ร่างกายรู้ได้ยังไงว่ายาที่เรากินเข้าไปต้องไปรักษาตรงไหน

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 41
ไม่ทราบพื้นฐานของคุณว่าขนาดไหน  บุคคลทั่วไป นักศึกษาเภสัช หรือใดๆ ขออธิบายสั้นๆ  ง่ายๆ
---- ร่างกายรู้ได้ยังไงว่ายาที่เรากินเข้าไปต้องไปรักษาตรงไหน ? ---

ก่อนอื่นต้องมองภาพรวม "การเดินทางของยา" ในมุมมองเภสัช ง่ายๆ ก่อน
ประกอบด้วย 4 กระบวนการสำหรับยา "กิน" ส่วนใหญ่ดังนี้
1) การดูดซึม :
ยารับประทานถ้าเป็น "สารเคมี" ที่ดูดซึมได้ไม่ดี จะผ่านทางเดินอาหารออกไปหมด สุดท้ายก็รวมกับอุจาระ เเล้วออกนอกร่างกาย
โดยไม่ได้ออกฤทธิ์ในระบบเลือด หรืออวัยวะอื่นๆ ดังนั้น ยาส่วนใหญ่จึงมักเป็นสารที่ดูดซึมผ่าน "กระเพาะอาหาร" เเละ/หรือ "ลำไส้" ได้ค่อนข้างดี

2) การกระจายตัว :
เมื่อดูดซึมเเล้ว ยาจะกระจัดกระจายไปตามกระเเสเลือด ในเลือดเองมีส่วนผสมหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นน้ำ เเละมีโปรตีนอยู่ด้วย
ยาบางตัวชอบจับกับโปรตีนในเลือด "ไม่ค่อยกระจาย" ขณะที่ยาบางตัวชอบ "กระจายออก" ออกไปนอกเส้นเลือด สู่อวัยวะต่างๆ

อย่าเพิ่ง ตัดสินนะครับว่า....การกระจายมาก หรือน้อย จะดี หรือเเย่ เพราะเเท้จริง มันเเล้วเเต่วัตถุประสงค์ของผู้ออกเเบบยา
ตัวอย่างเช่น ยาฆ่าเชื้อ....ถ้าคุณติดเชื้อในกระเเสเลือด ยาที่ดีในกรณีนี้ น่าจะเป็นยาที่ชอบรุมกัน กระจุกตัวอยู่ในกระเเสเลือด (ก็จะมีโอกาศเจอกับเชื้อมาก เเละฆ่าเชื้อได้สำเร็จ)
หากคุณติดเชื้อในปอด ในกระดูก หรือในสมองล่ะ ? เเน่นอนว่า ยาที่คุณสมบัติเหมาะกับกรณีนี้ ก็น่าจะเป็นยาที่ชอบออกจากหลอดเลือด ไปสะสมตามอวัยวะ
ยาไปที่ปอดอาจจะไม่ยาก เพราะเลือดพาไปได้ง่าย
เเต่บางอวัยวะอย่างเช่น กระดูก เเละสมอง เป็นอวัยวะที่ ไม่ใช่ยาทุกตัวจะไปถึงครับ สมองมีกำเเพงกั้นเเน่นหนา เรีอกว่า Blood brain barrier สารบางชนิดเข้าไปได้ บางชนิดไม่ค่อยเข้าถึง...

อีกตัวอย่างคือ ยานอนหลับ ยาจิตเวช ยารักษาซึมเศร้า ยารักษาอัลไซเมอร์....พวกนี้เป็นอาการทางสมอง ถ้าสารใดๆ ไม่มีคุณสมบัติในการผ่านเข้าสมอง ย่อมสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาเหล่านี้ได้ยาก (ปล. อาจมีการทำ salt form ทำ ester form ใดๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ อันนี้ข้ามไปเถอะ เดี๋ยวเยอะเกิน)

..........
3) การเปลี่ยนเเปลงยา :
นึกภาพยาเป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง อย่าไปมองว่ามันเป็นผง หรือเม็ด หรือน้ำ ต้องมองว่ามันคือสารเคมี มีสูตรโครงสร้าง
ถ้านึกไม่ออก ลองหาชื่อยามาสักตัว search ในกูเกิล ว่า...ชื่อยา + structure
นั่นเเหละ....
ไอ้เจ้ายานั้นๆ มันอยู่ในร่างกาย ก็ไม่ได้อยู่ในรูปเดิมตลอด
หากไปชนกับสารอื่น เช่น กรด ด่าง เอนไซม์ โปรตีน บลาๆๆ ก็อาจเปลี่ยนเเปลงรูปร่างของมันเป็นสารอื่นๆ ไปได้
อวัยวะที่มักมีบทบาทหลักในการเปลี่ยนเเปลง ได้เเก่ "ตับ" เพราะในตับมีเอนไซม์ต่างๆ มากมาย
"ยา" ที่ผ่านตับ----> อาจถูกเปลี่ยนให้หมดฤทธิ์ยา  เพิ่มฤทธิ์ยา  หรือ มีพิษมากขึ้นก็ได้
ยาที่ผ่านตับเเล้วกลายเป็นสารพิษ คนกินไปเเล้วตับอักเสบ ตับพัง รพ. ก็จะรายงานๆๆๆๆ ไปที่ส่วนกลาง สะสมรายงานมากๆ ก็จะตามมาด้วยการ "ถอดถอนยา" ออกจากตลาด
ดังนั้น ยาส่วนใหญ่ที่ใช้กัน จึงมักเป็นพวกที่ผ่านตับเเล้วเป็นพิษน้อยลง (มักจะละลายน้ำได้ดีขึ้น)

4) การกำจัดออก :
ที่พูดถึงกันบ่อยๆ มักหมายถึง กำจัดออกทางอุจจาระ ไม่ก็ปัสสาวะครับ
ยาที่ผ่านตับ ละลายน้ำได้ง่ายขึ้น ก็อาจไปที่ไต เเล้วขับออกมากับฉี่เป็นต้น
ยาบางตัวอาจขับออกจากตับผ่านทางน้ำดีก็ได้ (ท่อน้ำดีก็อยู่ใกล้ๆ ตับนั่นเเหละ) เเล้วก็ผ่านมายังลำไส้----> ปะปนในอุจจาระ
ตัวอย่างที่ชัดเจน สัมผัสได้ อาจเคยได้ยินเภสัชกรบอกว่า...
ยานี้อาจทำให้อุจจาระเลี่ยนสี เป็นสีดำ (เช่น ยาที่มีเหล็ก)
ยานี้อาจทำให้อุจจาระเลี่ยนสี เป็นสีเเดง (ยาฆ่าเชื้อ Cefdinir)
ยานี้อาจทำให้ปัสสาวะเเละสารคัดหลั่ง (น้ำตา) เลี่ยนสี เป็นสีส้ม/เเดง (ยารักษาวัณโรค Rifampicin)

เป็นต้น

______________________________-ที่เวิ่นมานี้ คือการเดินทางทั่วๆ ไป เเต่ไม่ทั้งหมด (เช่น ยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ไม่จำเป็นต้องดูดซึม เพราะออกจากปลายเข็มก็ไปอยู่ในเลือดล้าววววว) ....เเต่ยามันออกฤทธิ์ เมื่อไรล่ะ ??

อันนี้ตอบ 3 วัน ก็ไม่จบ
เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีมันไปไกล จนยาเยอะเเยะมาก

ขอเเบ่งคร่าวๆ นึกสดๆ เท่าที่จะพอนึกๆ ออก เเต่ไม่เหมือนตำรานะครับ เพราะปัจจุบันใช้ในหน้างานจริง ก็จำไม่ได้เเล้วว่า ภาษาหนังสือเขาอะไรกันยังไง



1) สารเคมีที่ออกฤทธิ์กับตัวรับ : (ฮอร์โมนก็ออกฤทธิ์ผ่านตรงนี้นะ)
ในเซลล์ต่างๆ ของร่างกายมีตัวรับไม่เหมือนกัน  ตัวรับคล้ายๆ เป็นเเม่กุญเเจ ... พอมีอะไรมาไขเเล้วเปิดออกได้...จะเหมือนเปิดติดเครื่องสตาร์ท ให้ทำหน้าที่ต่างๆ
เช่น หัวใจมักพบตัวรับ B1 ซึ่งปกติก็มีสารในร่างกายมาจับ---> กระตุ้น----> หัวใจเต้น  เช่น adrenaline เป็นต้น
ยาบางตัว มาจับ B1 ได้ คล้ายๆกับ adrenaline-----> ดังนั้นจึงมีผลเพิ่มการทำงานของหัวใจได้เช่นกัน (เเม้หน้าตาสารนั้น อาจไม่ได้คล้ายกับ adrenaline เลยก็ตาม)
เเต่ยาบางอย่าง...ไปจับตัวรับ B1 ได้...เเล้วไม่กระตุ้น---> กลับยับยั้งการทำงานของหัวใจ เช่น ยา Propanolol เป็นต้น
ลองนึกภาพ กุญเเจรถก็ได้...ดอกเเรก (adrenalin) ไขกุญเเจ สตาร์ทรถได้
ดอกที่สอง (Propanolol) ก็ไขเข้ารูได้ ----> เเต่ไม่สามารถสตาร์ทเครื่องได้ เหมือนเอาไปคาไว้เฉยๆ เเต่บิดหมุนไม่ได้

เเล้วทำไม กินยานี้ หัวใจจึงไม่หยุดไปเลย เเบบรถที่สตาร์ทไม่ติด ?

ก็เพราะหัวใจดวงน้อยๆ 1 ดวง ประกอบด้วยหลายตัวรับ B1

ดังนั้นหากมีสักร้อย สองร้อย สามร้อยตัวรับ (รูกุญเเจ) ถูกจับปิดไป ---> ตัวรับที่เหลืออยู่ ก็สามารถจับกับ adrenaline เเล้วทำงานได้ ---> หัวใจจึงเเค่เต้นช้าลง ความดันเลือดลดลง ---> ใช้เป็นยาลดความดัน

เเละเเน่นอน ถ้าใช้ยาในขนาดที่สูงมากเกินไป จนตัวรับถูกปิดกั้นไว้เยอะ......หัวใจก็อาจหยุดได้

2) ออกฤทธิ์ต่อเอนไซม์
คล้ายคลึงกับตัวนับนั่นเเหละ มีทั้งยา (โครงสร้างทางเคมี) ที่ลอยไปเเทรกในเอนไซม์------> เเล้วเพิ่มการทำงาน กระตุ้นการทำงาน
เเละก็มีทั้งยา (โครงสร้างทางเคมี) ที่ลอยไปเเทรกในเอนไซม์------> เเล้วเกะกะช่องไว้เฉยๆ ทำให้เอนไซม์ถูกยับยั้งการทำงาน

ปล. เอนไซม์มีเยอะเเยะมากมายในร่างกายคน ตัวรับก็เช่นกัน
ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยา (สารเคมี) ที่เอามาใช้จึงมีฤทธิ์รักษาโรคต่างๆ กันไป

ปล2. สารเคมีที่นำมาใช้เป็นยา มักต้องมีคุณสมบัติที่เเคบ คือ ไปออกฤทธิ์กระตุ้นหรือยับยั้งที่อวัยวะเดียว (เพื่อจะได้รักษาโรคเจาะจงไปเลย เเกมาเพื่อรักษาอะไรก็อันนั้น) เนื่องจากการที่สารชนิดหนึ่ง มีความสามารถในการกระตุ้นตัวรับหลายที่มากเกินไป เช่น หัวใจก็ได้ ไตก็ได้ กระเพาะก็ได้ สมองก็ได้....ขาดความเฉพาะเจาะจง...................ฤทธิ์ที่เหลือๆ เกินมาก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ เรียกว่า "อาการไม่พึงประสงค์" ชาวบ้านอาจคุ้นๆ กับคำว่า "อาการข้างเคียง"

ตัวอย่าง กินยาเเก้ปวดหัวไมเกรน---->
ยาจับกับตัวรับ alpha1  ณ สมองได้-------------> ผลคือ หดหลอดเลือดสมอง----------> บรรเทาปวดไมเกรน  [๑]
ยาจับกับตัวรับ alpha1  ณ ปลายมือ/เท้าได้ด้วย----> ผลคือ หดหลอดเลือดปลายมือเท้า-----> เย็น, ขาดเลือด, เนื้อตาย [๒]
ยาจับกับตัวรับ Dopamine  ได้-------------> ผลคือ คลื่นไส้อาเจียน [๓]

เป็นต้น

3) ยาฆ่าสิ่งมีชีวิต
ยาฆ่าเชื้อ------> ตัวยามีโครงสร้างที่ชอบไปจับกับส่วนของเชื้อ (เเล้วเเต่ว่าจะเป็น เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อเเบคทีเรีย เชื้อปรสิต) เเต่ไม่ค่อยมีผลต่อเซลล์คน
เมื่อยาเข้าไปในร่างกายคนที่ติดเชื้อ ยาจึงมีอันตรายต่อเชื้อโรค มากกว่าอันตรายต่อคน----> เชื้อตาย, คนหายป่วย
ยาฆ่าเชื้อเเบคทีเรีย A อาจมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อได้ 10 สายพันธ์
ยาฆ่าเชื้อเเบคทีเรีย B อาจมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อได้ 20 สายพันธ์ เเละไม่จำเป็นต้องซ้ำกับ A
เพราะอะไร ?
เพราะโครงสร้างยาทั้งคู่ต่างกัน เเละโครงสร้างเชื้อหลากหลายชนิดในโลกนี้ ก็ต่างกัน (ไม่งั้นเชื้อโรค คงไม่มีหลายชื่อขนาดนี้)
จริงๆ เเล้วมอีกมากมายหลายกลไก เเต่มันเยอะจริงๆ
ถ้าจะให้อธิบายเพิ่ม คงต้องระบุ "คำถาม" เเละ "ที่มาของคำถาม/วัตถุประสงค์ในการถาม" ให้ละเอียดกว่านี้
เพราะเรื่องยามันกว้างงงงงมากกกก

ยาฆ่าเซลล์-------> ยามะเร็ง...หรือเคมีบำบัด กลไกการออกฤทธิ์จะคล้ายๆ ยาฆ่าเชื้ออื่นๆ เเต่ตัวนี้มันฆ่าเซลล์คน เซลล์มะเร็งก็คือ เซลล์ของร่างกายคนนี้เอง
ที่เเบ่งตัวผิดปกติจนเกิดโรค ดังนั้น อาการข้างเคียง/ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคน จึงมีมาก
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
ร่างกายรู้ได้ยังไงว่ายาที่เรากินเข้าไปต้องไปรักษาตรงไหน

เมื่อเรากินยา  ยานั้นจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดและเดินทางไปทั่วร่างกาย ครับ
แต่ระหว่างเดินทางไปทั่วร่างกาย นั้น  มันจะมีสารประกอบซึ่งจะออกฤทธิ์กับร่างกายเรา
หากยา เดินทางไปจุดที่มีปัญหา  ก็จะออกฤทธิ์ในส่วนนั้น  ตัวอย่างการออกฤทธ์ของยา .... เช่น

Chlopheniramine (ยาแก้แพ้) เมื่อกินเข้าไปมันจะไปเข้ากระแสเลือด
แล้วไปยับยั้ง Histamine ในการจับกับตัวรับ (receptor)  และผลการยับยั้งนี้จะทำให้การแพ้ไม่เกิดขึ้นครับ

ยาปฏิชีวนะ เมื่อเรากินแล้วดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้ว  มันจะไปมีผลต่อ Cell membrane
ของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้สมดุลของแบคทีเรียนั้นเสียหายและตายไป และยังยับยั้งการสร้างผนัง Cell
ของเชื้ออีกด้วย ทำให้เชื้อไม่สามารถออกฤทธ์ได้ครับ

Paracetamol  เมื่อตัวยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้ว  จะไปยับยั้ง enzime ชื่อว่า
Cyclooxygenase (COX) ใน ระบบประสาทส่วนกลางทำให้การสร้างสาร Prostaglandins ลดลง  
ซึ่งสาร prostaglandin นี้  คือสารสื่อกลาง (primary mediator) ในการทำให้เกิดอาการ "ปวด" ครับ
ดังนั้น  ยา Paracetamol  จึงออกฤทธ์ได้ครอบจักรวาลมาก ช่วยลดอาการปวดได้หลายอย่าง
เช่น ปวดศีรษะ  ปวดฟัน  ปวดหลัง (จากอาการของ receptor กล้ามเนื้อ)   หากเราปวดอะไร ๆ อยู่ 3 ที่
เมื่อกิน Paracetamol เข้าไปแล้วก็จะลดปวดได้ทั้ง 3 ที่นั้นเลย

ยาแต่ละตัวจะมีการออกฤทธ์ในระดับโมเลกุล ส่วนมากมีผลต่อ Enzime ต่าง ๆ  และด้วยความที่มันเดินทางไปทั่วร่างกาย
จึงมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นด้วย เพราะนักวิจัยก็คงทำได้ดีสุดเพียงเท่านี้  หากจะออกฤทธ์เพื่อรักษาอย่างหนึ่งก็อาจจะ
มีผลต่ออีกอย่างหนึ่งด้วย
ความคิดเห็นที่ 13
ถ้าคำว่ารักษาตรงไหนหมายถึงส่วนไหนของร่างกาย
ยาไม่รู้ค่ะ เห็นง่ายๆจากการที่เรากินยา Antiboitic
แล้วบางตัวมี Side effect ทำให้ท้องเสียได้
นั่นคือยาที่ไปฆ่าเชื้อ Normal flora ในลำไส้ซึ่งเป็นเชื้อดีค่ะ
อีกตัวอย่างนึงคือ paracetamol กินแก้ปวดหลังแต่ไปแก้ปวดหัวได้
ตัวอย่างเพิ่มเติมคือ Chemotherapy ที่ใช้เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งแต่มีผลต่อเซลล์ปกติ
ทำให้ผมร่วง เพราะมันทำลายเซลล์ปกติ
สิ่งเหล่านี้เราเรียก side effect ของยา ทั้งนี้ side effect ยังมีอีกหลายประเภท
แต่...
ยาที่ออกแบบนั้นสามารถเจาะจงกับโรคได้ค่ะ
ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเดียว เจาะจงกับโรคนั้นขึ้นกับทั้งขนาดและชนิดของยา
เช่น ใช้ยากลุ่ม steroid เพื่อลดอาการอักเสบ
ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ไม่สามารถรักษาท้องเสียได้
ซึ่งการเจาะจงแบบนี้ยาจะเจาะจงต่อสิ่งสำคัญในการเกิดโรคนั้นๆ
เช่น Antibiotic เจาะจงกับ Bacteria แต่จะเจาะจงกับส่วนไหนของ bacteria นั้นขึ้นกับชนิดยา
, Antifungal เจาะจงต่อ เชื้อยา
Steroid เจาะจงต่อ phospholipase A2 , หรือยาบางตัวจะจับกับ Receptor ในร่างกายก็ได้
สรุป
ยาไม่เจาะจงกับส่วนไหนของร่างกาย
แต่การออกแบบยาแต่ละชนิดจะเจาะจต่อสิ่งสำคัญในการเกิดโรค
ซึ่งสิ่งสำคัญในการเกิดโรคบางชนิดพบแค่บางส่วนของร่างกาย
ปัจจุบันมีความพยายามทำให้ยา specific มากที่สุดเพื่อลด side effect หรือ ADR ค่ะ
เม่ารดน้ำลูกเต่าน้อย
ความคิดเห็นที่ 15
ยาแต่ละตัว มี mode of action ในการทำงานต่างกันนะคะ ในการเลือกบริเวณที่ออกฤทธิ์ก็มีความต่างกัน
บางตัวเฉพาะเจาะจง บางตัวไม่เฉพาะเจาะจง
เรียกว่า Site selectivity
ยาบางชนิด จะเจาะจงไปที่อวัยวะเป้าหมาย ซึ่งเรียกเรียกว่า target site  ยาบางชนิด ออกฤทธิ์กับระบบ หรือออกฤทธิ์รวมๆ เป็น non specific selectivity

ยาที่ไม่เฉพาะเจาะจง (non specific selectivity)จะออกฤทธิ์กับหลายส่วนอย่างที่ คห บน กล่าวไปแล้ว เช่นพวกยาต้านอักเสบ  ยาพวกนี้ ถ้าที่ไหนมีการหลั่งของสารอักเสบ ยาก็จะไปจัดการหมด ดังนั้นจึงออกฤทธิ์หลายตำแหน่ง


แต่ยาหลายชนิด ก็มีตัวรับหรือ receptors ที่เฉพาะของมันค่ะ receptor คือ ตัวรับยาบนผิวเซลล์ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับยาหรือสารเคมีแต่ละชนิดแตกต่างกันไป สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มีตัวรับหรือ receptor ไม่เหมือนกัน เป็นเหตุผลว่าทำไม สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีการตอบสนองต่อยา และต่อโรคบางชนิดต่างกัน   ซึ่งการแสดงออกของรีเซปเตอร์นั้นขึ้นกับพันธุกรรมค่ะ และ receptor ของแต่ละอวัยวะไม่เหมือนกัน จึงเป็นเหตุว่าทำไมยาบางชนิดออกฤทธิ์กับอวัยวะหนึ่ง แต่ไม่ออกฤทธิ์กับอวัยวะหนึ่ง

เช่น ยาสำหรับรักษาโรคหัวใจหรือ Hypertension  
เช่นกลุ่ม  Beta blocker

Beta ที่ว่า คือชื่อ receptor  

อย่าง Beta 1 receptor  จะมีอยู่ที่หัวใจเป็นหลัก และมีที่ไตนิดหน่อย
Beta 2 receptor  อยู่ที่ปอด ตับ มดลูก เส้นเลือด

เพราะฉะนั้น ถ้าให้ยา Beta 1 antagonist  เช่น acebutolol มันจะออกฤทธิ์ที่หัวใจ และอาจมี site effect ที่ไต
ให้ beta 2 antagonist ก็มีผลกับ ปอด ตับ มดลูกเส้นเลือด

receptor บางชนิด มีกระจายทั่วตัว เช่น H1 receptor  ซึ่งเป็นตัวรับที่จะจับกับฮิสตามีน หรือสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
ดังนั้นยากลุ่ม H1 receptor antagonist  จึงออกฤทธิ์หลายอวัยวะ

การจ่ายยาก็สำคัญ ยาบางชนิดมี receptor ที่ทางเดินอาหาร เช่น H2 receptor  ที่จะจับกับ histamine ที่กระเพาะอาหาร ดังนั้นจึงมียากลุ่ม
ที่ชื่อ H2 blocker อย่าง ranitidine  ถ้าให้โดยการกิน ก็จะไปทำให้กรดในกระเพาะอาหารลดลง  แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี receptor อยู่ที่ปอด
มีรายงานการวิจัยว่า มีการใช้ Ranitidine ไปรักษาโรคปอดอย่าง COPD  แต่การจะให้ทางการกินนั้น ไปไม่ถึงปอดอย่างแน่นอน จึงต้องให้ทางการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ  (intravenous) ดังนั้น ถ้าเรากินยากลุ่มนี้เข้าไป ก็จะดูเฉพาะเจาะจงกับกระเพาะอาหาร

ในส่วนของ antibiotic หลายๆ ชนิด จะดูดซึมเข้ากระแสเลือด และจะไปออกฤทธิ์กับจุลชีพ ดังนั้น ถ้าจุลชีพอยู่ตรงไหน ก็ไปจัดการตรงนั้น ดังนั้นเลยอาจจะดู specific  ซึ่งบางทีมันไม่ได้ specific ต่อ organ แต่ specific ต่อเชื้อ เช่น Bacteria แกรม บวก แกรมลบ แบคทีเรียที่มีความไวต่อยาที่แตกต่างกันอะไรแบบนี้

ยาบางชนิด โมเลกุลใหญ่ ไม่ดูดซึมเข้ากระแสเลือดก็มี ดังนั้นยากลุ่มนี้ก็จะออกฤทธิ์แต่ในลำไส้

มันซับซ้อนนะ ที่จริงยังมีอีกหลายหลักเกณฑ์ แต่ขออธิบายแค่นี้ละกันค่ะ
ความคิดเห็นที่ 1
"ผู้คิดค้นยา เค้าจะต้องคิดออกแบบยา
เริ่มตั้งแต่โครงสร้างโมเลกุลขึ้นมาเลย ว่าจะออกแบบยาตัวนี้อย่างไร
เพื่อให้ทำหน้าที่อะไร จับกับอะไร ดูดซึมไปสะสมบริเวณไหนในร่างกาย
และถูกดูดซึมส่งเข้าไปถึงที่หมายอย่างไรเพื่อทำหน้าที่อะไร"
(ปล. ก๊อปมาจากเพื่อนใน FB)

จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องการทำงานของยา ที่เลือกจะเข้าไปออกฤทธิ์แสดงผลอย่างไรและกับส่วนใดของร่างกาย
ไม่ใช่ร่างกายเป็นผู้เลือก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่