---------------->เปิดการค้าเสรี TPP ผลกระทบ SMEs ไทย

กระทู้สนทนา
หากกล่าวถึงประเด็นที่กำลังจะส่งผลถึงธุรกิจ SMEs ไทยในตอนนี้ การเปิดการค้าเสรี TPP (Trans Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้ในครั้งนี้ขอนำเรื่อง TPP มาบอกกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศ TPP ได้รับรู้และเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวได้มากขึ้น

ก่อนอื่นเรามาดูว่า TPP คืออะไร TPP หมายถึงกรอบความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือมองง่าย ๆ TPP ก็คือ FTA (Free Trade Area) ในรูปแบบหนึ่ง สำหรับสมาชิก TPP ประกอบไปด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก ชิลี เปรู มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น การทำการค้าในกลุ่มสมาชิกจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันทำให้ส่งผลกระทบมายังผู้ประกอบการไทยกับประเทศที่ยังไม่มีข้อตกลง FTA ด้วยกัน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา เพราะภายหลังที่เปิดการค้าเสรี TPP มีผลบังคับใช้แล้วจะส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย เพราะประเทศสมาชิกจะเริ่มทยอยลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันทันที ทำให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าสู่ประเทศสมาชิก TPP จะเสียเปรียบด้านภาษีขาเข้า เนื่องจากสินค้าไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราเดิมซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีของประเทศสมาชิกที่มีการปรับลดลงให้กัน

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่ส่งออกทางอ้อม โดยอาศัยห่วงโซ่การผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดประเทศในกลุ่ม TPP นั้นต้องเจอกับอุปสรรคของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin หรือ ROO) ซึ่งเป็นการกีดกันการใช้สินค้านอกกลุ่มประเทศสมาชิก เพราะ ROO กำหนดให้ประเทศสมาชิก TPP ต้องใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มสมาชิกถึง 75% และอนุญาตให้ใช้วัตถุดิบจากนอกกลุ่มได้แค่ 25% เท่านั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ผู้ประกอบการไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมและตั้งรับกับการเปิดการค้า TPP ได้ทัน จึงขอแนะนำแนวทางที่น่าสนใจซึ่งจะเป็นทางออกที่ช่วยผู้ประกอบการไทยได้มากขึ้น
1) หาพันธมิตรทางการผลิตในประเทศสมาชิก TPP เพื่อนำสินค้าไทยแทรกตัวไปเป็นหนึ่งใน Value Chain ทางอ้อม วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สามารถผลิตชิ้นส่วนหรือมีวัตถุดิบที่สามารถไปประกอบในประเทศกลุ่มสมาชิกได้ โดยธุรกิจที่สามารถแทรกตัวเข้าไปได้จะต้องเป็นธุรกิจที่ประเทศกลุ่ม TPP ผลิตได้ไม่เพียงพอ และผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวจะต้องนึกถึงวัตถุดิบจากประเทศไทยเป็นอันดับแรกในฐานะประเทศนอกกลุ่ม โดยธุรกิจที่พอจะมีโอกาส ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

2) ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศสมาชิก TPP วิธีนี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อม มีเงินทุนและมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดต่างประเทศเท่านั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ยังมีข้อจำกัดในการขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ในตอนนี้ควรจะต้องวางแผนสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะได้รับผลกระทบจากยอดสั่งซื้อสินค้ากลุ่มสมาชิก TPP ลดน้อยลง โดยทางออกควรหันไปทำธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือปรับตัวไปแปรรูปสินค้าให้หลากหลายขึ้น

3) มองหาตลาดใหม่ เป็นวิธีที่ดีเพราะจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากอุปสรรคที่เกิดขึ้นของการเปิดการค้า TPP ที่ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยจึงควรมองหาตลาดใหม่ ๆ เช่น ตลาด AEC หรือตลาด RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งก็เป็นตลาดที่สำคัญและกาลังเปิดตลาดในเวลาใกล้เคียงกับตลาด TPP เช่นกัน โดยตลาด RCEP ประกอบไปด้วยประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

การทำธุรกิจมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้า โดยเฉพาะกฎและระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ดังนั้น ทางออกที่ดีคือผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการยกระดับการผลิต โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยรักษาตลาด TPP ได้บ้างแล้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทาตลาดอื่น ๆ ได้อีกด้วย



ที่มา :  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่