ตำนาน 8 อรหันต์ไวน์ไทยขึ้นโต๊ะเอเปค

สวัสดีครับ

ด้วยความอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไวน์ไทยในปัจจุบัน จึงได้ค้นหาข้อมูลมากมาย
จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้พบบทความดังกล่าว ซึ่งคิดว่าคงเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญหน้าหนึ่งของไวน์ไทยเลยทีเดียว
จึงอยากจะเอาเรื่องราวดีๆ มาฝากจารึกไว้ ณ ที่นี้ ครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
8 อรหันต์ไวน์ไทยขึ้นโต๊ะเอเปค
ธวัชชัย เทพพิทักษ์
จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินโครงการคัดเลือกไวน์ใช้งานรับรองการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ชุมชนผลิตไวน์และสุราแช่ไทย ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ของไทยให้ก้าวไกลไปต่างประเทศ

วันที่ 3 มีนาคม 2546 ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมมีมติแต่งตั้งให้ ดร.ลูกจันทร์ ภัครัชพันธ์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานคณะดำเนินการคัดเลือกไวน์เพื่อเอเปค

คณะกรรมการเปิดรับ ตัวอย่างไวน์ จำแนกตามวัตถุประสงค์ โดยแบ่งเป็นประเภทไวน์ทำจากองุ่น ประเภทไวน์ผลไม้อื่นที่ปลูกในเมืองไทยและไวน์สมุนไพร ระหว่างวันที่ 17 เมษายน-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ผลิตส่งไวน์เพื่อคัดเลือกจำนวน 270 ตัวอย่าง

วันที่ 10-20 มิถุนายน คณะทำงานคัดเลือกตัวอย่างในรอบแรกจากการตรวจสอบคุณภาพในเบื้องต้น โดยมีไวน์ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 120 รายการ

ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน และ 1 กรกฎาคม คณะทำงานดำเนินการคัดเลือกรอบ 2 ด้วยการเชิญผู้ทรงวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาอาชีพ ชิมทดสอบ และ คัดเลือก พร้อมให้คะแนน ปรากฏว่ามีไวน์ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 60 ตัวอย่าง

เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม คณะทำงานคัดเลือกไวน์ที่ได้คะแนนสูงสุด 30 อันดับแรก (จาก 60 ตัวอย่าง) และเยี่ยมตรวจสอบโรงงานผลิตทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เช่น กระบวนการผลิต ระบบสุขอนามัย เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

โรงงานผลิตที่คณะทำงานได้ไปตรวจสอบ ภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และพิจิตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สกลนคร มหาสารคาม และนครราชสีมา ภาคกลางที่นครปฐม ปทุมธานี สระบุรี และกรุงเทพฯ ภาคตะวันออกที่ระยองและจันทบุรี ภาคใต้ที่ยะลา

วันที่ 5 กันยายน คณะทำงานชิมทดสอบคุณภาพของไวน์ ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 26 ตัวอย่าง เพื่อสรุปผลรอบสุดท้าย โดยไวน์ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบนี้ จะได้รับการตรวจสอบอีกครั้งจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อความปลอดภัย จากนั้นจะส่งมอบให้กับ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้รับรองการประชุมเอเปคต่อไป ผลการชิมทดสอบซึ่งมีนาย กร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประกาศผลด้วยตนเอง มีดังนี้

ประเภทไวน์องุ่น

คณะกรรมการคัดเลือกเน้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีคือ ต้องเป็นผลไม้ที่ปลูกในเมืองไทย เหมือนไวน์จากผลไม้ไทยและสมุนไพรอื่นๆ เพื่อต้องการส่งเสริมผู้ผลิตไทยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางรายเลี่ยงโดยใช้น้ำองุ่น (Mush) หรือคอนเซนเทรต (Concentrate) ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ผสมกับองุ่นที่ปลูกในเมืองไทยส่วนหนึ่ง ทำให้คุณภาพค่อนข้างดีจนถึงดี แต่คณะกรรมการคัดเลือกยึดหลักการที่ได้รับมอบหมาย คือ ต้องเป็นผลไม้ที่ปลูกในเมืองไทย ประกอบกับคณะกรรมการคัดเลือกได้ไปดูกระบวนการผลิตถึงโรงงาน การให้คะแนนจึงไม่มีปัญหามากนัก

สภาพความเป็นจริงของการผลิตไวน์จากองุ่นในเมืองไทยในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ บางบริษัทใช้น้ำองุ่นจากต่างประเทศผสมกับองุ่นที่ปลูกในเมืองไทย บางรายไม่มีไร่ปลูกองุ่นเลยใช้น้ำองุ่นจากต่างประเทศล้วนๆ สั่งเข้ามาหมักบ่มในเมืองไทย บางเจ้าใช้น้ำองุ่นที่เพิ่งคั้นสดๆ (Must) มาจากต่างประเทศ ซึ่งราคาจะแพง แล้วมาผสมคอนเซนเทรตที่อาจมาในลักษณะน้ำหรือแห้ง และองุ่นในเมืองไทย เป็นต้น ไวน์ที่เกิดจากกระบวนการประเภทหลังสุดนี้ราคาจะแพง

ประเภท ไวน์ขาว มีผ่านการคัดเลือกเพียงตัวเดียวจากองุ่นเชอแนง บลอง (Chenin Blanc) ของ พีบี แวลเลย์ (PB Valley) พีบี แวลเลย์ เป็นไวน์ของบริษัท เขาใหญ่ ไวน์เนอรี่ ในเครือบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เจ้าของเบียร์สิงห์

พีบี แวลเลย์ เขาใหญ่ รีเสิร์ฟ เชอแนง บลอง 2001 (PB Valley Khao Yai Chenin Blanc Reserve 2001) รสชาติกลมกล่อม หอมกลิ่นดอกไม้กรุ่นๆ ผสมกับน้ำผึ้ง เลมอน และกลิ่นโอ๊กนิดๆ ดื่มแล้วสดชื่น เหมาะกับซีฟู้ดบ้านเรามาก

ประเภท ไวน์แดง มีไวน์ที่ผ่านการคัดเลือก 3 ตัว แต่ 2 ยี่ห้อคือ พีบี แวลเลย์ ชิราซ และ มอนซูน แวลเลย์ ชิราซ เช่นเดียวกัน ดังนี้

1. พีบี แวลเลย์ เขาใหญ่ ชิราซ สเปเชียล รีเสิร์ฟ 2001 (PB Valley Khao Yai Shiraz Special Reserve 2001) เป็นไวน์แดงผลิตจากองุ่นชิราซปลูกในเมืองไทย ในไร่องุ่นที่ อ.ปากช่อง นครราชสีมา บ่มในถังโอ๊กประมาณ 2 ปี สีแดงเข้ม รสชาติหนักแน่น มีกลิ่นของช็อกโกแลต วานิลลา และเครื่องเทศเผ็ดหรือสไปซี่ตามสไตล์ขององุ่นชิราซ ไวน์ตัวนี้ได้รับการคัดเลือกให้เสิร์ฟบนเครื่องบินของการบินไทยในเวลานี้ จัดเป็นไวน์แดงที่ทำจากองุ่นที่ปลูกในเมืองไทยที่คุณภาพดีที่สุดในยุคปัจจุบัน

2. มอนซูน แวลเลย์ ชิราซ สเปเชียล รีเสิร์ฟ 2001 (Moonsoon Valley Shiraz Special Seserve 2001) เป็นไวน์สไตล์ไวน์โลกใหม่ที่ค่อนข้างฟูลบอดี้ ให้กลิ่นหอมของกล่องซิการ์ ไม้ซีดาร์ ผสมผสานกับผลไม้สุกและสไปซี่นิดๆ ดื่มกับอาหารไทยประเภทเนื้อและหมูได้ดี โดยเฉพาะประเภทปรุงแบบมีเผ็ดนิดๆ เป็นไวน์ที่มีอนาคต

3. มอนซูน แวลเลย์ เรด 2001 (Moonsoon Valley Red 2001) เป็นไวน์ผลิตตามแบบฝรั่งเศส คือใช้องุ่นมากกว่า 1 พันธุ์ผสมผสานกัน มอนซูนขวดนี้ใช้องุ่นชิราซจากปากช่อง ผสมกับองุ่นป๊อกดำ (Pok Dum) ซึ่งใช้บริโภค และมุสคัต (Muscat) ปลูกในไร่ย่านสมุทรสาคร ไวน์ตัวนี้สีม่วงสดมีประกายสดใส มีกลิ่นของผลไม้สุกกรุ่น ผสมผสานกับกลิ่นเนื้อไม้เลื่อยใหม่ๆ เผ็ดหรือสไปซี่เล็กน้อย บอดี้ปานกลาง ดื่มง่าย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มดื่มไวน์ ที่สำคัญตัวนี้ดื่มกับอาหารไทยได้ดีมาก

เจ้าของ 'มอนซูน' คือบริษัท สยามไวน์เนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ในเครือกระทิงแดงและสปาย (Spy) ไวนคูลเลอร์ เดิมผลิตไวน์จากองุ่นอยู่แล้ว ยี่ห้อ ชาตอง (Chatemp) แต่เป็นไวน์จากองุ่นไทยซึ่งใช้บริโภค โดยปลูกที่สมุทรสาคร ชาตองเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2541

ต่อมาจึงหันมาผลิตไวน์จากองุ่นพันธุ์ที่ใช้ทำไวน์โดยตรง ทั้งไวน์แดงและไวน์ขาว โดยเฉพาะไวน์แดงใช้องุ่น ชิราซ (Shiraz) ปลูกในพื้นที่ 200 ไร่ ที่ อ.ปากช่อง นครราชสีมา ใช้ผลิตไวน์ 'มอนซูน' ไวน์น้องใหม่ที่กำลังมาแรง เปิดตัวเป็นทางการในสหรัฐเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ก เป็นไวน์ไทยยี่ห้อแรกที่ได้วางขายอย่างเป็นทางการในสหรัฐ ส่วนในเมืองไทยเผยโฉมอย่างเป็นทางการเมื่อ 31 กรกฎาคม 2546

ทั้ง เขาใหญ่ และ มอนซูน ต่างเป็นบริษัทไวน์ที่มีพร้อมทั้งเงินทุน พื้นที่ปลูกองุ่น โรงงานผลิตไวน์ทันสมัย เทคโนโลยีทันสมัย บุคลากรเชี่ยวชาญ จึงสามารถผลิตไวน์ได้คุณภาพ ปัญหาที่ติดอยู่ในเวลานี้คือ ภาษี ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องขายในราคาค่อนข้างสูงคือประมาณ 350-400 บาท ปัจจุบันกำลังมีความพยายามในการขอลดภาษี เพื่อให้คนไทยได้ดื่มไวน์ที่มีคุณภาพในราคาถูกลง

ประเภทไวน์ผลไม้และสมุนไพร

ที่ผ่านการคัดเลือกมี 4 ตัวดังนี้

1. ทรอปิคอล ฟรุต ไวน์ (Tropical Fruit Wine) ปี 2002 ได้รับการคัดเลือกประเภท สับปะรด ของโรงงานยูไนเต็ด โปรดัก นครปฐม ไวน์ตัวนี้สีเหลืองทอง กลิ่นผลไม้โดดเด่นและชัดเจน รสชาติค่อนข้างกลมกล่อม ติดปากติดลิ้นค่อนข้างนาน

บริษัทนี้เครื่องไม้เครื่องมือตลอดจนโรงงานผลิตทันสมัย ผลิตไวน์สับปะรดส่งไปขายญี่ปุ่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ขณะที่เมืองไทยคอไวน์มักจะไม่ค่อยชอบไวน์สับปะรด ทั้งที่จริงแล้วสับปะรดเป็นหนึ่งในไม่กี่ชนิดของผลไม้ไทยที่มีศักยภาพสูงในการทำไวน์ เป็นผลไม้ที่น่าส่งเสริมเพื่อการผลิตไวน์

2. ลาซองเต้ (La Sante) ปี 2002 ได้รับการคัดเลือกประเภท ลิ้นจี่ โดยบริษัท เชียงรายไวน์เนอรี่ จำกัด จ.เชียงราย บริษัทนี้โด่งดังเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน เนื่องจากถูกฆาตกรชาวต่างประเทศปลอมแปลงชื่อ ด้วยการใส่สารเคมีจนมีคนดื่มตายไป 1 คน และจนบัดนี้ตำรวจยังจับตัวไม่ได้

'ลิ้นจี่' เป็นผลไม้ที่มีศักยภาพในการทำไวน์ขาวได้ยอดเยี่ยมมาก อาจเรียกว่ามากที่สุดในจำนวนผลไม้ที่ทำไวน์ขาวด้วยกัน เนื่องจากเมื่อทำไวน์แล้วรสชาติใกล้เคียงกับไวน์ขาวเยอรมนีที่ทำจากองุ่นเกวูร์ซทรามิเนอร์ (Gewurztraminer) มาก ถ้าใช้เทคโนโลยีในการผลิตดีๆ และคนชิมไม่เชี่ยวชาญจริง แทบจับไม่ได้ และมักคิดว่าเป็นองุ่นพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือมีกลิ่นลิ้นจี่ที่โดดเด่น

เชียงราย ไวน์เนอรี่ เป็นบริษัทผลิตไวน์จากผลไม้และสมุนไพรไทยที่ทันสมัยระดับแนวหน้าในจำนวนไม่กี่แห่งของเมืองไทย เพียบพร้อมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีอันทันสมัย ตลอดจนนักวิชาการ ผลิต ไวน์กระชายดำ ลิ้นจี่ โด่ไม่รู้ล้ม ได้ดี

3. แม่ปิง (Mae Ping) ปี 2002 ได้รับการคัดเลือกประเภท มะเกี๋ยง โดยโรงงานสหกรณ์ไวน์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นไวน์ที่รสชาติแปลกและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง น่าสนับสนุนส่งเสริมอย่างยิ่ง

'มะเกี๋ยง' เป็นผลไม้พื้นเมืองภาคเหนือ บางคนว่าเป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับลูกหว้า ปัจจุบันมีผู้ผลิตไวน์จากมะเกี๋ยงหลายราย รสชาติแตกต่างกันออกไป ขณะที่ไวน์มะเกี๋ยงของโรงงานสหกรณ์ไวน์เชียงใหม่ สีออกส้มๆ รสชาติกลมกล่อมดีอย่างไม่น่าเชื่อ เวลาดื่มควรแช่ให้เย็นๆ ได้รสชาติที่ดีมาก ดื่มเรียกน้ำย่อย หรือดื่มกับสลัดและซีฟู้ดบางอย่างได้ แคลิฟอร์เนียมีโรเซ่หรือบลัชไวน์จากองุ่นซินฟานเดล เมืองไทยสามารถใช้มะเกี๋ยงโปรโมทได้ทันที

4. ชาโต เดอ แกลง (Chateau de Klaeng) ได้รับคัดเลือกประเภท กระชายดำ ปี 2002 โดย บริษัท บี.เจ. การ์เดนไวน์เนอรี่ จำกัด จ.ระยอง เป็นกระชายดำที่รสชาติกลมกล่อม กลิ่นกระชายดำไม่ฉุนและไม่รุนแรงมาก เพราะไวน์กระชายดำที่ผลิตในเมืองไทยปัจจุบัน ส่วนหนึ่งกลิ่นฉุนจัดจ้าน บางส่วนเข้มข้นจนขมเหมือนยามากกว่าไวน์ ทำให้ผู้ดื่มไม่ชอบรสชาติ ซึ่งอาจมีผลทำให้ชาวต่างประเทศไม่ค่อยชอบ

มีคำถามจากหลายฝ่ายว่า ไวน์ทั้งหมดนี้เหมาะสมหรือไม่ เพียงใด ในการที่จะเสิร์ฟใน การประชุมเอเปค ครั้งนี้

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากแต่ละตัวนอกจากเข้าเกณฑ์ตามที่รัฐบาลต้องการแล้ว ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นไวน์องุ่น ไวน์ผลไม้ และไวน์สมุนไพร

การได้เสิร์ฟในการประชุมเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นประตูบานใหญ่ที่จะเปิดให้โลกรู้จัก ไวน์ไทย มากขึ้น

และอาจจะเป็นการพัฒนาวงการไวน์ไทยครั้งใหญ่เพื่อโกอินเตอร์ก็ได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จากบทความนี้ ทำให้รู้ว่า ยุคนั้นคงเป็นยุคทองของไวน์ไทยแน่ๆ และทำให้อยากรู้มากยิ่งขึ้น ว่ายุคนั้น สำหรับไวน์ไทยแล้ว มันเป็นอย่างไร?
ไวน์ไทยในตำนานทั้ง 8 ตัวนี้ ยังมีใครเก็บสะสมหลงเหลืออยู่บ้างมั้ย? (ใครมีภาพไวน์เหล่านี้ รบกวนช่วยลงให้เห็นกันหน่อย จักเป็นพระคุณยิ่งครับ)

และไวน์ไทยในปัจจุบัน ตอนนี้เป็นยังไง?
สำหรับไวน์องุ่น ผมเองก็ยังได้เห็นทั้งของ เจ้าเก่าและเจ้าใหม่ อยู่บ้างในปัจจุบัน
แต่สำหรับไวน์ผลไม้ ในปัจจุบัน ยังพอจะมีเจ้าเก่าหลงเหลืออยู่บ้างมั้ย และเจ้าใหม่มีใครบ้าง และจะหาได้ที่ไหนบ้างครับ?

แล้วถ้ายุคนี้จะค้นหาสุดยอดไวน์ไทยกันอีก มีใครพอจะแนะนำสุดยอดไวน์องุ่นและไวน์ผลไม้ ในปัจจุบันได้บ้างครับ?

ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่