▂ ▃ ▄ ▅ ▆ ▇ █ ลงนามการค้าเสรี "อียู-เวียดนาม" ใครได้ ใครเสีย? █ ▇ ▆ ▅ ▄ ▃ ▂



ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. สหภาพยุโรป (อียู) และเวียดนาม ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอียู-เวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement)
หลังเดินหน้าเจรจากันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2555 โดยข้อตกลงครั้งนี้จะมีผลผูกพันธ์ทางกฎหมายหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้สัตยาบันในข้อตกลง


ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ หัวหน้าคณะกรรมการยุโรป ระบุในระหว่างการลงนามว่า "การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าไปใกล้กว่านั้นระหว่างทั้ง 2 ประเทศ" โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ การค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศขยายตัวถึง 3 เท่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านกรรมการด้านการค้าของอียู เซซิเลีย มาล์มสตรอม ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวนั้น ถือเป็น "ต้นแบบใหม่ของนโยบายการค้ากับประเทศกำลังพัฒนา" และมีแบบแผนมาจากการตกลงการค้าเสรีระหว่างอียู-สิงคโปร์ ที่บรรลุเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทั้งยังถือเป็นความก้าวหน้าในเชิงความสัมพันธ์ของอียู กับ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน โดยอียูจะพยายามส่งเสริมข้อตกลงระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต

สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า ข้อตกลง FTA อียู-เวียดนามนี้ ถือเป็นการเจรจาการค้าเสรีฉบับแรกที่อียูสามารถบรรลุกับประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งเวียดนามยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยังเหลืออยู่ในโลก โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะกำจัดอุปสรรคทางภาษีกว่า 99% ในการค้าระหว่างกัน ภายในเวลา 7 ปี

สินค้าส่งออกหลักจากเวียดนามไปอียู ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า สิ่งทอ สินค้าเกษตร และอาหารทะเล และสินค้าส่งออกของอียู ได้แก่ สินค้าประเภทเทคโนโลยีและเครื่องจักร เครื่องบิน ยานยนต์ และยา

ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะกรรมการยุโรป (ec.europa.eu) ระบุว่าในปี 2557 เวียดนามส่งออกมาอียูราว 24,069 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อียูส่งออกไปเวียดนาม 6,752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อียูขาดดุลการค้าราว17,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม อียูนั้นถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเวียดนาม โดยในปี 2558 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากอียูไปลงทุนในเวียดนามทั้งหมด 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ อียูยังมีการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ อีก ได้แก่ มาเลเซีย ไทย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ยังไม่บรรลุข้อตกลง

Link : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1449221131
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่