ปัญญา-ศีล-สมาธิ

องค์ประกอบทั้ง ๘ ของอริยมรรคนั้น เมื่อสรุปตามทฤษฎี (ตามตำรา) ก็จะได้เป็น ศีล (อันได้แก่การพูดจาที่ถูกต้อง การกระทำทางกายที่ถูกต้อง การประกอบอาชีพที่ถูกต้อง),  สมาธิ (อันได้แก่ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง การมีสติที่ถูกต้อง การมีสมาธิที่ถูกต้อง), และ ปัญญา (อันได้แก่ความเห็นที่ถูกต้อง ความปรารถนาที่ถูกต้อง) คือต้องมีศีลก่อนจึงจะมีสมาธิและปัญญาได้ เพราะศีลเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ และสมาธิเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา

ในทางทฤษฏีนั้น การที่จะมีศีลได้ จะต้องมีศรัทธา (ความเชื่อ) ก่อน แต่ถ้าเราไม่มีปัญญาก่อนแล้วเราไปเริ่มต้นที่การมีศรัทธาก่อน เราก็อาจมีศรัทธาที่งมงายหรือผิดเพี้ยนได้ เพราะขาดปัญญามาควบคุม แล้วก็จะทำให้เรามีศีลที่งมงายหรือผิดเพี้ยนได้ (คือกลายเป็น สีลพตปรามาส ที่หมายถึง การปฏิบัติศีลและข้อวัตรต่างๆอย่างผิดจุดประสงค์ของมรรค) เมื่อมีศีลที่ผิดเพี้ยนหรืองมงาย ก็จะทำให้เรามีสมาธิที่ผิด (มิจฉาสมาธิ) และปัญญาที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ตามไปด้วยทันที ดังนั้นการเรียงศีล สมาธิ ปัญญานี้จึงไม่ถูกต้องตามหลักของมรรค

การเรียงลำดับตามการปฏิบัติของมรรคให้ถูกต้องนั้น ต้องเรียงเป็น ปัญญา ศีล และสมาธิ เพราะต้องมีปัญญาก่อนจึงจะมีศีลและสมาธิที่ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะทำให้ศีลและสมาธิผิดพลาด แต่เราก็อาจสงสัยว่า ถ้าไม่มีศีลก่อน แล้วจะมีสมาธิและปัญญาได้อย่างไร? ซึ่งคำตอบก็คือ เรื่องการดับทุกข์นี้เป็นเรื่องของคนที่มีความรู้ทางโลก (คือไม่งมงาย มีเหตุผล ยอมรับความจริง) และเป็นคนดีมีศีลธรรม (คือไม่ทำความชั่ว ไม่ลุ่มหลงอบายมุข – สิ่งเสพติด - สิ่งฟุ่มเฟือย) มามากพอสมควรแล้ว ซึ่งคนพวกนี้เขาก็ต้องมีศีลและสมาธิมาพอสมควรแล้ว จะขาดก็เพียงเรื่องปัญญา (ความรู้ทางธรรมที่ถูกต้อง) เท่านั้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นสอนเฉพาะคนพวกนี้ให้เขามีปัญญาก่อน เพราะเขามีคุณสมบัติ (บารมี) เพียงพอที่จะบรรลุธรรม (เห็นแจ้งอริยสัจ หรือมีดวงตาเห็นธรรม) ได้ เมื่อเขามีปัญญาแล้ว เขาก็จะมีศีลและสมาธิที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ขึ้นมาได้เอง ส่วนคนที่ยังมีความรู้ทางโลกน้อยและยังเป็นคนดีมีศีลธรรมไม่เพียงพอ พระพุทธเจ้าจะไม่เสียเวลามาสอน ถึงสอนไปก็เสียเวลาเปล่าเพราะเขาไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะบรรลุธรรมได้ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของครูอาจารย์หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องอรบรมกันขึ้นมาเอง

ในการปฏิบัติมรรคจริงๆนั้นปัญญา ศีล สมาธินี้จะต้องมีพร้อมกัน จึงจะเกิดพลังในการกำจัดกิเลสหรือความยึดถือและอวิชชาให้ดับหายไปได้ และทำให้ความทุกข์ดับหายไปได้จริง (แม้เพียงชั่วคราว) แต่ถ้าปฏิบัติทีละอย่างก็จะไม่มีพลังในการกำจัดกิเลสหรือความยึดถือและอวิชชาให้ดับหายไป และความทุกข์ก็จะไม่ดับหายไปได้จริง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่