TPP อย่าผลีผลามตามแห่..

กระทู้ข่าว
TPP อย่าผลีผลามตามแห่..


        การบรรลุความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจทรานส-แปซิฟิก หรือทีพีพี (TPP : Trans-Pacific Partnership) ของ 12 ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คงทำให้คนในแวดวงเศรษฐศาตร์ นักธุรกิจ และผู้สนใจในสาขาต่างๆ ตื่นเต้นและตื่นตัวกันไม่มากก็น้อย กับตัวเลขขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลก มีมูลค่าประมาณ 30 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1,095 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะใหญ่ที่สุดในอนาคต แต่ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้คือ ไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกในเขตการค้าเสรีแห่งนี้ คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเราไม่เข้าร่วม..เราจะตกขบวนและเสียโอกาส เสียประโยชน์ เสียเปรียบคนอื่นมากมายแค่ไหน?

        TPP มีการรวมตัวกันในแบบของเขตการค้าเสรี ที่ประเทศสมาชิกจะได้ประโยชน์จากการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษี (tariff barrier) และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barrier) ทั้งสินค้าและบริการ เช่นสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม โทรคมนาคม การเงิน ประกันภัย เป็นต้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้ประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน และมาเลซีย ได้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรเป็น 0 กับสินค้าจำนวน 18,000 รายการ และยังมีการขจัดอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และการลงทุน ระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างเสรี คาดว่า TPP จะมีผลบังคับภายในปี 2559-2560

        ทั้งนี้ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากเขตการค้าเสรี TPP คืออุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นจะหันไปสร้างห่วงโซ่การผลิตและใช้วัตถุดิบในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตและส่งออกสินค้ามีประสิทธิภาพสูงสุดและแข่งขันได้มากที่สุด  

        ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เนื่องจากจะมีทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่ต้องไตร่ตรองและชั่งน้ำหนักให้ดี และมองว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสหรัฐฯที่จะรุกอาเซียน จากความวิตกว่าตนเองกำลังจะถูกลดความสำคัญลง จึงใช้ TPP มาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประเทศตนเองกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยการพยายามผลักดันให้ TPP กลายเป็นข้อตกลงทางการค้าเสรีที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

        อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมาชิก TPP จะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษี 0% ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกก็ตาม แต่การค้าเสรีที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นอาวุธอันร้ายกาจ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรจะทำให้สินค้าราคาถูกจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าสามารถเข้าไปตีตลาดประเทศในกลุ่ม TPP

        เรื่องนี้เมื่อมองกลับมาในประเทศไทย ที่ภาคเกษตรถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 24 ล้านคน หรือประมาณ 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 36% ของประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 66 ล้านคนในปัจจุบัน โดยไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตร หรือ จีดีพีภาคเกษตร คิดเป็นมูลค่า 1.41 ล้านล้านบาท สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรถึง 1.31 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ที่ผ่านมา และไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ในหลายแขนง อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยาง ธัญพืช และน้ำตาล ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่ ทูน่ากระป๋อง สับปะรด และกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

        แน่นอนว่าหากไทยเข้าเป็นหนึ่งในชาติสมาชิก TPP สินค้าเกษตรของบ้านเราต้องถูกสินค้าราคาต่ำจากประเทศในกลุ่มเข้ามาเจาะตลาด โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญรายใหญ่ของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเคยมีบทเรียนจากการที่สหรัฐฯกดดันประเทศคู่ค้าของตนรวมถึงไทย ให้เปิดนำเข้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน เช่น หัว ขา และเครื่องใน โดยใช้มาตรการทางการค้ามากดดันไทย ด้วยการประกาศตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐและสหภาพยุโรป ให้กับประเทศกำลังพัฒนา

        อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของสหรัฐเพื่อให้ไทยเปิดตลาดสินค้าดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไทยตระหนักดีว่าจะทำลายภาคปศุสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยง ซึ่งหลายประเทศในอาเซียน เช่น  เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ที่จำต้องเปิดตลาดให้กับสินค้าที่ไม่ต้องการของสหรัฐดังกล่าว โดยเฉพาะเวียดนามที่เมื่อปี 2556 เกษตรกรจำนวนมากต้องล้มละลาย จากการเปิดนำเข้าหมูส่วนเกินจากสหรัฐมาขายในราคาต่ำ ทำให้เกษตรกรในประเทศไม่สามารถสู้ราคาได้จำต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

        ในส่วนของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ยังคงมีความกังวลในเรื่องการส่งออกเนื้อไก่ของประเทศจะต้องแข่งขันกับเนื้อไก่จากสหรัฐฯที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก จะใช้มาตรการด้านราคาเพื่อจูงใจให้นำเข้าเนื้อไก่และชิ้นส่วนราคาถูกจากสหรัฐเข้ามาทำตลาดในไทย

        ขณะที่สินค้าประเภทนมผลิตภัณฑ์จากนม ที่ปัจจุบันไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อยู่แล้ว หากร่วมเป็นสมาชิก TPP อีก ทั้งสหรัฐฯและแคนนาดา ก็อาจส่งสินค้าประเภทดังกล่าว หรือแม้แต่เนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศ เข้ามายังตลาดในบ้านเราได้อีก

        การจะเข้าร่วมกลุ่มTPP ไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ผลีผลามแห่ตามประเทศอื่น ต้องดูตัวเองว่าจะได้หรือเสียประโยชน์อย่างใด และคุ้มค่าที่จะเสียหรือไม่ ที่สำคัญการเข้าไปเป็นสมาชิกหลังจากประเทศสมาชิกเริ่มต้น 12 ประเทศ ลงนามในข้อตกลงไปแล้ว ไทยอาจจะถูกเรียกร้องให้เสนอสิทธิพิเศษนอกเหนือจากข้อตกลงที่ได้ลงนามกันไปแล้วได้ ซึ่งจะกลายเป็นว่างานนี้ “ได้ไม่คุ้มเสีย”./
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่