การดูแลร่างกายเมื่อเป็นไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบ บี  คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบ บี  เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลก ประมาณ 350-400 ล้านคน  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบบี สูง เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอัฟริกา ประมาณร้อยละ 6 -10 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 6-7 ล้านคน              ในประเทศไทยการรับเชื้อส่วนใหญ่จากมารดาเป็นพาหะติดต่อสู่ทารกตอนคลอด  เนื่องจากในวัยเด็กภูมิคุ้มกัน  ยังไม่ดีพอ โอกาสกำจัดเชื้อไวรัสได้ยาก นอกจากนี้สามารถติดต่อได้ทางเลือด เช่น การรับเลือดและผลิตภัณฑ์ ของเลือด  (การติดต่อทางเลือดนี้ลดลงมาก นับตั้งแต่มีการตรวจคัดกรองเมื่อบริจาคเลือด)  จากเข็มฉีดยา การฝังเข็ม และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อ  เชื้อนี้สามารถตรวจพบได้ในน้ำตา น้ำมูกในโพรงจมูก น้ำอสุจิ เยื่อเมือกช่องคลอดเลือดประจำเดือน และน้ำคร่ำ ดังนั้นจึงสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์และเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งดังกล่าว  ไม่ติดต่อทางการรับประทานร่วมกัน โอกาสติดเชื้อได้น้อยมาก  

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะมีอาการอย่างไรและมีโอกาสหายหรือไม่
ระยะฟักตัวของโรคตับอักเสบไวรัส บี ประมาณ 50-180 โดยเฉลี่ย 90 วัน หลังได้รับเชื้อบางท่านอาจไม่มีอาการผิดปกติอะไร  แต่รู้ว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บีจากการตรวจเช็คร่างกาย หรือบริจาคเลือด  บางรายมีอาการตับอักเสบ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดท้องเฟ้อ  อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ และตามมาด้วยอาการตัวเหลืองตาเหลือง   ปัสสาวะเข้ม อาการจะหายภายใน 1-4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์  ภายใน 10 สัปดาห์การทำงานของตับส่วนใหญ่กลับสู่ปกติ และมีภูมิคุ้มกัน  และส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงจนตับวายและเสียชีวิต ถ้าได้รับเชื้อในวัยเด็กโอกาสจะหายน้อย  มีโอกาสกลายเป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรังได้ร้อยละ 50-90 เมื่อเทียบกับถ้าได้รับเชื้อในวัยผู้ใหญ่ ร้อยละ 5-10   ผู้ที่เป็นพาหะหรือตับอักเสบ บีเรื้อรังส่วนหนึ่งจะมีการดำเนินโรคกลายเป็นโรคตับแข็ง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆเช่น น้ำในช่องท้อง ตาเหลืองตัวเหลือง เลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร มีอาการซึมสับสนทางสมอง  ตับวาย รวมถึงมะเร็งตับ

การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี  โดยการตรวจการทำงานของตับ (liver function test) โดยเฉพาะ AST, ALT และตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ (HBsAg) ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ในผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี เพื่อประเมินระยะ ความรุนแรงของไวรัสและภาวะแทรกซ้อน  และวางแผนการรักษา ได้แก่ การตรวจ HBeAg และ anti-HBe เพื่อดูการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส หรือการกลายพันธุ์  การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส (HBV DNA) เพื่อประกอบการรักษา การตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อบอกความรุนแรงของตับอักเสบ และมะเร็งตับจากการตรวจหาอัลฟาฟีโตโปรตีน (AFP) ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวน์ตับ  

เมื่อเป็นไวรัสตับอักเสบ บี จะรักษาอย่างไร
การรักษาจะแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มที่เป็นพาหะ ได้แก่ ผู้ที่ตรวจพบเชื้อไวรัส โดยไม่มีอาการและตรวจการทำงานของตับปกติ ในกลุ่มนี้ความรุนแรงไม่มาก และโอกาสตอบสนองการให้ยาต้านไวรัสน้อย ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ยาต้านไวรัสในระยะนี้ ยกเว้นผู้ที่ตรวจชิ้นเนื้อตับมีพยาธิสภาพรุนแรง หรือผู้ที่ต้องได้ยากดภูมิคุ้มกัน
- กลุ่มที่สองได้แก่ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการ  ตรวจพบเชื้อไวรัส และตรวจการทำงานของตับ AST, ALTสูงกว่าค่าปกตินานกว่า 6 เดือน กลุ่มนี้พิจารณาให้ยาต้านไวรัส เมื่อมีปริมาณไวรัสสูงมากกว่า 100,000 copies ต่อมิลลิลิตร และควรตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อบอกความรุนแรงและแยกจากโรคอื่น ยาที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาฉีดอินเตอร์ฟิรอน (Interferon) มี 2 ชนิดได้แก่ conventional interferon (Intron A®) ฉีดทุกวันหรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และpegylated interferon (Pegasys® และ PegIntron®) ฉีดสัปดาห์ละครั้ง ระยะเวลาในการรักษา 6-12 เดือน และยาชนิดกินมี 3 ชนิดได้แก่ ลามิวูดีน (zeffix®) อะดิโฟเวียร์ (Hepsera®) และเอ็นติคาเวียร์ (Baracude®)  ระยะเวลาในการรักษาควรให้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี  แต่จะนานอย่างไร ยังไม่ทราบแน่ชัด
- กลุ่มที่เป็นระยะตับแข็ง ถ้าพบว่ามีเชื้อไวรัสในเลือด ใช้ยากิน และในรายที่ตับแข็ง ใช้ยากินต้านไวรัสในคนที่ยังไม่ติดเชื้อหรือยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่ายาฉีด  และพิจาณาผ่าตัดเปลี่ยนตับเมื่อมีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อห้าม ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถลดการอักเสบและลดพังผืดในตับ แต่โอกาสหายขาดไม่มาก และมีผลข้างเคียง และค่าใช้จ่ายสูง วิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เป็นไวรัสตับอักเสบ บี  ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี  ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 3 ครั้ง ที่ 0,1 และ 6 เดือน

จะปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี•        
งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  และหลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น•        
หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีเชื้อราปนเปื้อนซึ่งสร้างสาร Alphatoxin ที่เป็นพิษต่อตับได้
รับประทานอาหารเพียงพอ สุก และสะอาด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจดูการทำหน้าที่ของตับและตรวจหาภาวะแทรกซ้อน
การตรวจเลือดหาระดับ AFP และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง สม่ำเสมอทุกปีในกลุ่มเสี่ยงเช่น ระยะตับแข็ง เพศชาย อายุมากกว่า 45 ปี เพศหญิงอายุมากกว่า 50 ปี และและมีประวัติมะเร็งในครอบครัว เพื่อหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Report by LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่