แชร์ประสบการณ์การเลือกอาชีพ "ชีวิตหายงง...วันที่เด็กนิเทศค้นพบตัวเองว่าชอบงานสายการเงิน!!!"

ชีวิตหายงง...วันที่เด็กนิเทศค้นพบตัวเองว่าชอบงานสายการเงิน!!!!!

สวัสดีค่ะน้องๆ กระทู้ก่อนหน้านี้ พี่มีโอกาสได้เขียนแชร์ประสบการณ์จาก สาวอักษรฯ สู่การเป็นนักทรัพยากรบุคคล [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ มีน้องๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก วันนี้พี่เลยอยากจะขอนำประสบการณ์ของน้องอีกคนมาแชร์ รับรองว่าน่าสนใจไม่แพ้กันค่ะ เพราะน้องคนนี้จบคณะนิเทศศาสตร์ ก่อนค้นพบตัวเองว่าชอบและเหมาะกับสายงานการเงิน จนตัดสินใจเปลี่ยนสายอาชีพมาทำงานด้านการเงินการลงทุนค่ะ อยากให้น้องๆ ลองอ่านเรื่องราวที่เขาเขียนมาแชร์นะคะ โดยอาจจะเก็บเป็นข้อมูล สำหรับการเลือกคณะเข้าเรียนต่อ หรือเป็นตัวเลือกอาชีพในอนาคตค่ะ

“พี่ชื่อพี่เต้ครับ อ่านชื่อหัวข้อกระทู้แล้ว หลายๆ คนอาจจะไม่เชื่อ แต่เรื่องราวเกิดขึ้นจริงครับ พี่เป็นเด็กนิเทศ จบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นทำงานที่สถานีโทรทัศน์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปรี-โปรดักชัน ทำหน้าที่ตัดต่อรายการและกำกับเวทีครับ ซึ่งตอนที่ทำอยู่นั้น สามารถตอบได้เลยว่า ไม่ใช่งานที่ชอบเลย เพราะพี่เป็นคนไม่เก่งเทคโนโลยีมากๆ (ปัจจุบันนี้ใช้ Online banking ไม่เป็นครับ ถึงแม้จะทำงานสายการเงิน) แต่ต้องมาใช้โปรแกรมในการตัดต่อฟุตเทจให้กลายเป็นรายการที่ถ่ายทอดให้ผู้ชม ทำได้ประมาณหนึ่งปีครึ่งเลยขอย้ายไปทำแผนกการตลาด มีหน้าที่ใหม่คือ ทำกิจกรรมแคมเปญและอีเวนท์ต่างๆ ของสถานี ถามว่าเป็นงานที่สนุกไหม ตอนนั้นก็คิดว่าเป็นงานที่สนุก แต่รู้สึกลึกๆ ในใจตลอดเวลาว่า ไม่ใช่งานที่เราอยากทำไปตลอดจนเราเกษียณ งานนี้ยังไม่ใช่ตัวตนของเรา ก็เลยมานั่งคิดว่า แล้วจริงๆ ตัวเราเหมาะกับงานอะไร และทำอย่างไรเราจะค้นพบตัวเอง โชคดีมากๆ ครับที่ตอนนั้นได้รู้จักพี่ตั๋ง(พี่เจ้าของกระทู้) เลยมีโอกาสได้มาค้นหาตัวเองกับพี่ตั๋ง ซึ่งเป็นการค้นหาที่ลึกมาก พี่ตั๋งวิเคราะห์ตัวพี่แบบละเอียดมาก ไม่ใช่แค่ว่าเราเรียนจบคณะอะไรมา แต่เป็นข้อมูลเชิงลึกถึงตัวตนที่แท้จริง อุปนิสัย งานอดิเรก ทัศนคติ การใช้ชีวิต และอีกมากมาย เผลอๆ อาจจะรู้จักตัวตนของเราดีกว่าเราเสียอีก จนในที่สุดผลออกมาว่า พี่เหมาะกับงานบัญชี-การเงิน!!!! อมยิ้ม11

ตอนแรกที่รู้ผล ก็ประหลาดใจมากๆ ครับ เพราะเราไม่เคยสนใจสายงานนี้ ถึงแม้ว่าคุณแม่จะทำงานธนาคารมา 30 ปี แต่ตอนเรียนไม่ชอบเรียนเลข ไม่เคยรู้ว่างบการเงินหน้าตาเป็นอย่างไร กองทุนไม่เคยรู้จัก กระทั่งการยื่นภาษียังต้องมีคนช่วย และที่สำคัญ เรายังเก็บเงินไม่เป็น ใช้เงินเดือนชนเดือนตลอด โอ้~~ แล้วจะให้ไปทำงานสายบัญชี-การเงิน แต่พี่ตั๋งบอกว่าให้ ลองเปิดใจและเปิดโอกาสให้กับตัวเอง เลยมานั่งคิดๆ ดูว่าทำอย่างไรจะได้งาน แถมสถาบันการเงินที่ไหนจะรับเด็กนิเทศ แถมไม่มีประสบการณ์การทำงานด้านการเงินอย่างเรา เลยตัดสินใจลองไปสอบใบอนุญาตสำหรับผู้ขายหลักทรัพย์หรือ single license และเริ่มงานสายการเงินกับการเป็นมาร์เก็ตติ้งที่โบรกเกอร์ (อาชีพของพระเอก-นางเอกในละครเรื่อง “แอบรักออนไลน์” ครับ) จากนั้นก็สอบหลักสูตรความรู้ด้านตราสารอนุพันธ์ (Derivative License) และตอนนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนกับก.ล.ต.แล้วครับ

ปัจจุบันพี่ทำงานในตำแหน่ง Investment Partnership Sales – Assistant Manager ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนครับ น้องๆ อาจจะสงสัยว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน คืออะไร พี่ขออธิบายง่ายๆ คือ บริษัทของเราก็เหมือนบริษัททั่วๆ ไป มีสินค้ามาขายให้กับลูกค้า แต่สินค้าของเราคือ กองทุน เวลาที่ลูกค้า (หรือเรามักเรียกว่า “นักลงทุน”) ซื้อกองทุน บริษัทจะนำเงินเหล่านี้มาบริหารจัดการในรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนรวม, กองทุนส่วนบุคคล, และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (LTF และ RMF ก็เป็นหนึ่งในกองทุนของเราครับ) โดยจะมี “ผู้จัดการกองทุน” เป็นผู้รับหน้าที่บริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของลูกค้า โดยมุ่งหวังให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ส่วนหน้าที่ของพี่คือ การนำเสนอกองทุนให้กับ Partnership ของบริษัท ซึ่งหลักๆ คือ ธนาคารและโบรกเกอร์ เพื่อให้ธนาคารและโบรกเกอร์ช่วยทำหน้าที่เป็นช่องทางการขายกองทุนให้กับนักลงทุนครับ หรือถ้าอธิบายให้ง่ายๆ กว่านั้น สมมติบริษัทของพี่มีสินค้าตัวหนึ่ง ได้วางขายบนเชลล์ของเชนร้านสะดวกซื้อชื่อดัง พี่มีหน้าที่อธิบายถึงข้อดีของสินค้าให้กับร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้พนักงานร้านชักชวนลูกค้าให้ซื้อสินค้าของพี่ โดยที่พี่ไม่ต้องเจอลูกค้าโดยตรงครับ

งานที่พี่ทำตอนนี้ต้องบอกว่าสนุกมากๆ ครับ เปิดโอกาสให้พี่ได้พบเจอผู้คนมากมายและท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เพราะแต่ละสัปดาห์ จะมีตารางออกมาเลยว่า เราจะต้องเข้าพบ Partnership ที่ใดบ้าง ยิ่งพี่มีหน้าที่ดูแลธนาคารเป็นหลัก ทำให้พี่ได้เดินทางไปตามสาขาต่างๆ ของธนาคาร (วันที่พี่เขียนคอลัมน์อยู่ พี่เพิ่งกลับจากการไปบรรยายกองทุนให้กับสาขาที่ จ.ระยองมาครับ) เพราะฉะนั้นน้องๆ เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่างานในสายการเงินไม่จำเป็นต้องนั่งประจำอยู่แต่ในออฟฟิศ อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และตัวเลขเสมอไป ถ้าน้องๆ คนไหนชอบการพรีเซนต์ พบปะผู้คน และท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ พี่คิดว่าอาชีพนี้น่าจะเหมาะกับน้องๆ ครับ นอกจากนี้ยังมีงานในสายงานนี้อีกมากที่มีความท้าทาย เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และที่ปรึกษาด้านการลงทุนครับ

การค้นพบว่าตัวเองชอบงานอะไร ทำให้มีความสุขกับการทำงาน จนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำงานครับ พี่เคยบอกกับพี่ตั๋งว่า รู้อย่างนี้พี่เลือกเรียนคณะที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่แรกดีกว่า แต่พี่ตั๋งสอนให้พี่รู้ว่า “ไม่ว่าสิ่งใดที่เกิดขึ้นกับเรา สิ่งนั้นดีทั้งนั้น” ซึ่งเป็นเรื่องจริงมากๆ ครับ ทุกวันนี้พี่ได้ใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การครีเอทงานจากคณะนิเทศศาสตร์มาใส่ในงานสายการเงินของพี่ ทำให้พี่รู้สึกว่างานที่พี่ทำไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป แต่สิ่งที่พี่จะเสียดายกว่านี้ คือถ้าพี่ไม่ได้รู้จักพี่ตั๋ง ไม่ได้มาค้นพบตัวเอง พี่คงจะไม่ได้ทำงานในสายงานที่เราชอบอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องงานนะครับ พี่ตั๋งให้ข้อคิดมากมาย ที่พี่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิต และที่สำคัญคีย์ที่พี่ตั๋งสอน คือ “อย่าทิ้งโอกาสที่จะเรียนรู้” ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราอาจจะเห็นว่าสิ่งนั้นน่าเบื่อและไม่สนใจ แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้ใช้สิ่งนั้นนะครับ อย่างเช่น พี่เคยเกลียดเลขมากๆ ใครจะรู้สุดท้ายพี่ก็ต้องมาอยู่กับเลข และจะเล่าให้ฟังว่า พี่เคยเป็นคนอินดี้มากๆ วันๆอ่านแต่หนังสือไม่สนใจคุยกับใคร แต่แล้วสิ่งที่สอนเราได้มากที่สุด คือประสบการณ์ของคนๆ หนึ่ง ที่เรามีโอกาสได้เจอเขาและรับรู้เรื่องราวของเขา และเราอาจหาไม่ได้อีกเลยจากหนังสือเล่มไหนครับ
สุดท้ายนี้ พี่ขอให้น้องๆ โชคดี ค้นหาตัวเองเจอครับเหมือนอย่างที่พี่หาตัวเองเจอแล้ว ว่าแท้ที่จริงพี่มีเลือดนักการเงินอยู่ในตัว ถ่ายทอดเต็มๆ มาจากคุณแม่ และบางทีคำตอบอาจอยู่ใกล้แค่เอื้อม อยู่ที่ว่าเราจะพบหรือไม่ครับ เยี่ยม

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับประสบการณ์ของน้องเต้ น่าสนใจอย่างที่พี่บอกหรือเปล่าคะ ถ้าน้องๆคนไหนสนใจหรืออยากถามรายละเอียดส่วนไหนเพิ่มเติม Comment มาคุยกันได้นะคะ ยิ้ม

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่