เฉลย! แชร์ Boarding Pass เชิญมือมืดมาล้วงตับจริงหรือ...?

กระทู้ข่าว
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 31 ต.ค. 2558
เป็นเรื่องธรรมดาของยุคสมัยหากเราจะไปเที่ยวไหนก็ต้องป่าวประกาศให้โลกรู้ด้วยการถ่ายรูปตั๋วเครื่องบินโพสต์อวดโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter อย่างไรก็ดี ได้มีการเตือนจากโลกออนไลน์ว่า การโพสต์โชว์ตั๋วให้เห็น Boarding Pass อาจจะนำภัยมาสู่ตัวได้ เรื่องดังกล่าว จริงหรือไม่ ชัวร์หรือมั่ว วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะไขคำตอบให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ

Boarding Pass นั้นสำคัญไฉน...?

แอร์เอเชีย : ทีมข่าวฯ ติดต่อไปยังแหล่งข่าวภายในสายการบินแอร์เอเชีย ซึ่งเปิดเผยในมุมของแอร์เอเชียว่า Boarding Pass คือบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง ที่ผู้โดยสารจะได้รับเมื่อทำการเช็กอินที่เคาน์เตอร์สายการบิน โดย Boarding Pass มีความสำคัญมาก ถือเป็นใบเบิกทางในการเดินทาง เพราะผู้โดยสารจะต้องนำบัตรนี้ผ่านจุดตรวจค้นสนามบินไปยังห้องพักผู้โดยสารขาออก ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (กรณีเดินทางระหว่างประเทศ) นำไปแสดงแก่เจ้าหน้าที่สายการบินที่ทางออกขึ้นเครื่อง (Gate) เพื่อผ่านไปยังเครื่องบิน และแสดงแก่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อนั่งตามที่นั่งที่ระบุไว้ ทั้งนี้แต่ละสายการบินอาจมีรูปแบบบัตรโดยสารต่างกัน

แหล่งข่าวยังกล่าวต่ออีกว่าใน Boarding Pass จะมีข้อมูลสำคัญต่างๆ ของผู้โดยสารและเที่ยวบินเดินทาง อาทิ ชื่อสายการบิน ชื่อผู้โดยสาร ต้นทาง-ปลายทาง หมายเลขเที่ยวบิน วันเดินทาง ประตูทางออกขึ้นเครื่อง เวลาเริ่มขึ้นเครื่อง หมายเลขที่นั่ง เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ เช่น หมายเลขบัตรโดยสารในการออกบัตรที่นั่ง ลำดับผู้โดยสารในการเช็กอิน หมายเลขคะแนนสะสมต่างๆ รายการอาหารและบริการพิเศษที่ผู้โดยสารจองมา เป็นต้น
Boarding Pass จะมีข้อมูลสำคัญต่างๆ ของผู้โดยสารและเที่ยวบินเดินทาง อาทิ ชื่อสายการบิน ชื่อผู้โดยสาร ต้นทาง-ปลายทาง หมายเลขเที่ยวบิน วันเดินทาง ประตูทางออกขึ้นเครื่อง เวลาเริ่มขึ้นเครื่อง หมายเลขที่นั่ง

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคนมักชอบโพสต์กิจวัตรประจำวันบนลงพื้นที่ในโซเชียล

การจะแชร์รูปสายการบินไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องระมัดระวังด้วย

"สำหรับ Boarding Pass ของแอร์เอเชียมีลักษณะเป็นบาร์โค้ด 2 มิติ มาตรฐาน ซึ่งมีไว้สำหรับการตรวจสอบข้อมูลผู้โดยสารและเที่ยวบินในการเดินทางนั้นๆ ซึ่งจะเก็บเฉพาะข้อมูลเที่ยวบิน (เส้นทาง, เที่ยวบิน) หมายเลขการจอง วันเดินทาง และชื่อ-สกุลผู้โดยสารเท่านั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็มีระบุในหน้า Boarding Pass เช่นเดียวกัน" แหล่งข่าวสายการบินแอร์เอเชียกล่าว

การบินไทย : ด้านนางภัครา เรืองสิรเดโช ผู้อำนวยการฝ่ายบริการผู้โดยสารสายการบินไทย เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ถึงความสำคัญของ Boarding Pass ว่า เมื่อถึงวันเดินทาง หลังจากที่ผู้โดยสารเช็คอินเพื่อรับบัตรโดยสารที่เค้าท์เตอร์ หลังจากผ่านกระบวนการตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ระบบของการบินไทยจะออก Boarding Pass ซึ่งถือเป็นเอกสารที่ยืนยันว่าผู้โดยสารพร้อมที่จะเดินทางขึ้นเครื่องในเที่ยวบินนั้น ซึ่งเก็บเพียงข้อมูลการเดินทางของผู้ถือบัตรโดยสารไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล, เลขไฟลต์, เลขที่นั่ง, คลาสการจอง, รหัสการจอง,หมายเลข e-ticket ,หมายเลขสมาชิกสะสมไมล์ ,ประตูขึ้นเครื่องและเวลาเรียกเข้าเครื่อง โดยจะไม่มีข้อมูลส่วนตัวของผู้โดยสารที่ระบุในหนังสือเดินทางถูกบรรจุในบาร์โค้ดแต่อย่างใด

หาตัวจับยาก !! ใครก็สามารถยกเลิกเที่ยวบินได้...?

ซึ่งนางภัครา กล่าวว่า คนที่สแกนบาร์โค้ดได้จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านสายการบิน สามารถอ่านโค้ดที่ปรากฎออกมาหลังจากสแกนได้ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารทำการยกเลิกเที่ยวบินก่อนจะถึงเวลาเดินทาง โดยผู้โดยสารทำอินเตอร์เน็ตเช็คอิน แล้วทำการยกเลิกในเวลาต่อมา เมื่อผู้โดยสารคนดังกล่าวมาถึงที่เช็คอินเค้าท์เตอร์เพื่อโหลดกระเป๋า ปรากฎว่าไม่สามารถโหลดกระเป๋าได้ เนื่องจากมีการยกเลิกเที่ยวบินไปแล้ว ผู้โดยสารก็แจ้งกับพนักงานว่าตัวเขาไม่ได้ทำการยกเลิก หลังจากนั้นทางสายการบินจึงทำการตรวจสอบแล้วเช็คอินผู้โดยสารเข้าไปใหม่ ซึ่งสายการบินไม่สามารถรู้ได้เลยในขณะนั้นว่าใครเป็นผู้ยกเลิกเที่ยวบินนั้น
มีแอพพลิเคชั่นที่สามารถอ่านบาร์โค้ดนั้นได้ ซึ่งผู้ไม่ไหวดีจะสามารถเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเที่ยวบินได้

บางครั้งการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอาจส่งผลร้ายให้ตัวคุณโดยไม่รู้ตัว

บาร์โค้ดบนตั๋วเครื่องบินสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในการเดินทางของคุณได้

จัดการ Booking ได้ง่ายเพียงสแกนบาร์โค้ด

มาถึงตรงนี้แล้วสิ่งที่กลัวนั้นไม่ได้อยู่ที่ข้อความที่ปรากฎอยู่บน Boarding Pass แต่เป็นแถบบาร์โค้ดบนนั้น เนื่องจากมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถอ่านบาร์โค้ดนั้นได้อย่างง่ายดาย อย่างเช่น Pdf 417 Barcode scanner เมื่อสแกนไปจะปรากฎข้อมูลการเดินทางทั้งหมด ซึ่งผู้ไม่ไหวดีจะสามารถเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเที่ยวบินได้

มาตรการรักษาความปลออดภัยของสายการบิน

แอร์เอเชีย : "ทางสายการบินแอร์เอเชียจะคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสารในการเดินทาง หากผู้โดยสารต้องการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการเดินทางต่างๆ หากเป็นทางเว็บไซต์จะต้องกรอกรหัสผ่านและรหัสสมาชิกที่แจ้งไว้กับสายการบิน ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้โดยสาร ที่ไม่ได้อยู่ในบาร์โค้ดนั้น และหากดำเนินการผ่าน Call Center เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวหลายขั้นตอนเพื่อแสดงตัวตนที่แท้จริง จะเป็นคำถามที่มีความเป็นส่วนตัวและหลากหลาย รวมทั้งมีการบันทึกเสียงตลอดการสนทนาเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง ในกรณีที่เกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ รวมทั้งข้อมูลธุรกรรมการเงินของลูกค้าแก่บุคคลภายนอก" แหล่งข่าวจากแอร์เอเชีย ระบุ
การถ่ายรูป Boarding Pass จะต้องไม่ให้ติดตัวบาร์โค้ด หรือปิดตัวบาร์โค้ด ก็จะเป็นการหลีกเลี่ยงการเข้าถึงข้อมูลของผู้ไม่หวังดี

ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมาก การโพสต์กิจกรรมส่วนตัวควรระมัดระวังมิจฉาชีพ

การบินไทย : ผู้อำนวยการฝ่ายบริการผู้โดยสารของสายการบินไทยกล่าวถึงมาตรการป้องกันข้อมูลของลูกค้าว่า "เมื่อผู้โดยสารทำการจองตั๋วที่นั่งเสร็จเรียบร้อย ทางสายการบินจะแยกระหว่างข้อมูลส่วนตัว ห้ามเปิดเผย และข้อมูลการเดินทาง ทั้งนี้ที่เค้าท์เตอร์เช็คอิน สายการบินจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยผู้โดยสารจะต้องเป็นผู้ถือพาสปอร์ตมาเพื่อเช็คอิน สายการบินไม่รับการเช็คอินจากคนภายนอก แต่หากกรณีผู้โดยสารทำ Boarding Pass หาย ทางสายการบินก็ต้องมีการตรวจสอบหนังสือเดินทางและเอกสารการสำรองที่นั่งของผู้โดยสารก่อนที่จะพิมพ์Boarding pass ออกมาใหม่ ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนในระบบเพื่อให้ พนักงานที่ประตูขึ้นเครื่องตรวจสอบอีกครั้ง ว่าผู้โดยสารคนนี้เป็นผู้โดยสารที่ได้รับการตรวจสอบเอกสารที่เค้าท์เตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือไม่" นางภัครา กล่าว

"ถ้าต้องการจะแชร์รูปก่อนการเดินทาง เพื่อเป็นการบอกหรือบันทึกว่าเรากำลังจะออกเดินทางนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ผู้โดยสารต้องรักษาความปลอดภัยของตนเองด้วย โดยการถ่ายรูป Boarding Pass จะต้องไม่ให้ติดตัวบาร์โค้ด หรือปิดตัวบาร์โค้ด ก็จะเป็นการหลีกเลี่ยงการเข้าถึงข้อมูลของผู้มิหวังดี และออกเดินทางอย่างปลอยภัย" ผู้อำนวยการฝ่ายบริการผู้โดยสาร สายการบินไทย กล่าวทิ้งท้าย...

http://www.thairath.co.th/content/535951
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่