27 ปี โคลนถล่มกะทูน จากความวิปโยค คืนสู่ความสมบูรณ์ @ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช

27 ปี โคลนถล่มกะทูน จากความวิปโยค คืนสู่ความสมบูรณ์ @ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช
http://www.posttoday.com/local/scoop/400980

หากย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีก่อน วันที่ 22 พ.ย. 2531 ภัยพิบัติโคลนถล่มที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ทะเลโคลน รวมทั้งท่อนไม้ยางพารา และต้นไม้บนเทือกเขาหลวง ทับถม ต.กะทูน ทั้งตำบล พื้นที่กว่า  6,000 ไร่ บ้านเรือน 1,500 หลัง ถูกโคลนทับถมหนาร่วม 2 เมตร มีผู้เสียชีวิตและสูญหายร่วม 100 คน ประเมินความเสียหายนับพันล้านบาท ทุกคน ทุกฝ่าย หมดหวังกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนเดิม ต้องย้ายที่ตั้งชุมชนใหม่
ในขณะนั้นคนกะทูนต่างรู้สึกสิ้นหวังจากการสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านเรือน พื้นที่เกษตร ถูกทับถมยากฟื้นฟู
แต่ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำคลองกะทูนในพื้นที่ประสบภัย กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2540 นับแต่นั้นมาธรรมชาติก็ฟื้นตัว ชีวิตคนกะทูนกลับมายิ้มได้อีกครั้ง “อ่างเก็บน้ำคลองกะทูนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ก็กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คน การท่องเที่ยวกลายมาเป็นรายได้สำคัญอย่างหนึ่งของคนกะทูน

ไม่ต่างจากบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประสบภัยพิบัติในครานั้นด้วยเช่นกัน เมื่อธรรมชาติกลับฟื้นตัว บ้านคีรีวงกลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และชุมชนคีรีวงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.นครศรีธรรมราช

อ่างเก็บน้ำกะทูน

สำหรับ อ.พิปูน ธรรมชาติที่ฟื้นตัวยังส่งผลต่อระบบนิเวศที่สะอาดบริสุทธิ์ ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประกาศให้ต้นน้ำแม่น้ำตาปี ในพื้นที่ อ.พิปูน มีคุณภาพน้ำดีที่สุดในประเทศ
“แม่น้ำตาปีมีดัชนีคุณภาพน้ำผิวดินอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เฉลี่ยรวม 3 ไตรมาสที่ไปเก็บข้อมูลมาได้ถึง 87 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน โดยช่วงไตรมาส 2 เดือน เม.ย. ถึงเดือน มิ.ย. คะแนนมากถึง 93 คะแนน เป็นแม่น้ำเดียวในประเทศไทยที่ได้คะแนนสูงสุด ติดเกณฑ์คุณภาพดีมาก” วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันถึงผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ จาก 65 แหล่งน้ำทั่วประเทศ
ไม่แปลกที่คน อ.พิปูน และ อ.ฉวาง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ จะสูบน้ำจากแม่น้ำตาปีเพื่อจ่ายเข้าระบบประปาของชุมชนต่างๆ

ความเสียหายจากโคลนถล่มปี2531

เพื่อรักษาคุณภาพต้นน้ำตาปีให้คงความบริสุทธิ์สะอาด มีคุณภาพดีอย่างยั่งยืน กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 4 จึงร่วมกับชาวบ้าน ต.ยางค้อม อ.พิปูน สร้างฝายกั้นแม่น้ำตาปี เป็นฝายขนาดใหญ่ ขนาด 35×45 เมตร หูช้างข้างละ 20 เมตร เป็นฝายที่ยกระดับน้ำได้ 2 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 36 ตารางกิโลเมตร เป็นฝายกั้นน้ำต้นแม่น้ำตาปีฝายแรก ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 90%
ฝายยางค้อมจะเป็นฝายที่กั้นแม่น้ำฝายแรก ที่จะเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ เป็นการยกระดับน้ำแทนการขุด และที่สำคัญที่สุดฝายยางค้อมเป็นฝายที่ผ่านขั้นตอนของเวทีประชาคม ก่อสร้างโดยประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช้งบประมาณของรัฐแต่อย่างใด
การก่อสร้างส่วนที่เหลือคงมีเพียงการตกแต่งให้ดูสวยงาม ซึ่งคาดว่าฝายแห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะได้รับความสนใจอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช
ภัยพิบัติแม้จะนำความสูญเสียใหญ่หลวง แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจเหมือนธรรมชาติจัดระเบียบระบบนิเวศใหม่ และเมื่อระบบนิเวศเริ่มฟื้นตัว ความอุดมสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์ สะอาด ก็จะกลับคืนมา ซึ่งน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้มนุษย์ลดการเปลี่ยนแปลง ทำลายระบบนิเวศให้น้อยลง

ฝายกั้นแม่น้ำตาปี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่