คนแข็งแรงระวัง! กระตุ้นภูมิคุ้มกัน “ไข้เลือดออก” ดีเกิน ทำอาการทรุดเร็ว ชี้ฟื้นตัวหลังพ้นวิกฤต 48 ชม.


        สธ. ชี้ ป่วย “ไข้เลือดออก” ซ้ำต่างสายพันธุ์ เสี่ยงอาการรุนแรง เผย ร่างกายบางคนกระตุ้นภูมิคุ้มกันรวดเร็วต่อเนื่อง เส้นเลือดรั่วสูญเสียสารน้ำ เกล็ดเลือด ร่างกายทรุดเร็วจนเกิดภาวะช็อก เช่น เคส “ปอ ทฤษฎี” มักพบในคนแข็งแรง ชี้ หากพ้นวิกฤตใน 48 ชั่วโมง อาการจะดีขึ้น
       
         นพ.โสภณ เมฆธน  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การควบคุมโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักเรียนที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต้องช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ก็จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ลงได้ ทั้งนี้ สธ. จะทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้เอาชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียนไปช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน
       
         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า บ้านของคนไทยยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ 30% ในโรงเรียนพบมาก 40% ส่วนในวัดพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากถึง 60% การป้องกันและลดการเจ็บป่วยไข้เลือดออกทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันในการควบคุมโรค สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ในประเทศไทยมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยทั้ง 4 สายพันธุ์ความรุนแรงของโรคไม่ต่างกัน แต่พบว่าเมื่อป่วยไข้เลือดออกจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว เมื่อกลับมาป่วยโรคไข้เลือดออกอีกด้วยสายพันธุ์อื่นมักจะมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากร่างกายเรามีภูมิต้านทานที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น กรณีของนักแสดงหนุ่มปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ที่อาการรุนแรง เพราะภาวะภูมิต้านทานทำงานมากเกินไป ก็เพราะร่างกายตอบสนองต่อเชื้อไวรัสและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างรวดเร็ว
       
        “ ตรงนี้เป็นกลไกของร่างกายที่เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ภูมิคุ้มกันในเลือดก็จะไปจับสารไวรัส และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นมา ซึ่งบางคนกระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปฏิกิริยาของแต่ละบุคคลด้วย ทำให้เกิดการไปทำลายเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย หากเกิดที่หลอดเลือดก็จะทำให้สารน้ำรั่วออกจากเส้นเลือด ร่างกายจึงสูญเสียสารน้ำและเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อกขึ้นได้ นอกจากนี้ หากไปเกิดที่อวัยวะอื่นก็จะทำให้ระบบอวัยวะนั้นเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถคาดเดาได้ ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น 48 ชั่วโมง หากผ่าน 48 ชั่วโมงนี้ไปได้ ร่างกายก็จะฟื้นตัว เหลือเพียงการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีของนักแสดงหนุ่มนั้นไม่ทราบว่าเริ่มเกิดภาวะดังกล่าวในช่วงเวลาใด ” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ภาวะเช่นนี้ถือว่าพบได้บ่อย อย่างอัตราการเสียชีวิตของไข้เลือดออกที่พบว่า ป่วย 1,000 ราย มักเสียชีวิต 1 รายนั้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะมีอาการรุนแรง และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนที่แข็งแรง
       
         นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ข้อสังเกตของการเกิดโรคไข้เลือดออกในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า 1. กลุ่มอายุมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถเป็นไข้เลือดออกได้ทุกกลุ่มวัยไม่เฉพาะเด็ก ซึ่งเมื่อเป็นกลุ่มวัยอื่นทำให้แพทย์ไม่ค่อยนึกถึงไข้เลือดออก แต่มีการย้ำเตือนให้แพทย์ตระหนักถึงโรคไข้เลือดออกว่าเป็นโรคประจำถิ่น 2. น้ำหนักตัวที่ไม่สัมพันธ์กับอายุ ทำให้การวินิจฉัยไม่ชัดเจน รวมทั้งการรักษาที่ทำให้แพทย์ปรับขนาดยาได้ยากขึ้น 3. พื้นที่ในการระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้บางครั้งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ตระหนักมากพอ และ 4. พบว่าบางคนป่วยมากกว่า 1 โรค พร้อมกัน เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด พร้อมไข้เลือดออก ก็จะทำให้อากาของโรคแย่ลง
       
         “สิ่งที่ต้องระวังคือในช่วงไข้ลง หากไข้ลงจากการที่อาการดีขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึก หิวอยากทานอาหาร หรือสดใสขึ้น แต่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มักจะไข้ลง ตัวเย็น แต่ซึมลง ไม่อยากอาหาร ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายว่าอาจเข้าสู่ภาวะช็อก ทั้งนี้ หากเกิดโรคในเด็กส่วนใหญ่พ่อแม่จะสังเกตได้เร็วเพราะเด็กจะซึมอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่จะอดทนมากกว่าทำให้อาการของโรคดำเนินมาถึงจุดที่แย่ลง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Credit : http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000125554
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่