28 ประเทศ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ กาแฟ ข้าว และอาหารทะเล ขณะที่สินค้านำเข้าจากอียูมายังเวียดนามจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้น สูง เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องบิน ยานพาหนะ และผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเวียดนาม เป็นไปตามนโยบายพัฒนาประเทศที่มุ่งมั่นของรัฐบาลว่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจของ ประเทศให้แข็งแกร่งภายในปี 2563 โดย ธานเนียนสื่อท้องถิ่นรายงานว่า นายบุ๋ย กว่าง วินห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวระหว่างการประชุมความร่วมมือการพัฒนาในกรุงฮานอยระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะแข็งแกร่งมากขึ้น จาก 6% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สู่ 6.5-7% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

พร้อมกันนี้นายก รัฐมนตรี เหงียน เติ๋น สุง คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตอยู่ที่ 6.5% พร้อมการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ GDP ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 2,228 ดอลลาร์ จากเดิมที่ 2,000 ดอลลาร์เมื่อปีก่อน และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากถึง 3,200-3,500 ดอลลาร์ในปี 2563

โดยนายกฯสุง เผยว่า เวียดนามพยายามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ยกเครื่องโครงสร้างตลาดการเงิน และให้ความสำคัญกับการควบคุมสัดส่วนหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย พร้อมปฏิรูปกฎระเบียบให้เอื้อต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเพิ่มบรรยากาศใน การลงทุน

อย่างไรก็ตาม นางสาววิคตอเรีย กวากวา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเวียดนาม กลับแสดงความกังวลเกี่ยวกับ ผลิตภาพของแรงงานเวียดนามที่ยังคงล้าหลังและเติบโตในอัตราน้อยกว่า 4% แม้ที่ผ่านมาเวียดนามจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เป็น อย่างดี โดยระบุว่า การเติบโตที่ช้าของผลิตภาพแรงงานอาจเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ รวดเร็วและยั่งยืนได้

ขณะที่ทางสมาพันธ์แรงงานเวียดนามชี้ว่า ผลิตภาพแรงงานในเวียดนามที่ยังต่ำมีต้นตอสำคัญมาจากอัตราค่าจ้างที่ต่ำ ทั้งยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชากรวัยแรงงานกว่า 92% ของแรงงานทั้งประเทศ

ส่วนนายโจนาธาน ดันน์ ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ประจำเวียดนาม สะท้อนถึงความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่ยังคงสูงลิ่ว และภาวะการขาดดุลงบประมาณในปัจจุบันโดยคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะจะแตะที่ 61.3% ของ GDP ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเพดานความปลอดภัยของหนี้สาธารณะอยู่ที่ 65% ส่วนหนี้ต่างประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 41.5% ของจีดีพี ขณะที่ตัวเลขการขาดดุลงบประมาณภาครัฐ คาดว่าจะแตะ 5% ของ GDP ในปีนี้ ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดที่กฎหมายเวียดนามกำหนดไว้

ดันน์มองว่า เวียดนามจำเป็นต้องสร้างเสถียรภาพให้นโยบายเศรษฐกิจมหภาค อีกทั้งยังต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจให้เข้มแข็งขึ้นด้วย

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งสูง อาจทำให้เกิด "ภาพลวงตา" ว่าสถานการณ์ทางการคลังของประเทศยังคงแข็งแกร่ง แต่ปัญหาภายในหลายจุดที่ยังไม่ถูกสะสาง อาจทำให้เป้าหมายสวยหรูของรัฐบาลเวียดนามสะดุดได้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่